นักสังคมสงเคราะห์
นักสังคมสงเคราะห์
นักสังคมสงเคราะห์
นักสังคมสงเคราะห์
รู้จักอาชีพ > นักบริการ (Service) > นักสังคมสงเคราะห์

อาชีพ “นักสังคมสงเคราะห์” ไม่ใช่เพียงแจกถุงยังชีพอย่างที่ใครเข้าใจ แม้นั่นจะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่หัวใจหลักของการทำงานสังคมสงเคราะห์ คือ “การทำงานร่วมกับมนุษย์” เพื่อสนับสนุนให้เขาได้รับสวัสดิการสังคมในสิ่งที่เขาพึงมี พึงได้ เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา ตลอดสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการ (เคส) ตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ จุดแข็งในตนเอง หากมีปัญหาที่จะต้องแก้ไข นักสังคมสงเคราะห์ไม่ใช่ผู้ชี้ทาง หากแต่จะเป็นผู้ทำงานร่วมกับเคสโดยเคารพในการตัดสินใจของผู้ใช้บริการ

นักสังคมสงเคราะห์ (Social Worker)

นักสังคมสงเคราะห์  (Social Worker)

นักสังคมสงเคราะห์  (Social Worker)

ลักษณะงาน 

       ลักษณะงานขึ้นอยู่กับองค์กรที่เราสังกัดอยู่และกลุ่มเป้าหมายขององค์กรนั้นๆ ที่แตกต่างกัน เช่น ทำงานกับเด็ก ผู้สูงอายุ คุณแม่วัยใส LGBT(กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ) ผู้คนในชุมชนแออัด เด็กที่กระทำผิดทางกฎหมาย เด็กไร้สัญชาติ ผู้พิการ ผู้พิการทางสติปัญญา ฯลฯ แต่หัวใจสำคัญในลักษณะงานสังคมสงเคราะห์คือ การส่งเสริมให้ผู้คนได้รับสวัสดิการในสิ่งที่เขาพึงมีพึงได้ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ได้รับการบำบัดฟื้นฟู สำคัญที่สุดคือเขาหรือกลุ่มบุคคลนั้นจะสามารถตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีของตนเองได้รู้ จุดแข็งของตนเอง สามารถดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาตนเองได้อย่างปกติสุข


ขั้นตอนการทำงาน

       สำหรับการทำงานสังคมสงเคราะห์ จะมีทั้งหมด 5 กระบวนการ คือ...

          1. การแสวงหาข้อเท็จจริง/ การสืบค้นข้อเท็จจริง (Fact Finding) ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการนี้ จะมีขั้นตอนที่เรียกว่า การรับแจ้งเบื้องต้น / ขั้นตอนแรกรับ (Intake Process) เหมือนกับการรับเคสผู้ป่วยของโรงพยาบาล โดยผู้ใช้บริการจะมีทั้ง Walk-in เข้ามาเอง ถูกส่งต่อมาจากหน่วยงานต่าง ๆ หรือมีการแจ้งให้ได้รับความช่วยเหลือ โดยส่วนใหญ่แล้วขั้นตอนของการสืบค้นจะเน้นการสัมภาษณ์พูดคุยและเยี่ยมบ้าน เพื่อให้เกิดการรวบรวมและสรุปข้อมูลของผู้ใช้บริการ โดยข้อมูลมักประกอบด้วย 

  • ข้อมูลของผู้ใช้บริการ เช่น ชื่อ อายุ วันเกิด ภูมิลำเนา อาชีพรายได้ ลักษณะการทำงาน โรคประจำตัว ชื่อบิดา- มารดา ชื่อภรรยา ชื่อบุตร
  • ข้อมูลที่อยู่อาศัยและข้อมูลสมาชิกในครอบครัว ซึ่งจะช่วยบ่งบอกสภาพแวดล้อมของผู้ใช้บริการว่าสถานะทางบ้านเป็นอย่างไร ได้รับสวัสดิการอะไรจากรัฐบ้าง เมื่อได้ข้อมูลต่างๆมาแล้ว นักสังคมสงเคราะห์ต้องสามารถเขียน genogram หรือ Family Tree ซึ่งเป็นแผนผังครอบครัวของผู้ใช้บริการได้ด้วย

       2. การประเมินสภาวะของผู้ใช้บริการ (Assessment)  ผ่านสภาวะกาย จิต และสังคม 

  • สภาวะทางกาย เช่น มีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ มีโรคประจำตัวหรือไม่ 
  • สภาวะทางจิตสังคม เช่น ต้องแบกรับอะไรหรือไม่ มีอาการป่วยทางจิตเวชหรือเปล่า มีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นอย่างไร 
  • ประเมินสภาวะครอบครัว เช่น พื้นฐานความสัมพันธ์ในครอบครัว กิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวมีอะไรบ้าง 
  • การประเมินความเสี่ยง โดยอาจเป็นความเสี่ยงจากภัยอันตรายหรือสภาพแวดล้อมโดยรอบ เช่น ลักษณะบ้านของผู้ใช้บริการอยู่ใกล้ลำคลองที่เป็นคลองสีดำ กลิ่นเหม็นจัด จึงเสี่ยงต่อการมีสัตว์เลื้อยคลานเข้าบ้านหรือเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ
  • การประเมินความต้องการ เช่น ความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ ที่จำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือหรือเงินสงเคราะห์ครอบครัว ความต้องการด้านอุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

       3.การกำหนดเป้าหมายและแผนบริการ (Care Plan/ Planning) ตัวอย่างเช่น เคสเป็นผู้ป่วยติดเตียง จะมีการกำหนดเป้าหมายว่าผู้ใช้บริการจะต้องได้รับเงินสงเคราะห์ครอบครัว และต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยมีแผนการดำเนินงานว่า จะต้องเขียนบันทึกราชการขอความอนุเคราะห์เงินสงเคราะห์ครอบครัวประสานงานกับศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อติดตามการดูแลผู้ป่วยในภายหลัง                 4.การดำเนินงาน (Implementation) ตามแผนที่กำหนดไว้
       5.การติดตามผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น (Output/Outcome/Impact) และการส่งต่อ (Referral System) การติดตามผลหลังการดำเนินการช่วยเหลือเสร็จสิ้นไปแล้ว ว่าผู้ใช้บริการเป็นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งนี้อาจมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการติดตามผลในด้านอื่น ๆ ต่อไปด้วย โดยอาจประสานงานต่อไปหรือส่งต่อเคสไปยังหน่วยงานอื่นเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างครอบคลุมต่อไป

      ** สิ่งสำคัญ คือ การประเมินจะต้องไม่มีอคติ ไม่ตัดสิน หรือเลือกที่รักมักที่ชัง ควรอยู่บนพื้นฐานในการเคารพมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

หนึ่งวันกับอาชีพนักสังคมสงเคราะห์
       ในแต่ละวันของอาชีพนักสังคมสงเคราะห์จะไม่เหมือนกัน แล้วแต่ภารกิจงานในวันนั้น ๆ เช่น บางวันลงเยี่ยมบ้านเคส (ผู้ใช้บริการ) บางวันประชุมทีมสหวิชาชีพ บางวันให้คำปรึกษาผู้ใช้บริการทางโทรศัพท์ บางวันต้องจัดการเอกสารราชการที่คั่งค้างไว้ บางวันต้องไปทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ
       โดยทั่วไปงานของนักสังคมสงเคราะห์จะเริ่มตั้งแต่เวลา 8.00 น. ถึง 16.00 น. หรือ 8.30 น. ถึง 16.30 น. อาจต้องเข้าก่อนเวลาหรือทำงานล่วงเลยเวลาบ้างในบางภารกิจ เช่น เตรียมงานสำหรับกิจกรรมสำคัญ ไปเยี่ยมบ้านเคสที่ค่อนข้างไกลจากสถานที่ทำงาน

สถานที่ทำงาน

 

  • ในออฟฟิศของหน่วยงาน หน่วยงานที่นักสังคมสงเคราะห์สังกัดจะเป็นหน่วยงานในหน่วยราชการหน่วยงาน NGO หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไทยและทั่วโลก ตามกลุ่มเป้าหมายขององค์กรนั้น ๆ 
  • บ้านหรือสถานที่อยู่อาศัยของกลุ่มเป้าหมาย นักสังคมสงเคราะห์ต้องออกไปเยี่ยมเยียนบุคคลที่เข้าข่ายหรือกำลังประสบปัญหา เพื่อสอบถาม แล้วตรวจดูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

ผู้ที่ต้องทำงานด้วยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
       1.กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ใช้บริการที่เราทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ แม่วัยใส เด็กที่กระทำผิด หรือคนในชุมชนนั้น ๆ
       2. สภาพแวดล้อมของกลุ่มเป้าหมาย เช่น พ่อ แม่ ครอบครัว ผู้นำชุมชน ครู เพื่อน 
       3. ทีมงานของเรา ได้แก่ ทีมสหวิชาชีพและทีมงานภายในองค์กรเดียวกันในตำแหน่งต่าง ๆ

ทางเลือกอาชีพ

       หากต้องการเลือกประกอบอาชีพในสายงานใกล้เคียง ด้วยความที่สังคมสงเคราะห์จะสอนให้เราเข้าใจมนุษย์ เข้าใจกระบวนการทำงานกับมนุษย์ หากต้องการทำงานเอกชนในสายงานที่ใกล้เคียงก็จะมีทำงานในฝ่ายบุคคล เป็นนักให้คำปรึกษา รวมถึงทำงานบริการ เช่น แอร์โฮสเตส

เงินเดือน นักสังคมสงเคราะห์

 

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต 

       หากเลือกทำงานตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์สังกัดหน่วยงานราชการ จะเห็นได้ว่ามีเส้นทางการเติบโตในอาชีพที่ชัดเจนมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าทำงานใน NGO หรือหน่วยงานระหว่างประเทศแล้วจะไม่เติบโต เพียงแต่ว่าบริบทของแต่ละหน่วยงานนั้นก็มีการกำหนด Career Path ที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กร นโยบายขององค์กร งบประมาณ และมุมมองของผู้บริหารในองค์กรนั้นๆ

รายได้

       รายได้ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรที่สังกัด หากเป็นตำแหน่งพนักงานราชการเริ่มต้นที่ 18,000 (ไม่มีสวัสดิการ แต่หากรับราชการจะเริ่มต้นประมาณ 15,000 บาท
หากทำงานกับมูลนิธิ NGO หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร อาจเริ่มต้น 14,000 หากทำงาน ส่วนองค์กรระหว่างประเทศมักจะได้สูงกว่า 20,000 บาทขึ้นไป

 

การแข่งขันและความต้องการทางการตลาด 

       การแข่งขันเข้าคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์นับว่ามีการแข่งขันสูงในระดับปานกลาง เนื่องจากมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีสอนหลักสูตรนี้โดยตรง (สังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต) มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คือ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีการเรียนการสอนด้านนี้โดยตรง จะอยู่ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ในด้านความต้องการของตลาดนั้น หากในสายงานของราชการจะมีการเปิดรับตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์หรือนักพัฒนาสังคมในหน่วยงานต่าง ๆ ค่อนข้างบ่อย เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ในส่วนที่ 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ได้กำหนดทิศทางให้เร่งการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ เพื่อมุ่งให้คนในสังคมไทยมีทักษะในการดำรงชีวิตสำหรับโลกศตวรรษที่ 21 ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีตลอดช่วงชีวิต ฯลฯ
       เป็นไปได้สูงว่า บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์จะเป็นที่ต้องการและมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากนักสังคมสงเคราะห์ต้องทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี มีความรู้ความสามารถที่ดี ผ่านการได้รับ “สวัสดิการทางสังคม” อันเป็นสิ่งที่เขาพึงมี พึงได้ อันเป็นสิทธิที่พึงได้รับอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน 

 

  • ได้เรียนรู้การทำงานจากหลายสาขาอาชีพ เพราะการทำงานสังคมสงเคราะห์ เราไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ยังมีการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพด้วย ดังนั้น จึงทำให้เราได้อัปเดตตัวเอง เจอเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ และเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ
  • แม้งานสังคมสงเคราะห์จะเป็นงานประจำ แต่ไม่ใช่งานรูทีนหรือทำกิจวัตรเดิมซ้ำๆ เพราะเราจะต้องเจอเคสใหม่ๆ อยู่ตลอด มีโจทย์ใหม่ๆ มาท้าทายเราหรือมีกิจกรรมใหม่ ๆ ให้เราทำอยู่เรื่อย ๆ เช่น วันนี้ครึ่งวันเช้า อาจจะไม่ต้องนั่งทำงานในสำนักงาน แต่ต้องออกไปเยี่ยมบ้านเคส หรือทำการออกหน่วยสังคมสงเคราะห์เคลื่อนที่ร่วมกับองค์กร
  • งานสังคมสงเคราะห์ ทำให้เราไม่เป็นคนโลกแคบและเรียนรู้โลกตามความเป็นจริง ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่มุมสวยงาม หรือไม่ได้มีแค่เราที่ชีวิตแย่อยู่คนเดียว ยังมีคนอีกมากที่ลำบากกว่าเรา แต่สิ่งที่เรามีเหมือนกันก็คือ “คุณค่าและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์” ทุกคนมีข้อดีในตัวเอง ทุกปัญหาในตัวคนๆ นั้นก็มีที่มาที่ไป เราจึงไม่ควรไปตัดสินเขาทันที แต่ควรเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจในต้นเหตุและพื้นฐานของเขามากกว่า

 

  • หากเป็นหน่วยงานราชการ หลายหน่วยงานโดยเฉพาะสถานสงเคราะห์ จะรับพนักงานราชการหรือข้าราชการในตำแหน่ง “นักสังคมสงเคราะห์” ค่อนข้างจำกัด และด้วยความที่ระบบราชการจะมีระเบียบ มีขั้นตอนวิธีการอยู่แล้ว นักสังคมสงเคราะห์หลายคนที่เริ่มต้นจากการเป็น ‘ลูกจ้าง’ จึงรู้สึกว่าการเลื่อนตำแหน่งเป็นไปโดยค่อนข้างช้า
  • หากเราไม่ชอบทำงานกับคน การทำงานสายสังคมสงเคราะห์จะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างลำบากใจมาก เพราะเราต้องทำงานกับเคส (ผู้ใช้บริการ) ที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ มีความแตกต่างหลากหลายสูง ทั้งนิสัย ชาติพันธุ์ ฐานะทางการเงิน การศึกษา ฯลฯ 
  • ต้องเป็นคนมีทัศนคติในการทำงานที่ดี ไม่จำเป็นต้องโลกสวย แต่ต้องรู้จักมองหาแง่มุมที่ดีของมนุษย์เพื่อให้เขามีพลังในการใช้ชีวิตต่อไปได้ ไม่ใช่จับผิดหรือเน้นย้ำปมของเขา 
  • มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ชอบจะได้ทำงานพูดคุยกับคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย การทำงานสังคมสงเคราะห์ไม่ใช่ทำงานกับผู้ใช้บริการเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำงานกับครอบครัวของผู้ใช้บริการ (สภาพแวดล้อมของเขา) รวมถึงเพื่อนร่วมงานของเราที่อาจจะมาจากหลายสาขาอาชีพ เช่น หมอ พยาบาล ตำรวจ นักจิตวิทยา ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละอาชีพก็จะมีจุดยืนและแง่มุมที่ไม่ตรงกัน เราจึงต้องทำความเข้าใจและประนีประนอมเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานด้วย
  • เห็นอกเห็นใจและจัดการอารมณ์ได้ดี  เพราะต้องเจอผู้คนที่มีความเดือดร้อน หลากหลายทั้งจากที่มา ปัญหา แตกต่างทั้งเพศและวัย ดังนั้นจึงต้องอดทน มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจบุคคลอื่นอย่างสูง

  • ทักษะการสื่อสาร เนื่องจากการสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับอาชีพนี้ ไม่ว่าพูด ฟัง สรุปความ หรือแม้แต่การสังเกต เพราะนักสังคมสงเคราะห์ต้องคอยพูดคุยรับฟัง และเข้าใจความต้องการของบุคคลที่เราช่วยเหลืออย่างแท้จริง 
  • ทักษะการจัดการ ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์หนึ่งคน อาจรับเรื่องเข้ามาหลายเคส จึงต้องมีทักษะการจัดการที่ดี เพื่อจัดการความช่วยเหลือให้แก่ทุกเคสอย่างทั่วถึงทันเวลา 
  • ทักษะการแก้ปัญหา จำเป็นมากเพราะถือเป็นงานหลักของนักสังคมสงเคราะห์ที่ต้องช่วยเหลือและแก้ปัญหาของบุคคลเหล่านั้นได้เป็นลำดับ รวมทั้งยังต้องระบุประเด็นปัญหาได้อย่างถูกต้อง การทำงานสังคมสงเคราะห์จะมีขั้นตอนของการประเมินความต้องการของผู้ใช้บริการด้วย ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์จึงต้องสืบค้นข้อเท็จจริง ประเมิน และระบุปัญหาให้ได้ว่า ผู้ใช้บริการมีความต้องการอะไร ต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้าง 
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ เนื่องจากในการทำงานสังคมสงเคราะห์จะมีขั้นตอนของการประเมินสภาวะของผู้ใช้บริการ (Assessments) ด้วย ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์ จึงต้องมีความสามารถคิดวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถประเมินในสิ่งที่เราไปสืบค้นข้อเท็จจริงได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุและผล ไม่ใช่คติหรืออารมณ์
  • ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ การทำงานสังคมสงเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นสังคมสงเคราะห์ชุมชนหรือสังคมสงเคราะห์รายบุคคล เราไม่ได้ทำงานแบบด้านใดด้านหนึ่ง มุมใดมุมหนึ่ง แต่เป็นการทำงานแบบ ‘องค์รวม’ ดังนั้น จึงต้องมีความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะสามารถมองภาพรวมของสภาพแวดล้อม สามารถนำองค์ประกอบต่างๆ ในชีวิตของผู้ใช้บริการมาจัดให้เป็นระบบได้ เช่น ทราบข้อมูลทั้งหมดของสมาชิกในครอบครัว แล้วนำมาวาดจีโนแกรม เพื่อเป็นการนำข้อมูลที่ได้จากผู้ใช้บริการมาสรุปและประเมินอย่างเป็นระบบ

็Hard Skills

  • ศึกษาหาความรู้เรื่องข้อกฎหมายหรือสวัสดิการของรัฐ
  • หาข้อมูลสวัสดิการของประเทศอื่น ๆ 

Soft Skills 

  • ทักษะการติดต่อระหว่างบุคคล: เป็นทักษะหนึ่งที่นักสังคมสงเคราะห์ทุกคนพึงมีหรือเรียกอีกอย่างว่า ‘ทักษะการสร้างสัมพันธภาพเชิงวิชาชีพ’ มิใช่การสร้างสัมพันธภาพส่วนตัว เป็นการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างสัมพันธภาพบนพื้นฐานของการทำงาน ในขอบเขตของความเหมาะสมเนื่องจากการทำงานสังคมสงเคราะห์เป็นงานทำงานร่วมกับมนุษย์ ดังนั้น ทักษะในการติดต่อสื่อสาร –พูดคุย สร้างความไว้ใจ จึงนับเป็นทักษะสำคัญที่ต้องใช้ในการทำงาน
  • ทัศนคติเชิงบวก: ทัศนคติเชิงบวกไม่ได้หมายถึงการที่ต้องเป็นคนโลกสวย แต่หมายถึงการมองหาแง่ดี แง่มุมเชิงบวก แม้ในสถานการณ์เลวร้ายได้ เช่น เราต้องสามารถ Empowerment (เสริมพลัง) ให้กับผู้ใช้บริการได้ผ่านการให้กำลังใจ ผ่านการชวนคิดชวนคุยถึงจุดแข็งที่เขามี แม้ว่าเขาจะเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นหรือเป็นผู้หญิงที่เคยถูกกระทำความรุนแรงมาก็ตาม
  • มารยาททางสังคม: การที่เราเป็นนักสังคมสงเคราะห์ เราไม่ได้ช่วยเหลือผู้ใช้บริการในฐานะของผู้ให้ แต่เราไปในฐานะ “ผู้ทำงานร่วม” ดังนั้น การมีมารยาทสังคมและเคารพสิทธิส่วนบุคคล ไม่ไปละลาบละล้วง ไม่ไปถือสิทธิ์ถือตัวว่ายศตำแหน่งสูงกว่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

กิจกรรมต่าง ๆ 

       การไปค่าย การไป Workshop ในกิจกรรมใหม่ ๆ ตลอดเวลา จะเป็นกิจกรรมด้านไหนก็ได้ กิจกรรรมเหล่านั้นทำให้เราเจอผู้คนใหม่ ๆ สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ตัวเรามีทักษะ Hard Skills และ Soft Skills ที่ระบุไว้ข้างต้นไว้ได้เป็นอย่างดี

วิชาที่เรียน

       ปี 1 : เน้นวิชาทั่วไปของมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับสังคมศาสตร์พื้นฐาน กฎหมายเบื้องต้น วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ภาษาอังกฤษ รวมถึงวิชาพื้นฐานของคณะ คือ SW 111 (พื้นฐานในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์) และวิชาพื้นฐานนอกคณะ เช่น รัฐศาสตร์เบื้องต้น มานุษยวิทยาเบื้องต้น เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
       ปี 2 : วิชาที่สำคัญมากคือ “ดูงานและสัมมนา” ที่เราต้องไปดูงานจริง ไปสกัดข้อมูล ไปคุยกับเคส (ผู้ใช้บริการ) และนำกลับมานำเสนอให้อาจารย์ฟัง เขียนรายงานให้อาจารย์อ่าน ซึ่งไม่ได้แค่นำข้อมูลจากการสัมภาษณ์มานำเสนอ แต่ต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติม ถามให้รู้ ดูให้ลึก เพราะหากเตรียมการไม่ดี จะมีผลเสียต่อคะแนนการนำเสนอทุกครั้ง
นอกจากนั้น ช่วงปี 2 ยังเป็นช่วงที่เราได้เริ่มต้นเก็บ ‘วิชาโท’ โดยเราสามารถเลือกได้ว่า จะเก็บวิชาโทในคณะหรือนอกคณะ หากเป็นวิชาโทในคณะ ก็จะเป็นการลงลึกในสังคมสงเคราะห์แต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น เด็กและครอบครัว ผู้สูงอายุ พัฒนาชุมชน หากเลือกวิชานอกคณะ เราก็สามารถเลือกเรียนในคณะอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ เช่น เรียนวิชาโทด้านภาษา วารศาสตร์ศาสตร์ รัฐศาสตร์ จิตวิทยา ก็ย่อมได้
       ปี 3 : จะเป็นช่วงที่เราได้เรียนวิชาในคณะอย่างเข้มข้นและทำให้เห็นภาพชัดเจนในการทำงานสังคมสงเคราะห์มากขึ้น เช่น วิชาการให้คําปรึกษาเบื้องต้น นโยบายทางสังคม พลวัตในสังคม ปัญหาทางสังคม การลงชุมชนและทำงานในชุมชน รวมถึงการเริ่มฝึกงานในหน่วยงานและการฝึกงานตามความสนใจด้วย (ฝึกงานช่วงปิดเทอม ระหว่างปิดเทอมขึ้นปี 3 กับขึ้นปี 4 ดังนั้น เราจะมีช่วงเวลาปิดเทอมและหยุดพักได้เต็มที่ช่วงปิดเทอมใหญ่ตอนปีหนึ่งเท่านั้น)
       ปี 4 : ปี 4 เทอม 1 จะเป็นการเก็บตกวิชาต่างๆ ที่เรายังไม่ได้เรียนให้เรียบร้อย เนื่องจากคณะให้อิสระเราในการจัดตารางเรียนเอง ในหลายๆวิชาเราจึงสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนวิชานี้ตอนชั้นปีใด บางคนเก็บหน่วยกิตหรือลงทะเบียนเรียนแน่นมากในช่วงปี 2-3 พอขึ้นปี 4 จึงลงทะเบียนเรียนเพียง 1- 2 วิชาเท่านั้นแล้วใช้เวลาว่างไปทำอาชีพเสริมไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ก่อนเรียนจบ ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการตัวเองของเรา
       ช่วงปี 4 เทอม 2 จะเป็นการฝึกงานในชุมชน เมื่อฝึกงานจบแล้วเราจะต้องเรียนวิชาสัมมนาซึ่งจะเป็นการสรุปรวบยอดความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาตลอด 4 ปี รวมถึงการจัดโปรเจคต์สัมมนาเองในชั้นเรียน ซึ่งเราต้องเป็นผู้เตรียมงานเองเตรียมข้อมูลเอง คิดหัวข้อเอง ถือเป็นวิชาสุดท้ายในการเรียนปริญญาตรีที่ได้ท้าทายและใช้ความคิดสร้างสรรค์ก่อนเรียนจบได้อย่างเต็มที่

 

เคล็ดลับการเรียน

1. การเรียนการสอนของคณะสังคมสงเคราะห์ไม่ได้เน้นการท่องจำทฤษฎีให้แม่น ๆ แต่เน้นการนำมาประยุกต์ใช้ให้ได้ เคล็ดลับการเรียนก็เหมือนคณะอื่น ๆ ที่ควรจะเข้าห้องเรียน อ่าน Textbook เพิ่มเติม และการเรียนจะฝึกให้เราออกนอกห้องเรียนบ่อย เช่น ไปดูงาน ไปลงชุมชน ไปฝึกงาน (ฝึกเข้มข้นถึง 3 ฝึกเลยทีเดียว) ไปทำโครงการร่วมกับชุมชน ซึ่งเราต้องเข้าร่วมทุกครั้ง ไม่จำเป็นอย่าขาดเพราะมีผลกับคะแนน

2. คณะสอนให้เราเคารพความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ อาจารย์ในคณะก็เช่นกัน แต่ละท่านจะมีสไตล์การเรียนการสอนที่ไม่เหมือนกัน เราจึงต้องพยายามสังเกตบุคลิกอาจารย์และตอบข้อสอบตามสไตล์ของอาจารย์ท่านนั้น (ข้อสอบจะเป็นข้อเขียนทั้งหมด) เช่น อาจารย์คนนี้ชอบให้บรรยายทฤษฎีละเอียด ๆ อาจารย์คนนั้นชอบให้ยกตัวอย่างจากสถานการณ์ปัจจุบัน เราต้องหมั่นสังเกตและตอบข้อสอบให้ตรงความคาดหวังของอาจารย์ จึงจะมีแนวโน้มได้คะแนนสอบที่ดี

3. คณะจะบังคับให้ฝึกงานถึง 3 ครั้ง คือ 

  • ฝึกในหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ 
  • ฝึกงานสังคมสงเคราะห์ชุมชน 
  • เลือกฝึกอิสระตามความสนใจ (ในหน่วยงานที่เราเลือกเอง แต่ต้องเป็นหน่วยงานในวิชาชีพสังคมสงเคราะห์) 

       แน่นอนว่า การฝึกงานในนิยามของคณะไม่ใช่แค่การไปช่วยถ่ายเอกสาร ชงกาแฟ เสิร์ฟน้ำผู้ใหญ่ในองค์กร แต่คณะคาดหวังให้เราได้เรียนรู้การทำงานจริง ได้คุยกับเคสจริง ๆ ได้ฝึกทักษะทุกอย่าง ดังนั้น อย่าปล่อยให้แต่ละวันผ่านไปเฉย ๆ พยายามเก็บข้อมูล เรียนรู้ข้อมูลหน่วยงาน คุยกับเคสเอง สังเกตการทำงานของ Supervisor (หัวหน้าหน่วยงานหรืออาจารย์ภาคสนาม) เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากในการเขียนรายงานการฝึกภาคปฏิบัติ และเล่มรายงานก็เป็นอีกหนึ่งการประเมินที่สำคัญ ที่จะชี้วัดว่า เราจะได้เกรดอะไรในการฝึกงานครั้งนี้

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

       ชีวิตนักศึกษาของคณะสังคมสงเคราะห์ถือว่าเป็นชีวิตที่สนุกมาก เพราะคณะของเราไม่มีระบบ sotus ไม่บังคับการรับน้อง เราสามารถเลือกได้ว่า จะออกแบบชีวิตของเราอย่างไรในมหาวิทยาลัยตลอด 4 ปี เช่น บางคนอาจจะเน้นการทำกิจกรรมในคณะ บางคนเน้นทำกิจกรรมกับมหาวิทยาลัย บางคนเน้นออกค่ายชนบท บางคนเน้นเข้าชมรมนักศึกษาต่างชาติเราทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรม บางคนชอบอยู่เงียบๆ ไม่สุงสิงกับใคร  เรียกได้ว่า ชีวิตนักศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์จะค่อนข้างเปิดกว้างมาก ๆ ทฤษฎีไม่หนัก แต่มีโปรเจคท์การทำงานจริงให้รับผิดชอบหลายอย่าง 
        เราจึงต้องมีความสามารถในการจัดการทุกอย่างให้ลงตัว ทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย รวมถึงรักษาสมดุลในชีวิตส่วนตัวและความสนุกในการเป็นนักศึกษาด้วย
       

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

       ประมาณ 14,000 บาท (นักศึกษาภาคปกติ)


ทุนการศึกษา

       ทุนการศึกษาจะมีให้ทั้งทุนการศึกษาในคณะทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยและทุนการศึกษาจากบริษัทเอกชนข้างนอกที่มานำเสนอทุนให้กับนักศึกษาอยู่แล้วรวมถึงทุนประกวดต่างๆเช่นทุนประกวดเรียงความ ซึ่งจะมีอัพเดทในเว็บไซต์ของคณะอย่างสม่ำเสมอ เป็นหน้าที่ของผู้ที่อยากได้ทุนที่ต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
 

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

  • Bachelor of Arts in Social Welfare, University of California—Berkeley

  • Bachelor of Arts in Social Welfare, University of Georgia

  • Bachelor of Arts in Social Welfare, University of Washington

  • Master of Social Welfare (MSW) ,University of California--Berkeley

  • Master of Social Work, University of Pennsylvania

  • PhD in Social Welfare, University of Pennsylvania

  • งานฝ่ายบุคคล
  • งานด้านการบริการ
  • ผู้ให้คำปรึกษา
  • รับราชการช่วยเหลือประชาชนด้านสวัสดิการ

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร