ครู
ครู
ครู
ครู

       ครู คือบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐและเอกชน(พระราชบัญญัติ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546) มีหน้าที่ ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ พัฒนาศักยภาพของนักเรียนตั้งแต่ทักษะพื้นฐานทางวิชาการ หลักการคิดเขียนเรียนอ่าน ฟังพูด โดยหล่อหลอมพวกเขาให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพตามหลักคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเรียนและการใช้ชีวิต ครูในแต่ละระดับชั้นและในแต่ละวิชาจะมีวิธีการและทักษะที่แตกต่างกัน แต่จุดร่วมเดียวกันคือเป้าหมายในการพัฒนานักเรียนแต่ละคนไปในเส้นทางที่เขาเลือกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

หน้าที่ ครู (Teacher)
หนึ่งวันของการทำงาน
ความก้าวหน้าทางอาชีพ

       การทำงานหลัก ๆ ของครู คือ จัดเตรียม วางแผนและออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้กับนักเรียนอย่างเหมาะสมตามรายวิชาที่รับผิดชอบ จัดการชั้นเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ดูแลและให้คำแนะนำนักเรียนในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม เป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองของนักเรียนในชั้นเรียน รวมไปถึงปฏิบัติงานในโรงเรียนเพิ่มเติมตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

ลักษณะงาน

  • ครูปฐมวัย คือ ครูที่สอนในระดับการศึกษาก่อนประถมศึกษา มีหน้าที่จัดเตรียมออกแบบและจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการทั้ง 4 ด้านคือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์จิตใจ ด้านสังคม  และด้านสติปัญญา เหมาะสมตามวัย และส่งเสริมให้เด็กมีทักษะความพร้อมตามศักยภาพและเป็นไปตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560
  • ครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน  คือครูที่สอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยแยกออกเป็น 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาและศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ
  • ครูอาชีวศึกษา คือครูที่ทำการสอนในระดับอาชีวศึกษา ซึ่งนอกจากจะมีตามแปดกลุ่มสาระการเรียนรู้และการแนะแนวแล้ว ยังรวมถึงครูที่สอนงานอาชีพที่แต่ละสถาบันเปิดรับ เช่น ช่างศิลปะ ช่างยนต์ เป็นต้น 
  • ครูแนะแนว ทำหน้าที่แนะแนวและให้คำปรึกษา ในเรื่องการเรียนต่อหรือประกอบอาชีพแก่นักเรียนนักศึกษา โดยเตรียมข้อมูลที่ทันสมัยเพื่อกระตุ้นพวกเขาให้มีความเข้าใจตนเอง รู้ว่าชอบอะไร มีความถนัด ความฝันว่าอยากจะเป็นอะไรในอนาคต ครูแนะแนวจึงถือเป็นครูที่ช่วยผลักดันและชี้แนวทางไปสู่เป้าหมายของนักเรียน
  • ครูการศึกษาพิเศษ คือ ครูที่จบการศึกษาด้านการศึกษาพิเศษโดยตรง เพื่อวางแผนจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษที่มีความต้องการพัฒนาศักยภาพและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ โดยจะใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลาย ออกแบบและบูรณาการให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน

ขั้นตอนการทำงาน

  • แผนการสอน และรูปแบบการสอน  ออกแบบแผนการสอน ให้เหมาะสมกับการสอนในห้องเรียนแต่ละห้อง เพื่อให้ง่ายต่อการรับความรู้ของนักเรียน
  • จัดเตรียมสื่อการสอน การจัดเตรียมสื่อการสอนในวิชาที่สอน จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนรับรู้เนื้อหาสาระได้ง่ายขึ้นจากสื่อการสอนต่าง ๆ 
  • การเรียนการสอน สอนนักเรียนในห้องเรียนให้ได้รับความรู้ตามที่ออกแบบแผนการสอน
  • วัดผลและประเมินผลนักเรียน  เป็นการประเมินผลจากการที่ทำการสอนไป นักเรียนสามารถรับความรู้ได้มากน้อยเพียงใด พร้อมหาวิธีให้นักเรียนสามารถรับความรู้ได้มากยิ่งขึ้น
  • แนะแนวการศึกษา ดูแลเรื่องการเรียนให้กับนักเรียนให้เข้าถึงทุกคนอย่างเท่าเทียม พร้อมแนะแนวเรื่องการศึกษาต่อให้นักเรียน

สถานที่ทำงาน 

  • โรงเรียนหรือสถานศึกษา คือสถานที่ทำงานหลัก ที่จะประกอบด้วย ห้องเรียน ห้องพักครู โรงยิม โรงอาหาร ห้องประชุม และบริเวณโรงเรียนทั้งหมด 
  • สถานที่แหล่งเรียนรู้ต่าง  ๆ  บางครั้งหากการเรียนการสอนมีการออกไปทัศนศึกษา พานักเรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ ครูหรืออาจารย์ต้องติดตามเด็กเพื่อดูความเรียบร้อยด้วย
  • บ้านนักเรียนและผู้ปกครอง ในบางโรงเรียนอาจมีการจัดกิจกรรมเยี่ยมนักเรียนที่บ้าน เพื่อให้ครูอาจารย์ได้สื่อสารถึงผู้ปกครองและเข้าใจถึงความเป็นอยู่และกิจวัตรประจำวันของเด็ก เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนานักเรียนด้วย

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • นักเรียน ครูมีหน้าที่ในการสอนนักเรียน ให้ความรู้ และแนะแนวนักเรียนในเรื่องของการเรียน และการคิดการอ่าน
  • ผู้ปกครองนักเรียน หากนักเรียนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่โรงเรียน ทั้งครูและครอบครัวก็มีหน้าที่หาทางแก้ไขปัญหานั้นให้คลี่คลาย       
  • กระทรวงศึกษา ต้องมีการประเมิน และการปรับหลักสูตรต่างๆ ซึ่งครูแต่ละวิชาต้องทราบว่า วิชาของตนนั้นควรจะมีรูปแบบการเรียนการสอนไปในทิศทางใด
  • ผู้บริหารโรงเรียน  ต้องมีการประชุมและวางแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้นักเรียนและโรงเรียนมีความก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ
  • ครูร่วมวิชาชีพ ภายในโรงเรียนไม่ใช่ที่จะมีครูเพียงคนเดียว ยังต้องมีของชั้นอื่น วิชาอื่นรวมอยู่ด้วยถึงจะเป็นโรงเรียนได้
  • เป็นงานที่สร้างคนให้เป็นคนดี คนเก่ง เพื่อพัฒนาประเทศชาติ จึงถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติเป็นที่นับหน้าถือตา เป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนในสังคม
  • เป็นอาชีพที่ต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพ ได้ใช้ความรู้ความสามารถ รวมทั้งความรักในการเป็นครู เพื่อบ่มเพาะและสร้างคนที่ดี ๆ ให้แก่สังคม
  • หากรับราชการถือเป็นงานที่มั่นคงและมีสวัสดิการที่ดี  

 

  • งานค่อนข้างหนัก ต้องเสียสละและอดทน  
  • ได้รับเงินเดือนน้อย และต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
  • เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเตรียมการเรียนการสอน ทำให้มีเวลาหยุดพักผ่อนน้อย
  • มีจิตวิทยาที่ดี การเรียนรู้ด้านจิตวิทยาพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาชีพที่สร้างคนอาชีพนี้ เพราะครูต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานร่วมกันคนมากมาย หลากเพศ หลายวัย โดยจิตวิทยาจะช่วยให้ครูสร้างศิษย์ให้มีศักยภาพทั้งด้านวิชาการและประสิทธิภาพในการเป็นมนุษย์ 
  • เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เป็นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพครูที่เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สามของนักเรียนที่ต้องคอยให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ลูกศิษย์ 
  • มีความอดทนสูง การทำงานกับคนต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจสูง นอกจากนี้อาชีพครูยังเป็นอาชีพที่หนักหนา เพราะนอกจากจะต้องทำการสอนในห้องเรียนแล้ว งานเอกสารและการจัดการต่าง ๆ ยังมีปริมาณมากและต้องใช้สมาธิและทักษะในการทำงานสูง 

 

  • ทักษะการสื่อสาร ถือเป็นทักษะที่สำคัญที่สุด เพราะการสอนและอบรมบ่มเพาะคนนั้น จะใช้การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ โดยครูจะต้องสื่อสารอย่างเข้าใจถ่องแท้ ไม่ใช่เพียงแต่กับนักเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ปกครองและครูท่านอื่น ๆ นอกจากนี้ ปัจจุบันการรู้จักใช้สื่อ หรือ Media ใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับครูในยุคสังคมดิจิทัลเช่นนี้ 
  • ทักษะการแก้ไขปัญหาดี การทำงานร่วมกับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังมีวุฒิภาวะน้อย อาจเกิดปัญหาหรือสถานการณ์ที่ครูจะต้องแก้ไขอยู่เสมอ ความอดทนและใจเย็น มีสติคิดแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและถูกต้องถือเป็นทักษะสำคัญของครู 
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ ครูควรสามารถ ที่จะพิจารณา เปรียบเทียบ เพื่อการตัดสินใจ การระบุประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพื่อหาทางแก้ไข รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างน่าเชื่อถือ รู้จักตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนคิดต่อยอดความรู้ได้ 
 เรียน ครู

 

       หากสอบไม่ติดสามารถประกอบอาชีพทางการศึกษาได้ เช่น ครูอัตราจ้าง, ครูผู้สอน, ครูโรงเรียนเอกชน และครูสอนพิเศษ และยังสามารถสมัครสอบครูผู้ช่วยได้ในปีถัดไป

 

การศึกษา

       ครูอาจารย์ต้องจบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ที่ได้รับการรับรองจากคุรุสภา ได้รับวุฒิครุศาสตรบัณฑิตพร้อมใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตมีดังนี้

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  • มหาวิทยาลัยบูรพา
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • มหาวิทยาลัยทักษิณ
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • มหาวิทยาลัยนครพนม
  • มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง ทั่วประเทศ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลหลายแห่ง
  • มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  คณะศิลปศึกษา
  • สถาบันการพลศึกษา

 

Hard Skill

  • พัฒนาความรู้ความสามารถในวิชาที่สนใจ รวมทั้งความรู้รอบด้านเพื่อเป็นความรู้ติดตัวในการถ่ายทอดสู่เด็กนักเรียน  
  • ดูตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนจากผู้รู้ ครูอาจารย์ต้นแบบ หรือสื่อช่องทางต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่จัดขึ้นสำหรับครูโดนเฉพาะ
  • ศึกษาเพิ่มเติมด้านจิตวิทยาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นครู 

Soft Skill

  • ฝึกการสื่อสารทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน เพราะการเป็นครูจะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพูดหน้าชั้นเรียน ครูต้องมีทักษะการสื่อสารที่ยอดเยี่ยมรู้จักปรับใช้ให้เค้ากับเด็กแต่ละคนตามความเหมาะสม 
  • ทดลองและทดสอบการวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนทักษะการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น
  • ฝึกฝนด้าน EQ และการจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้านักเรียนแต่ละคนได้ 

กิจกรรมต่างๆ 

  • ในประเทศไทยมีสมาคมวิชาชีพครูที่น้อง ๆ สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ 
  • อ่านบทความหรือติดตามเรื่องราวข่าวสารเรื่องการศึกษา ครู การเรียนการสอนในยุคสมัยใหม่ จิตวิทยา หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ตามช่องทางต่าง ๆ ทั้ง online, podcast , YouTube  
  • ขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์การสอนกับครูอาจารย์ เพื่อให้เห็นบรรยากาศการทำงานของครูทั้งนอกและในห้องเรียน

การสอนให้ศิษย์เป็นคนดี สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ส่วนคุณสมบัติที่ดีของการเป็นครู คือ การรับผิดชอบต่อหน้าที่ สามารถอธิบาย ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนได้ง่าย สอนให้รู้จักคิด เอาใจใส่นักเรียน เข้าใจผู้ปกครอง และที่สำคัญต้องเข้าใจความแตกต่างกันของเด็กแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน


ดร. ศศิธร เขียวกอ ครูสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนพญาไท

 

อาชีพใกล้เคียงหรือมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน อาทิ

  • ติวเตอร์โรงเรียนกวดวิชา
  • เจ้าหน้าที่ศึกษานิเทศก์
  • นักวิชาการ
  • นักการศึกษา
  • เจ้าของโรงเรียน
  • ผู้บริหารสถานศึกษา
  • นักจิตวิทยา

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร