นักบัญชีคือผู้จัดการงานบัญชีของบุคคล องค์กรธุรกิจ โดยดูแลทั้งรายรับรายจ่าย รายการเดินบัญชีให้ถูกต้องและทันเวลา เพื่อให้ทราบถึงผลการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกำไรและขาดทุน การทำบัญชีเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริหารทราบถึงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกิจการ เพื่อเป็นแนวทางการประกอบธุรกิจในอนาคตต่อไป
ลักษณะงาน
งานของนักบัญชีคือรวบรวมรายรับรายจ่ายขององค์กรธุรกิจ และจัดทำรายงานตามระบบแบบแผนของการทำบัญชี มาตรฐาน เช่น จัดการเอกสารงบการเงิน ทั้งเรื่องงบกำไรขาดทุน งบดุลต่าง ๆ การทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น ขอบเขตงานแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่
- การบัญชีเพื่อการจัดการ (Managerial Accounting) เพื่อนำเสนอแก่คนภายในองค์กร เพื่อวางแผนการดำเนินงาน ได้แก่ กรรมการบริหาร ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนก
- การบัญชีการเงิน (Financial Accounting) เน้นการนำเสนอแก่ผู้ใช้ภายนอกกิจการ ได้แก่ นักลงทุน เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น หน่วยงานราชการ ลูกจ้าง
ขั้นตอนการทำงาน
- เมื่อได้รับข้อมูลรายรับรายจ่ายจากบริษัทต่าง ๆ แล้ว ทำการตรวจสอบรายการทางการเงินเพื่อให้มีความถูกต้องและเป็นไปตามข้อระเบียบและกฎหมายที่กำหนด
- ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการคำนวณภาษีอาการ การเรียกคืนภาษีเพื่อให้มั่นใจว่าภาษีอาการได้รับการชำระถูกต้องและตรงเวลา
- ตรวจสอบบัญชีธนาคารและระบบบัญชีเพื่อให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแบบแผนการทำงาน
- จัดระบบและรักษาเอกสารทางการเงินตามจำนวนปีที่กฎหมายกำหนด
- เข้าถึงระบบการจัดการทางการเงินและแนะนำระบบการจัดการที่ดีให้แก่ลูกค้า
- แนะนำการดำเนินการเพื่อลดต้นทุน เพื่อการแสวงหารายได้และกำไรสูงสุด
สถานที่ทำงาน
- สำนักงานขององค์กรที่สังกัด เนื่องด้วยบัญชีเป็นงานที่ต้องอยู่กับตัวเลขและต้องใช้สมาธิสูง นักบัญชีจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางออกไปนอกพื้นที่ แต่มักจะทำงานอยู่ในสำนักงานเป็นส่วนใหญ่นั้นเอง
- บ้านหรือสถานที่ ๆ สะดวกในการทำงาน นักบัญชีอาจรับงานทำบัญชีอิสระ โดยที่ไม่สังกัดหน่วยงานใด ๆ จึงสามารถทำงานที่ใดก็ได้ที่สะดวก
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- พนักงานธุรการและแผนกต่าง ๆ ในบริษัท ในการจัดการด้านการเงินทุกอย่างขององค์กรนั้น ๆ ต้องผ่านการตรวจสอบจากแผนกบัญชีอยู่เสมอ ในบางบริษัทการเบิกเงินหรือธุรกรรมทางการเงินใดๆ ที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท พนักงานอาจทำเรื่องโดยตรงกับพนักงานบัญชี แต่ในบางบริษัทอาจมีระบบที่ให้พนักงานธุรการที่ทำเรื่องเอกสารกับแผนกบัญชีเท่านั้น
- ผู้บริหารองค์กรที่สังกัดหรือลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการทำงานให้องค์กร หรือเป็นนักบัญชีอิสระ ข้อสรุปตัวเลขต่างๆ ทางบัญชีที่เราเสร็จเรียบร้อยจะต้องมีการตรวจสอบและส่งให้ผู้บริหารหรือลูกค้าเพื่อวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินธุรกิจต่อไป
- เจ้าหน้าที่สรรพากร พนักงานบัญชีจะต้องนำส่งเอกสารเรื่องรายได้ และการเสียภาษีให้แก่เจ้าหน้าที่สรรพากรเพื่อตรวจสอบ
- ผู้ตรวจสอบบัญชี คือผู้ที่จะมาตรวจสอบการทำบัญชีของเราว่าทำถูกต้องและมีเอกสารอ้างอิงตรงตามหลักการบัญชีหรือไม่
- หางานง่าย เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากงานบัญชีเป็นวิชาชีพเฉพาะและเป็นที่ต้องการในทุกหน่วยงานธุรกิจ
- งานบัญชีมีรายได้ดี และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นตามประสบการณ์ หากรับทำงานอิสระและสามารถจัดการเวลา รวมทั้งมีระดับความสามารถที่ดี จะมีโอกาสเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
- งานบัญชีค่อนข้างมีความมั่นคงและมีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานสูง
- งานบัญชีเป็นงานที่ต้องอยู่กับตัวเลข และมีลักษณะเนื้องานเดิมๆ ไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบหรือมีโอกาสออกไปพบเจอผู้คนดังเช่นงานอื่น ๆ จึงอาจเกิดความเบื่อหน่ายได้ง่าย
- งานที่เป็นตัวเลขนั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดสูง และอาจส่งผลเสียต่อองค์กรหรือนักบัญชีได้ ความละเอียดรอบคอบจึงเป็นสิ่งสำคัญ
- มีความรู้ภาคทฤษฎีทางบัญชี เป็นอย่างดีซึ่งเป็นองค์ความรัที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ
- ละเอียดรอบคอบ ถี่ถ้วน คือลักษณะที่สำคัญในการจะเป็นนักบัญชีที่ดี เพราะเรื่องตัวเลขนั้น หากเกิดความผิดพลาดจะทำให้เกิดผลเสียต่อองค์กร
- ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ ไม่เปิดเผยข้อมูลหรือนำไปทำประโยชน์ให้กับตัวเอง ต้องมีจรรยาบรรณที่จะไม่เอาเปรียบผู้อื่น
- ใส่ใจรายละเอียด เป็นคุณสมบัติสำคัญในการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูล
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลและเสนอแนวทางแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น นักบัญชีจะประเมินการเสียภาษีและผู้ตรวจสอบภายในจะได้ใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการทำงานตรวจสอบ
- ทักษะการสื่อสาร ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดีในการรับฟังข้อเท็จจริงและข้อสงสัยของลูกค้า ผู้จัดการและบุคคลอื่นๆ พวกเขาต้องสามารถอธิบายผลลัพธ์ของการทำงานในที่ประชุมและในการจัดทำรายงานได้
- ทักษะด้านคณิตศาสตร์ เป็นทักษะสำคัญเพราะนักบัญชีต้องมีการคำนวณ เปรียบเทียบและจัดทำข้อสรุปตัวเลขออกมาตามข้อเท็จจริง
- ทักษะการจัดการ เป็นทักษะที่สำคัญในการทำงานในบริษัทที่ใหญ่สำหรับนักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งจะต้องทำงานที่แตกต่างกันให้กับลูกค้าหลายคนในเวลาที่จำกัด
การศึกษา
ผู้ประกอบอาชีพนักบัญชีต้องจบปริญญาตรีจากคณะบริหารและการบัญชี โดยได้รับวุฒิการศึกษา บัญชีบัณฑิต (บช.บ.) โดยคณะที่เปิดสอนหลักสูตรสาขาบัญชีมีมากมาย เช่น
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรบัญชีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะสังคมศาสตร์ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะวิทยาการจัดการ สาขาบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี)
- หลักสูตรบัญชีบัณฑิต สาขาการบัญชี มหาวิทยาลับมหิดล (วิทยาเขตกาญจนบุรี)
- คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- คณะวิทยาการจัดการ สาขาการบัญชีบริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตศรีราชา)
- คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาการจัดการสาขาบัญชี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(วิทยาเขตสกลนคร)
- คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- คณะวิทยาการจัดการ สาขาบัญชีบัณฑิต (การบัญชี) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (วิทยาเขตหนองคาย)
- คณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะการจัดการและการท่องเที่ยว สาขาวิชาการบัญชี มหาวิทยาลัยบูรพา
- คณะบริหารศาสตร์ สาขาบัญชี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ หลักสูตรบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร สาขาบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาการบัญชี มหาวิทยาลัยนครพนม
- คณะการบัญชีและการจัดการ สาขาบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยสารคาม
- คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ สาขาการบัญชี (วิทยาเขตตรัง)
- คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยทักษิณ
- สำนักวิชาการจัดการ สาขาวิชาการบัญชี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง
Hard Skill
- ฝึกฝนและตั้งใจพัฒนาวิชาคณิตศาสตร์ เพราะถือเป็นวิชาที่จะช่วยให้น้อง ๆ ผ่านเข้าไปศึกษาคณะบัญชีได้อย่างแน่นอน
- สมัครเรียนบัญชีผ่านคอร์ส Online หรือ Workshop ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำบัญชี เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองทดลองเรียนรู้และลงมือทำ
- ฝึกใช้โปรแกรมสำหรับการทำบัญชีให้คล่องมือและเรียนรู้โปรแกรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้พัฒนาความสามารถได้มากขึ้น
- ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์โดยหัดทำแบบทดสอบด้าน Analytical Thinking Test
- ฝึกการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างง่าย ๆ และขยายเป็นการทำบัญชีของบ้านและครอบครัว เพราะนอกจากจะช่วยให้เข้าใจการทำงานบัญชีเบื้องต้นแล้ว ยังช่วยพัฒนาทักษะการจัดการด้านการเงินของเราด้วย
Soft skill
- ฝึกการพูดการสื่อสารและนำเสนอให้คล่องแคล่ว ชัดเจนเข้าใจง่าย โดยเฉพาะการนำเสนอยาก ๆ อย่างตัวเลข
- ฝึกฝนความเป็นผู้นำให้ทั้งผู้อื่นและตนเอง (Leadership skill)
- รู้จักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเพื่อปูพื้นฐานสู่การทำงานในอนาคต
กิจกรรมต่างๆ
- อ่านบทความหรือติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับงานบัญชีตามช่องทางต่าง ๆ ทั้ง online, podcast ต่างๆ
- ในประเทศไทย มีสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งรวบรวม ซึ่งสามารถหาข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ด้านงานบัญชีเพิ่มเติมได้
"การจะเป็นนักบัญชีคนส่วนมากจะคิดว่าต้องเป็นที่เก่งทางด้านคำนวณทางด้านคณิตศาสตร์ แต่จริงๆแล้วการเป็นนักบัญชีไม่มากเท่าไรนัก แต่ลักษณะนิสัยคือจะต้องเป็นคนที่ไม่เครียดมากับการทำงานกับตัวเลข มีความชอบที่จะทำงานกับตัวเลข สามารถที่จะวิเคราะห์อย่างมีระบบอย่างมีเหตุผล"
คุณรุ้งนภา เลิศสุวรรณกุล อาชีพนักบัญชี
วิชาที่เรียน
เมื่อมองการเรียนภาพรวมจะแบ่งเป็นการเรียนทฤษฏี การฝึกปฎิบัติและการสัมมนา ครอบคลุมเนื้อหาด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การตลาด สถิติ ธุรกิจ การลงทุน กฎหมาย ภาษี การสื่อสาร การบัญชีตรวจสอบบัญชี การบริหารต้นทุน การใช้โปรแกรม ระบบสารสนเทศ
- ปี 1 เป็นการศึกษาปูพื้นทั่วไป เรียนการบัญชีขั้นต้น ภาษีอากร
- ปี 2 เรียนการบัญชีขั้นกลาง ภาษีอากรขั้นสูง การสอบบัญชี
- ปี 3 – ปี 4 เรียนการบัญชีขั้นสูง และรายวิชาที่เป็นการประยุกต์กับงานบัญชี การสัมมนา การฝึกงาน บางมหาวิทยาลัยเน้นวิชาภาษาอังกฤษทุกชั้นปีตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการตีความ การใช้งาน บางมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมกลยุทธ์ทางธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง การเจรจาต่อรองทางธุรกิจ แตกต่างกันไปแต่ละมหาวิทยาลัย
หลายวิชาไม่ได้เรียนแค่ตัวเลขในห้องเท่านั้น แต่มีการลงพื้นที่ชุมชน ไปบริษัท เรียนรู้กระบวนการธุรกิจ ฝึกใช้หลักคิดที่ได้เรียนมาในสถานการณ์จริง
เคล็ดลับการเรียน
นอกเหนือจากความรู้ด้านบัญชี ไอที การเงินแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการสื่อสาร การนำเสนอ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาระหว่างเรียน
สิ่งที่ควรพัฒนา ฝึกฝนระหว่างเรียนคือทักษะในการคิด วิเคราะห์ การไขแก้ปัญหา ซึ่งเป็นความสามารถที่เทคโนโลยียังไม่สามารถทดแทนได้อย่างดีกว่า และเรื่องของภาษา จะทำให้สามารถก้าวไปได้ไกลในสายงาน ลองปรึกษาอาจารย์เรื่องการเข้าโครงการฝึกงานแบบทั้งปี จะทำให้ได้รับประสบการณ์จากการทำงานจริงมากกว่าฝึกแบบหนึ่งเทอม และมีโอกาสสูงในการได้งานทำต่อทันทีหลังเรียนจบ
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
ปีแรกที่ได้เจอวิชาพื้นฐานและบัญชีขั้นต้น การเรียนจะยังไม่หนักมาก แต่ก็สำคัญที่สุด เพราะขึ้นชื่อว่าพื้นฐานแล้ว เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ให้แม่นยำ มีความรู้แน่น และยังพอมีเวลาให้เพิ่มทักษะด้านภาษาให้เก่งยิ่งขึ้น
ปี 2 – 4 การเรียนจะเริ่มหนักขึ้นตามลำดับ พร้อมกับค่าชีทที่มีเยอะมาก อีกอย่างคือจะเจอทางเลือกสำคัญอย่างหนึ่งคือการฝึกงาน ว่าจะเลือกแบบฝึกงานหนึ่งเทอม หรือเข้าโครงการฝึกงานแบบทั้งปี แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละมหาวิทยาลัย
สังคมบัญชีค่อนข้างเป็นคณะใหญ่ มีคนหลากหลายที่เข้ามาจากต่างที่ แต่ก็สนิทกันได้อย่างรวดเร็ว ตลกเฮฮา ช่วยกันเรียน ช่วยกันติว มีกิจกรรม มีชมรม ซึ่งนอกเหนือจากการทำงานกลุ่มกับเพื่อน หากมีโอกาสร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในคณะและมหาวิทยาลัยจะช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การพัฒนาบุคลิกภาพได้
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
ตัวอย่างค่าเทอมของทั้งมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชน เช่น
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 39,250 ต่อปี / 167,750 ต่อปี (นานาชาติ)
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 80,580 ต่อปี
มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
- Stanford University
- University of Chicago
- The Hong Kong University of Science and Technology
- Stanford University
- University of Chicago
- Massachusetts Institute of Technology
- Duke University
- Harvard University
- London School of Economics and Political Science
- University of Pennsylvania
อาชีพใกล้เคียงหรือมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน อาทิ
- นักการเงินหรือนักวางแผนการเงิน
- พนักงานในตลาดหลักทรัพย์
- นักวิเคราะห์ข้อมูล
- นักเศรษฐศาสตร์
- ที่ปรึกษาด้านภาษี
- นักวิเคราะห์การตลาด
- นักบริหาร
- นักลงทุนหรือนักวิเคราะห์การลงทุน
- โบรคเกอร์
- เจ้าหน้าที่ธนาคาร
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร