พนักงานฝ่ายบุคคล
พนักงานฝ่ายบุคคล
พนักงานฝ่ายบุคคล
พนักงานฝ่ายบุคคล
รู้จักอาชีพ > นักบริการ (Service) > พนักงานฝ่ายบุคคล

     นอกจากการจัดการทรัพยากรด้านงบประมาณและเวลาแล้ว   สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการองค์กรคือ คน เพราะฉะนั้น งานด้านทรัพยากรบุคคล หรือที่เราเรียกง่าย ๆ ว่า HR จึงเป็นกำลังหลักในการดูแลกำลังคนให้กับองค์กร ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาทำงานจนถึงวันสุดท้าย และเป็นงานที่ต้องเป็นผู้ประสานระหว่างองค์กรและพนักงาน    ในด้านหนึ่ง HR ต้องคอยปกป้องสิทธิประโยชน์ของบริษัทเพื่อให้องค์กรได้รับศักยภาพการทำงานที่ดีจากพนักงาน   โดยการกระตุ้น ผลักดัน และส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ดี อีกมุมหนึ่ง HR คือผู้ที่อยู่เคียงข้างพนักงานที่ควรได้รับสิทธิ สวัสดิการ การดูแลจากบริษัทให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน และได้รับความสะดวกสบายต่างๆ ในการทำงานเพื่อให้พนักงานอยู่ในองค์อย่างมีความสุข

พนักงานฝ่ายบุคคล (HR)
พนักงานฝ่ายบุคคล (HR)
พนักงานฝ่ายบุคคล (HR)

ลักษณะงาน

       งานในฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลจะทำหน้าที่คัดเลือก ตรวจสอบ สัมภาษณ์  และจัดสรรกำลังคนตามตำแหน่ง หน้าที่ที่ต้องการ (Recruitment)   ต้องมีการวางกลยุทธ์  วางแผนกำลังคน   การสร้างความสัมพันธ์กับทุกฝ่ายในองค์กรให้ทำงานอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด (HR Planning) รวมทั้งการวางกลยุทธ์และออกแบบแผนพัฒนาบุคลากรร่วมกับทุกฝ่ายให้มีศักยภาพสูงสุด (Training & Development)  และรักษาพนักงานที่ดีและเก่งเหล่านั้นให้อยู่กับองค์ได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข (Retention) โดยการสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพให้กับพนักงาน (Career Development)  นอกจากนี้ยังรวมถึงการสร้างความสุข แก้ไข ไกล่เกลี่ย และหาทางออกให้กับเรื่องราวปัญหาต่างๆ ในการทำงานของเพื่อนพนักงานด้วย (Employee Relations) เช่น เรื่องหัวหน้า เรื่องเงินเดือน การเติบโตในสายงาน เป็นต้น

       งานด้านฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีหลากหลายประเภท

  • วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล  (HR planning) ทำการวางระบบแบบแผนงานในทุกด้านให้กับฝ่ายบุคคล เช่น การคัดเลือกพนักงาน ดูแลความสัมพันธ์ในองค์กร อบรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่และทำงานร่วมกับฝ่ายวางนโยบาย รวมทั้งจัดทำระบบการจัดการและโครงการต่างๆ
  • คัดเลือกบุคลากร  (Recruitment, Selection & Introduction) ทำหน้าที่จัดหาผู้สมัครงาน คัดสรรและทำการสัมภาษณ์งานในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เปิดรับให้กับองค์กร  พวกเขาค้นหาผู้สมัครโดยการประชาสัมพันธ์ในสื่อออนไลน์ เข้าร่วมงานตลาดจัดหางาน (Job Fairs) หรือตามสถาบันการศึกษาต่างๆ
  • พัฒนาบุคลากร (Training & Development)  ช่วยพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้แก่พนักงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยเสริมสร้างทัศนคติให้แก่ตนเอง เพื่อนร่วมงานและองค์กรด้วย โดยอาจเสาะหาผู้เชี่ยวชาญมาจัดอบรมพนักงานในด้านต่างๆ รวมไปถึงการส่งพนักงานไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ด้วย
  • ระบุและรักษาพนักงานที่โดดเด่นให้ยังอยู่ในองค์กร (Retaining)  การบริหารและโน้มน้าวคนเก่ง เพื่อลดอัตราการลาออกของผู้มีความสามารถในองค์กร ถือเป็นงานที่สำคัญและยากของ HR เลยทีเดียวเพราะองค์กรคาดหวังกับคนเก่งเหล่านั้นที่จะช่วยขับเคลื่อนพัฒนา แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็คาดหวังการดูแล ความก้าวหน้า หรือเงื่อนไขที่องค์กรเองก็ต้องยอมแลกมาด้วยเช่นกัน
  • การประเมินผลงาน (Performance & Reward Management) HR และหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ร่วมกันออกแบบและวางแผนการประเมินผลงานของพนักงานทุกคน   เพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งวิเคราะห์เพื่อสะท้อนภาพการบริหารผลการปฏิบัติงานของพนักงาน และวางแผนการให้รางวัลพนักงาน
  • ดูแลกฎระเบียบและความสัมพันธ์ภายในองค์กร (Rules & Regulations) ออกกฎระเบียบและกำกับดูแลด้านระเบียบวินัย  ให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน จัดทำระเบียบข้อบังคับพนักงาน และสื่อสารให้พนักงานเข้าใจ พร้อมทั้งทำหน้าที่สอบสวนและลงโทษพนักงานหากเกิดการกระทำความผิดขึ้น นอกจากนี้ HR จะเป็นหน่วยงานกลางที่คอยจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายใน (Employee Relations) อาทิ  จัดทำบอร์ดประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ จัดงานเลี้ยงสังสรรค์เนื่องในโอกาสพิเศษต่าง ๆ
  • งานจัดเก็บข้อมูลพนักงานและงานเอกสารต่าง ๆ (Personnel Administration) HR คือผู้ที่ต้องจัดเก็บฐานข้อมูลพนักงานทั้งประวัติส่วนตัวและการทำงาน เงินเดือน พฤติกรรมการขาดลามาสาย ผลการประเมินต่าง ๆ เป็นต้น

 

ขั้นตอนการทำงาน

  • วางแผนด้านกำลังคนที่จะต้องใช้ในแต่ละงาน
  • ติดต่อประสานงานกับนายจ้าง เพื่อรับทราบคุณสมบัติลูกจ้างที่ต้องการ ตรวจสอบประวัติของผู้สมัครงานและเรียกสัมภาษณ์ผู้สมัครหากผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงตามที่นายจ้างต้องการ
  • คอยต้อนรับดูแล จัดงานปฐมนิเทศและให้ความช่วยเหลือพนักงานใหม่ แนะนำสิ่งต่างๆ ให้แก่ผู้สมัคร ทั้งหน้าที่รับผิดชอบ สิทธิประโยชน์ สภาพแวดล้อมการทำงาน
  • จัดเก็บประวัติและข้อมูลต่างๆ ของพนักงาน
  • ในส่วนงานการพัฒนาบุคลากร อาจติดต่อหน่วยงานภายนอก หรือส่งพนักงานเพื่อให้เข้ารับการอบรมฝึกทักษะที่เหมาะกับวิชาชีพเพิ่มเติม
  • วางแผนการประเมินผลงานของพนักงานแต่ละแผนก รวบรวมและวิเคราะห์เพื่อนำเสนอผู้บริหาร และดำเนินการเรื่องให้ผลตอบแทนประจำปีตามคุณภาพการทำงาน
  • ดูแลเรื่องสวัสดิการและผลประโยชน์ตามสิทธิของพนักงานแต่ละคน
  • หากพนักงานมีปัญหาและมีการลาออก HR ที่มองเห็นถึงศักยภาพของพนักงานอาจต้องโน้มนาว ชักชวนหรือยื่นข้อเสนอแก่พนักงาน

       ในการทำงานของ HR นั้น อาจไม่ได้เรียงลำดับอย่างชัดเจนตามขั้นตอนการทำงานข้างต้น เพราะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสถานการณ์ที่พบในแต่ละวัน เช่น การประเมินผลงานอาจจะดำเนินการในช่วงครึ่งปี หรือสิ้นปี แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละองค์กร เป็นต้น

สถานที่ทำงาน

       โดยปกติผู้ทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคล  มักจะทำงานในเวลาปกติของเวลาออฟฟิต และมักจะประจำอยู่ใน office สำนักงานใหญ่   หากองค์กรนั้น ๆ มีสาขาในต่างจังหวัด พนักงานฝ่ายบุคคลอาจจะต้องเดินทางไปเพื่อดูแล ความเป็นอยู่และให้คำแนะนำแก่พนักงาน รวมทั้งจัดการการอบรมสัมมนานอกสถานที่ของทางบริษัทด้วย หรือหากมีการร่วมงานตลาดจัดหางาน (Job Fairs) การเดินทางไปยังสถาบันการศึกษาและไปสัมภาษณ์ผู้เข้าสมัคร

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

       ฝ่ายบุคคลนั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องเจอกับผู้คนที่หลากหลายรูปแบบ โดยต้องวางแผนงานนโยบายร่วมกับผู้บริหารขององค์กร และต้องเป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาให้กับทั้งผู้บริหารฝ่ายต่างๆรวมไปถึงพนักงานในองค์กรในหลากหลายสายงานไป นอกจากนั้นยังต้องพบปะกับผู้สมัครงานหน้าใหม่มากหน้าหลายตาอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นงานที่เจอผู้คนที่หลากหลายมากที่สุดอาชีพหนึ่งเลยทีเดียว

         พนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่สามารถทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบ รู้จักที่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ขององค์กรและเข้าใจกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงนโยบายของบริษัท มีโอกาสในการก้าวหน้าเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลต่อไป

 

 

  • มีโอกาสพบปะผู้คนหลากหลายประเภทได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น
  • ได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถและความคิดที่ไม่หยุดอยู่กับที่
  • ได้มีโอกาสศึกษาความเป็นมนุษย์ รู้จักความต้องการของคน รวมถึงการวางแผนกำลังพลของแต่ละองค์กร ซึ่งเป็นประโยชน์ในด้านธุรกิจ
  • ได้เป็นผู้ให้ และช่วยเหลือผู้คนให้มีความสุขในการทำงาน ภายใต้ขอบเขตอำนาจที่เรามี
  • มีโอกาสเติบโตในเส้นทางสายอาชีพจากองค์กรไปสู่ผู้บริหารระดับสูงได้ เพราะปัจจัยความสำเร็จขององค์กรมาจากการบริหารจัดการคน
  • การได้ทำงานกับคนที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความคิด ทำให้เรารู้จักที่จะพลิกแพลงและมีการทำงานที่ยืดหยุ่น
  • การทำงานกับคนเป็นสิ่งที่ยากมากและไม่มีสูตรตายตัว วิธีแก้ปัญหาอาจจะใช้ไม่ได้กับทุกกรณี เพราะแต่ละบุคคลมีความต้องการที่แตกต่างกันไป  
  • เป็นงานต้องอาศัยศาสตร์และทักษะในความเข้าอกเข้าใจผู้คนสูง และต้องใช้ความอดทนอย่างมาก
  • เป็นงานที่บนอยู่ความต้องการและความคาดหวังของคน ซึ่งมักไม่มีที่สิ้นสุด จึงมักได้รับความกดดันเยอะ รวมทั้งเรื่องเวลาและเงื่อนไขอื่นๆ
  • เป็นงานที่เป็นตัวกลางระหว่างฝ่ายบริหารและพนักงาน จึงต้องตอบสนองทั้งสองฝ่ายอย่างรวดเร็วและรอบคอบ
  • ต้องใช้จิตวิทยาและต้องคอยวิเคราะห์ปัญหาและหาวิธีแก้ไขอยู่เสมอ
  • มีความละเอียดรอบคอบ การจัดการประเมิน ตรวจสอบและทำประวัติต่างๆต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ต้องสามารถดูแลข้อร้องเรียนของพนักงานและแก้ปัญหาให้ตรงตามสิทธิตามที่พนักงานควรได้รับ
  • กล้าตัดสินใจ การตัดสินใจที่เด็ดขาดในการวิเคราะห์ประวัติและคุณสมบัติของผู้สมัคร หรือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงาน
  • ทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี
  • มีความรับผิดชอบสูง
  • ซื่อสัตย์สุจริต
  • แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี
  • ทักษะการสื่อสาร การฟังและการพูดถือเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานนี้ เพราะต้องทำหน้าที่รับส่งข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ทักษะในการปฏิสัมพันธ์ งานตำแหน่งนี้ต้องพบปะผู้คนหน้าใหม่มากมาย ซึ่งภายในองค์กรย่อมมีบุคคลจากพื้นฐานความคิดที่หลากหลายแตกต่าง ทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์จึงจำเป็นอย่างยิ่งกับงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล
  • ทักษะในการบริหารคนและเวลา   ในแต่ละวัน HR อาจได้รับเรื่องด่วนที่ต้องไปทำ และเมื่อเป็นงานเกี่ยวกับคนแล้ว เวลาและความคาดหวังย่อมกดดันให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นทันเวลา การวางแผนการทำงานต่างๆ จึงสำคัญมาก
  • ทักษะการเป็นผู้นำ บ่อยครั้งที่พนักงานต้องพึ่งพาความรู้และความช่วยเหลือจาก HR การเป็นผู้นำ การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาจึงจะช่วยให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี
 เรียน พนักงานฝ่ายบุคคล

การศึกษา

คณะสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพ ได้แก่

  • คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  • คณะศิลปศาสตร์สาขาวิชาบริหารงานบุคคล หรือสาขาวิชาจิตวิทยา
  • คณะรัฐศาสตร์
  • คณะนิติศาสตร์
  • คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ สาขาวิชาการบริหารงานบุคคล
  • คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม

 

Hard Skill

  • ​หาความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของพนักงาน  อาทิ  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน, พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์, พระราชบัญญัติประกันสังคม, พระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน เป็นต้น
  • พัฒนาทักษะการสื่อสาร หัดพูดต่อหน้าผู้คน หรือฝึกการเป็นผู้ฝึกอบรมต่าง ๆ

Soft Skill

  • ทักษะในการปฏิสัมพันธ์ หรือการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
  • พัฒนาทักษะทางอารมณ์ (EQ)
  • พัฒนาทักษะด้านการจัดการเวลาให้ดี

กิจกรรมต่างๆ

  • เข้ารับการอบรมหลักสูตร การบริหารงานบุคคลที่จัดโดยสมาคมการจัดงานบุคคล แห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงแรงงานและ สวัสดิการสังคม  หรือสถาบันอื่นๆ ที่จัดฝึกอบรมเกี่ยวกับงาน HR
  • อ่านบทความหรือติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับงาน HR ตามช่องทางต่าง ๆ ทั้ง online, podcast , youtube 
  • ในประเทศไทย มีสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ที่คอยให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจรวมถึงผู้ที่ทำงานในสายงานบุคคล รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งสถาบันรับรองคุณวุฒิวิชาชีพทรัพยากรบุคคลประเทศไทย (Thailand HRCI) เพื่อวัดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพทรัพยากรบุคคลอีกด้วย

อาชีพใกล้เคียงหรือมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน อาทิ

  • ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากร
  • ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลิกภาพ
  • เจ้าของกิจการ
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร
  • ผู้จัดการหน่วยงาน ร้านค้า หรือองค์กรต่าง ๆ
  • นักการตลาด
  • เจ้าหน้าที่ด้านการเงินการธนาคาร
  • นักจิตวิทยา

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร