ทนายความคือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ว่าความ* แก้ต่างคู่ความในคดี นับได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการยุติธรรม โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นทนายความอิสระ โดยหากมีประชาชน บริษัทหรือองค์กรใดๆ เกิดไม่ได้รับความยุติธรรมขึ้น ทนายจะมีหน้าที่ว่าความเพื่อแก้ต่างในคดีนั้น ๆ ให้ตามข้อกฎหมาย
ทนายจะมีหน้าที่คล้ายคลึงกับพนักงานอัยการ ความแตกต่าง คือ พนักงานอัยการเป็นทนายความของแผ่นดิน ซึ่งได้รับเงินเดือนจากรัฐ แต่ทนายความจะได้รับเงินจากการว่าจ้างจากบุคคลหรือองค์กรทั่วไปในการว่าความหรือการเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
*ว่าความและแก้ต่าง หมายถึง แก้ไขข้อกล่าวหาแทนคู่ความในคดีในชั้นศาลด้วยหลักฐานทางกฎหมาย เช่น ทนายทำหน้าที่ว่าความให้ลูกความของตนเอง เพื่อให้พ้นข้อกล่าวหา
ลักษณะงาน
ทนายความจะทำหน้าที่ว่าความคดีอาญาและคดีแพ่ง ให้คำแนะนำแก่ลูกความเกี่ยวกับปัญหาบุคคลและธุรกิจในแง่ของ จัดการรายละเอียดด้านกฎหมายในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีความแทนลูกความในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งดำเนินการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล งานของทนายความคือการปกป้องคุ้มครองลูกความ(ผู้ว่าจ้างทนาย) ด้วยการชี้แจ้งข้อกฎหมาย เพื่อแสดงให้เห็นว่าลูกความของตนไม่มีความผิด ทนายยังสามารถจำแนกได้อีกหลายสาขา เช่น
- ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม ดูแลคดีและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องทางสิ่งแวดล้อม เช่น ทำงานให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนสิ่งแวดล้อม บริษัทกำจัดขยะหรือหน่วยงานรัฐในการช่วยดูแลข้อกฎหมายต่างๆ
- ทนายความด้านภาษีอากร ดูแลกรณีที่เกี่ยวข้องกับภาษีให้กับบุคคลและบริษัทต่าง ๆ พวกเขาช่วยเหลือลูกความเกี่ยวกับข้อตกลงที่มีความซับซ้อน เพื่อให้ลูกความจ่ายภาษีที่เหมาะสมกับรายได้ กำไรหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มี
- ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทำหน้าที่ด้านกฎหมายการลงทุน ลิขสิทธิ์ การค้าและการฝีมือ เช่น ดนตรี หนังสือและภาพยนตร์
- ทนายความครอบครัว ทำงานด้านกฎหมายในเรื่องภายในครอบครัว พวกเขาให้คำแนะนำลูกความเกี่ยวกับการหย่าร้าง การเลี้ยงดูบุตรและการรับบุตรบุญธรรม
- ทนายความด้านความปลอดภัย ทำงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการซื้อหรือขายหุ้น รักษาและดูแลเอกสารและข้อมูลที่เป็นความลับ
ขั้นตอนการทำงาน
- สื่อสารกับลูกความ เพื่อทำความเข้าใจประเภทของคดีว่าเป็นแพ่ง หรืออาญา มีใครซึ่งมีสถานะใดบ้างที่เป็นคู่กรณี รวมทั้งสอบถามเพื่อนร่วมงาน ผู้พิพากษา และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีทำความเข้าใจและหาหลักฐานเพิ่มเติม
- จัดทำวิจัยและวิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมาย ตีความกฎหมาย คำพิพากษา และระเบียบข้อบังคับ สำหรับบุคคลและบริษัท
- นำเสนอข้อเท็จจริงด้วยหลักฐานและคำให้การของลูกความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางคดีและทำการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางคดีในนามของลูกความ ไม่ว่าสถานะของลูกความของเราจะเป็นโจทก์หรือจำเลยก็ตาม
- หากลูกความเป็นโจทก์ ทนายต้องเตรียมเอกสาร หลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่างคำฟ้องและยื่นฟ้องต่อศาล พร้อมแนบเอกสารที่จำเป็นเพื่อให้ได้รับการพิจารณาโดยง่าย โดยเมื่อเรื่องถึงชั้นศาล ทนายความต้องไปศาลทุกนัดจนเสร็จสิ้นคดี
- ในกรณีที่ลูกความเป็นจำเลย ทนายต้องรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อจำเลย แล้วนำไปพิสูจน์ต่อศาลแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์ โดยเมื่อเรื่องถึงชั้นศาล ทนายความต้องไปศาลทุกนัด ตั้งแต่นัดไต่สวนมูลฟ้อง นัดสืบพยาน จนถึงวันที่ศาลตัดสิน เป็นอันเสร็จคดี
- เมื่อคดีเสร็จสิ้นแล้วก็รับค่าทนายความตามที่ตกลงกันไว้ และห้ามเปิดเผยความลับของผู้ที่ตนว่าความให้ เว้นแต่ลูกความจะอนุญาต
สถานที่ทำงาน
งานของทนายความมีทั้งในสำนักงานและสถานที่อื่นๆ ที่ต้องไปติดต่อประสานงาน
- สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานที่ตนเองสังกัด ในช่วงเวลาที่ไม่ต้องไปประสานงานกับใคร ทนายมักจะทำงานเตรียมเอกสารต่าง ๆ ในสำนักงานของตนเอง
- สถานที่เกิดเหตุ สถานที่สำคัญที่ทนายควรไปด้วยตัวเอง เพื่อสืบหาหลักฐานจากพยาน และข้อมูลต่างๆ
- ศาล บทสรุปกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นที่ศาล ทนายต้องเข้าว่าความแก้ต่างให้แก่ลูกความ รับฟังคำพิจารณาในศาลเป็นส่วนใหญ่
- สถานีตำรวจ ทนายอาจต้องทำหน้าที่ประกันตัวลูกความ ประสานงานกับตำรวจ โดยให้ตำรวจช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบหาหลักฐาน
- โรงพยาบาล หลายครั้งที่คดีอาจมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านนิติเวชในการพิสูจน์ ทนายความจึงอาจต้องประสานงานกับทางโรงพยาบาล เพื่อใบรับรองแพทย์ หรือคำยืนยันจากแพทย์เพื่อประโยชน์ทางคดี
- เรือนจำ บางกรณีที่ลูกความหรือพยานเป็นจำเลยและอาจถูกฝากขัง จึงต้องมีการเดินทางไปเจรจาและสอบถามลูกความที่เรือนจำนั้นแห่งนั้นด้วย
- แหล่งที่พักอาศัยและอื่นๆ ทนายอาจต้องหาหลักฐาน รวบรวมข้อมูลจากที่พักอาศัยของผู้เกี่ยวข้องกับคดีความ
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- ลูกความ ผู้ที่ว่าจ้างให้เราว่าความให้ ไม่ว่าจะในกรณีที่เป็นโจทก์ (ผู้เสียหาย) หรือจำเลย (ผู้ถูกกล่าวหา) ลูกความต้องสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ให้ทนายรับทราบเพื่อหาทางแก้ไขและคืนความยุติธรรมให้แก่ลูกความตามความถูกต้องของกฎหมาย
- อัยการ หากคู่คดีของเราเป็นหน่วยงานรัฐ อัยการจะเป็นผู้ว่าความให้อีกฝ่าย ซึ่งเราต้องต่อสู้ด้วยในชั้นศาล
- ตำรวจ ในขั้นตอนการดำเนินคดี ทนายต้องขอความร่วมมือจากตำรวจ ให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ เช่น ขอดูเอกสารหรือบันทึกประจำวัน เดินทางไปปิดหมายศาลจำเลย ดักจับผู้ต้องหาหรือคุยกับพยาน
- ราชทัณฑ์ ในกรณีที่ลูกความหรือพยานของทนายอยู่ในเรือนจำ ต้องมีการติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ด้วย
- พยาน ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่ทนายความต้องพูดคุยเพื่อให้เกิดประโยชน์กับรูปคดี
- ผู้พิพากษา ในขั้นตอนการสืบคดีและขึ้นศาล ทนายความจะต้องว่าความต่อหน้าผู้พิพากษาที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ ซึ่งเป็นผู้พิจารณาคดีทั้งหมด
ทางเลือกอาชีพ
ทนายความสามารถทำงานได้อย่างหลากหลาย ทั้งสายตรงและสายรอง โดยอาชีพสายตรงของนิติศาสตร์ อาทิ
- ผู้พิพากษา
- อัยการ
- ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (Law Firm) ที่ทำงานในสำนักกฎหมายให้กับองค์กรบริษัทต่าง
- นิติกร คือ เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ส่วน
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
ทนายความเป็นงานอิสระ ไม่ได้มีลำดับการเลื่อนขั้นเหมือนอาชีพในองค์กรอื่นๆ จึงต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ เพื่อเติบโตไปเป็นทนายความมืออาชีพและมือชื่อเสียงจนเป็นที่ยอมรับ หากต้องมีตำแหน่งเติบโต สามารถเลือกจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์หรือที่ปรึกษาทางกฎหมายขององค์กรของรัฐหรือเอกชนได้
นอกจากนี้หากมีความสามารถด้านภาษาและความรู้ทางกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดีอาจได้รับการว่าจ้างให้ว่าความในต่างประเทศ หรืออาจเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเจรจาทางด้านกฎหมาย หรือสิทธิประโยชน์ของประเทศได้อีกด้วย โดยค่าตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้นตามความสามารถและประสบการณ์ของทนายเอง
เงินเดือน
อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยม เพราะสามารถทำรายได้ดีและเป็นอาชีพที่มีเกียรติ โดยผู้ที่เป็นทนายความสามารถทำงานมีเงินเดือนประจำได้หากทำงานเป็นนักกฎหมายในหน่วยงานต่างๆ โดย มีค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 - 30,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความสามารถ ประสบการณ์ และประเภทของหน่วยงาน หากประกอบอาชีพทนายความอิสระ รับว่าความทั่วไป อาจได้รับค่าตอบแทนจากการว่าความร้อยละ 10 - 20 ของทุนทรัพย์ในคดีนั้น ๆ หรืออาจจะได้รับค่าตอบแทนตามแต่จะตกลงกับลูกความ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของทุนทรัพย์ในแต่ละคดี
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับธุรกิจและบุคคล ด้วยเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความชำนาญทางกฎหมาย ความต้องการของอาชีพนี้จึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยดูได้จากคดีที่เกิดขึ้นที่กรมตำรวจ ล้วนแต่ต้องใช้ทนายความเข้ามาช่วยในคดีทั้งสิ้น ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ผ่าน ๆ มา ทนายความมีคดีว่าความมากขึ้น เนื่องจากจะมีคดีฟ้องร้องเรื่องการค้างชำระหนี้ แต่รายได้จากการว่าความไม่ค่อยมากนัก เนื่องจากฝ่ายจำเลยไม่สามารถชำระค่าเสียหายได้ แสดงให้เห็นว่าไม่น่าในภาวะเศรษฐกิจแบบใด ความต้องการทนายความยังคงมีอยู่เสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญความสามารถ และชื่อเสียงของทนายความแต่ละคนด้วย
- ทนายความเป็นอาชีพอิสระ ไม่อยู่ภายใต้คำสั่งของหน่วยงานใดและเป็นเครื่องมือในการผดุงความยุติธรรม ตลอดจนคุ้มครองสิทธิให้กับผู้กระทำความผิด เช่น ในคดีอาญาที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี กฎหมายบังคับว่าต้องมีทนายความเข้ามาช่วยเหลือ
- ทนายความเป็นวิชาชีพผูกขาด หมายถึง ผู้ที่สามารถประกอบอาชีพทนายความได้นั้นต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น คนต่างชาติไม่สามารถเป็นทนายความได้ หมดปัญหาการถูกแย่งอาชีพ
- ทนายความเป็นผู้คานอำนาจรัฐ ( ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ) โดยเฉพาะการว่าความสู้กับพนักงานอัยการในคดีอาญา หรือการฟ้องหน่วยงานรัฐอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดฯลฯสร้างความสมดุลให้กระบวนการยุติธรรม เพราะปัจจุบันศาลไทยใช้ระบบกล่าวหา คือ แบ่งคู่ความออกเป็น 2 ฝ่าย แล้วให้แต่ละฝ่ายเอาพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างหันในศาล ทนายความจึงมีบทบาทในการทำหน้าที่นี้แทนผู้เสียหาย
- รายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากอาชีพทนายความไม่ใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่มีเงินเดือนประจำ รายได้ของทนายความจึงมาจากการว่าความรับคดีเป็นหลัก ประกอบการเงินที่ได้จากการรับเป็นที่ปรึกษาคดีของบริษัท ห้างร้าน
- เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากการทำคดีความแต่ละคดีนั้น ทนายความต้องเจอกับอิทธิพลและแรงกดดันมากมายจากฝ่ายตรงข้าม
- เป็นอาชีพที่ต้องเดินทางตลอดเวลา มีเวลาพักผ่อนน้อย และอยู่กับความเครียดเป็นส่วนใหญ่
- ปริมาณงานค่อนข้างมาก บ่อยครั้งที่ต้องทำงานล่วงเวลา
- ช่างสังเกตและจดจำ คุณสมบัติข้อต้นๆ ของทนายความเพราะมีข้อกฎหมายจำนวนมากที่ต้องจดจำ รวมทั้งการช่างสังเกตก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณเป็นทนายที่ดีได้
- คิดและพูดอย่างมีหลักการและเหตุผล การใช้หลักการและเหตุผลเป็นหลักสำคัญในการทำงานทางด้านกฎหมาย ดังนั้นการทำงานที่มีหลักการและเหตุผลรองรับจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้
- ทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี เวลาและเงื่อนไขต่างๆ ทางกฎหมาย รวมถึงความเดือดร้อนของลูกความ อาจทำให้การทำงานของทนายเกิดความกดดันและความเครียดได้บ่อยครั้ง
- มีความรับผิดชอบสูง ทนายความเป็นอาชีพที่มีหน้าที่หลายอย่างดังนั้นความรับผิดชอบทั้งด้านเวลาและเนื้องาน การจัดเตรียมเอกสาร ข้อมูลต่างๆ รวมทั้งสิ่งพูดหรือเขียนลงไปล้วนมีผลทางกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อรูปคดีและลูกความของเราอย่างแน่นอน
- กระตือรือร้น ชอบหาความรู้ใหม่ ๆ หากเป็นคนใฝ่หาความรู้ หากได้ติดตามข่าวสารด้านกฎหมาย อาชญากรรม หรือกฎหมายใหม่ ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ จะช่วยพัฒนาการทำงานด้านนี้ได้มากยิ่งขึ้น
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทนายความทำหน้าที่ช่วยลูกความแก้ไขปัญหา พวกเขาต้องวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก ตัดสินใจตามข้อเท็จจริงและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา
- ทักษะการสื่อสาร ทนายความต้องให้ความเคารพความเป็นส่วนตัว ให้ความเชื่อมั่นกับลูกความและทำให้ลูกความความสบายใจในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับคดีความ
- ทักษะการแก้ไขปัญหา ทนายความต้องแยกแยะอารมณ์ส่วนตัวและไม่มีลำเอียงกับปัญหาของลูกความ โดยให้ความยุติธรรมในการประเมินผลข้อมูล การแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทนายความ เพื่อให้การแนะนำที่ดีที่สุดในการปกป้องลูกความ
- ทักษะการค้นคว้าข้อมูล ทนายความต้องมีความสามารถในการค้นคว้าข้อกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ในการเตรียมคดี และการให้คำปรึกษาทางกฎหมายที่เหมาะสมแก่ลูกความ
- ทักษะการพูด ทนายความต้องสามารถนำเสนอได้อย่างชัดเจนและอธิบายให้กับผู้พิพากษาหรือผู้ไกล่เกลี่ย เพราะต้องเป็นตัวแทนของลูกความ ดังนั้น ศิลปะในการพูดจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ
- ทักษะการเขียน ทนายความต้องมีความแม่นยำในการเตรียมข้อมูล การร่างคำฟ้องหรือเอกสารต่างๆ ของทนายนั้น การเขียนและการใช้ถ้อยคำภาษาทางกฎหมายที่ถูกต้องและชัดเจน จึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในการประกอบวิชาชีพกฎหมาย
การศึกษา
ผู้ที่สนใจอาชีพทนายความ หากศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาจะเป็นแผนการเรียนสายใดก็ได้แล้ว ในส่วนของสายวิชาชีพ ปวช. หรือ ปวส. จบการศึกษา ทนายความเป็นหนึ่งในอาชีพของนักกฎหมาย และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ผู้ที่ประกอบอาชีพทนายความต้องจบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์หรือเทียบเท่า โดยได้รับวุฒิการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต (นต.บ.) เท่านั้น
ผู้ที่ประกอบอาชีพทนายความควรที่จะศึกษาข้อกฎหมายอยู่เสมอ เพราะทนายความต้องแก้ต่างแทนลูกความ จึงต้องมีความรอบรู้เรื่องกฎหมายเป็นอย่างมาก เพื่อมองหาช่องโหว่ ตีความตัวบทสำหรับปกป้องลูกความ นอกจากนี้ จะต้องหมั่นเพิ่มทักษะในการวิเคราะห์สถานการณ์หรือเหตุการณ์ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อเป็นประโยชน์ในการว่าความให้ลูกความ และเป็นการพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆ กัน
Hard Skill
- ทดลองอ่านข้อกฎหมายและทำความเข้าใจ เพื่อเป็นการฝึกความจำและศึกษาหาความรู้เบื้องต้น หมั่นฝึกอ่าน และเขียน โดยเฉพาะบริบทที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
- หมั่นฝึกฝนทักษะการพูด เพราะทนายความจะต้องพูดต่อหน้าศาลและผู้คนจำนวนมากได้อย่างมีหลักเหตุผลและน่าเชื่อถือ
Soft Skill
- พัฒนาทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการพูดและการเขียน เพราะเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับอาชีพทนายความ
- ลองทดลองสังเกตผู้คนและเกตุการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างนิสัยเป็นคนช่างสังเกต
กิจกรรมต่างๆ
- ลองเข้ามาฝึกงานกับโครงการ ทำ ก่อน ฝัน ของทรูปลูกปัญญาที่เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ฝึกงานจริงกับพี่ ๆ นักกฎหมายมืออาชีพ ลองดูได้ที่ รวมบรรยากาศฝึกงานอาชีพนักกฎหมาย
- อ่านบทความหรือติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับงาน ทนายตามช่องทางต่าง ๆ ทั้ง online, podcast ต่างๆ หรือแม้แต่ภาพยนตร์และซีรีส์ต่างประเทศที่ให้ทั้งความรู้ด้านกฎหมายและความบันเทิงมากมาย โดยเราได้รวบรวมซีรีย์เกี่ยวกับทนายที่น่าสนใจมาให้แล้ว >> รวมซีรีย์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพทนายความ
- ในประเทศไทย มีสภาทนายความ ซึ่งรวบรวม ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ด้านกฎหมายและงานทนายความให้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้
- เข้าเป็นส่วนหนึ่งในชมรม ALSA (Asian Law Student’s Association) เป็นชมรมที่มีสาขามากมายหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยทางชมรมจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การเยี่ยมชมสำนักงานทนายความ หรือบริษัท Law Firm กิจกรรมทัศนศึกษาหรืออบรมในต่างประเทศ
คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ
เสน่ห์ของวิชาชีพทนายความคือการได้ใช้ปฏิภาณไหวพริบ ใช้ความรู้ทางด้านกฎหมายที่เรียนมาในการว่าความในศาล ซักความ ซักพยาน และการใช้พยาน
เป็นอาชีพที่ดึงเกือบทุกทักษะวิชาชีพเข้ามาใช้ โดยผู้ที่เป็นทนายความต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าคิด กล้าทำ กล้าต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ช่างสังเกต
ต้องมีหลักในการคิดเจรจาและมีความเป็นธรรมเป็นหลักสำคัญ
คุณศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ทนายความ
ติดตามเรื่องราวของอาชีพทนายความได้ใน "รายการ I AM : Lawyer ทนายความ"
วิชาที่เรียน
วิชาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และแทบจะมีเปอร์เซ็นต์เยอะที่สุดที่ต้องเรียน คงหนีไม่พ้นวิชากฎหมายต่าง อาทิ
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์(Civil Law and Commercial Law) ประกอบไปด้วย กฎหมายลักษณะบุคคล เช่น การเกิด บรรลุนิติภาวะ การใช้สิทธิ กฎหมายลักษณะครอบครัวและมรดก กฎหมายทรัพย์กับสัญญา กฎหมายลักษณะหนี้ กฎหมายนิติกรรม-สัญญา จนไปถึงวิชาเกี่ยวกับสัญญาเฉพาะเรื่อง เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า เป็นต้น
- กฎหมายอาญา(Criminal Law) กฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและโทษที่จะได้รับ แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคทั่วไป เป็นลักษณะการกระทำแบบใดที่จะเรียกว่ามีเจตนาหรืออประมาท เหตุยกเว้นความผิดและเหตุบรรเทาโทษ ฯลฯ ส่วน ภาคความผิด จะเรียนพวกความผิดเฉพาะต่าง ๆ
- กฎหมายวิธีพิจารณาความ(Procedural Law) กฎหมายว่าจะฟ้องคดีอย่างไร ที่ศาลไหน มีวิธีกระบวนการดำเนินคดีในศาลอย่างไร
- กฎหมายมหาชน(Public Law) เน้นทฤษฎีกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง ฯลฯ
- กฎหมายระหว่างประเทศ(International Law) เช่น แผนกคดีเมืองกับแผนกคดีบุคคล กฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ กฎหมายเกี่ยวกับทะเล ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีวิชาเลือกเรียนได้ เช่น กลุ่มกฎหมายธุรกิจ เช่น กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายธนาคารและหลักทรัพย์ กฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือกลุ่มของกฎหมายมหาชน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับศาลปกครอง กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญชั้นสูง ฯลฯรวมถึงกฎหมายล้มละลาย กฎหมายที่ดิน กฎหมายวิธีพิจารณาคดีคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายสหภาพยุโรป กฎหมายประกันภัย ฯลฯ
เคล็ดลับการเรียน
การเรียนกฎหมายนอกจากความจะเป็นเรื่องสำคัญแล้ว แต่เมื่อจำได้แล้ว “ความเข้าใจกฎหมาย” ต่างหากที่สำคัญยิ่งกว่า หากนักศึกษาเข้าใจในหลักเกณฑ์ ทฤษฎี องค์ประกอบ ที่มาที่ไป ไม่ใช่แค่เพียงตัวบทหรือถ้อยคำในมาตราเท่านั้น จะทำให้เส้นทางสู่อาชีพด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นทนายความหรืออาชีพอื่นๆ ย่อมสบายขึ้นอีกเป็นกอง และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกเรื่องของชีวิตการเรียนนิติศาสตร์ นั่นคือ การอ่านหนังสือ เพราะเป็นคณะทีต้องอ่านหนังสือจำนวนมาก โดยเฉพาะหนังสือกฎหมาย ซึ่งต้องอยู่ในชีวิตของนักศึกษานิติศาสตร์ไปตลอดหลักสูตร
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
- ปี 1 เริ่มศึกษาความรู้เบื้องต้นทางกฎหมาย วิชากฎหมายพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อปูพื้นก่อนเรียนวิชาต่อยอดในปีถัด ๆ ไป เช่น กฎหมายมหาชนเบื้องต้น กฎหมายลักษณะบุคคล กฎหมายลักษณะครอบครัว กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายลักษณะทรัพย์ เป็นต้น
- ปี 2 จะยังคงมีทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก โดยจะเริ่มลงลึกในด้านต่างๆ ของกฎหมายแพ่งและอาญา เช่น ลักษณะหนี้ สัญญาเฉพาะเจาะจง เรียนกฎหมายอาญาเฉพาะความคิดที่ลงลึกมากยิ่งขึ้น วิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองและคดีบุคคล กฎหมายปกครอง วิชาเลือกมีภาษาต่างประเทศให้เลือก รวมทั้งบัญชีหรือเศรษฐศาสตร์สำนักกฎหมายด้วย
- ปี 3 ปีนี้จะสามารถเลือกเรียนสายกฎหมายชนิดต่างๆ เพื่อจะต่อยอดได้ เช่น กฎหมายแพ่งและอาญา กฎหมายธุรกิจ กฎหมายมหาชน และกฎหมายระหว่างประเทศ และในปีนี้ยังต้องเรียน กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน กฎหมายภาษี เป็นต้น
- ปี 4 ปีสุดท้ายจะมีการเรียน นิติปรัชญาและวิชาเลือกตามที่สนใจแต่ในเชิงลึกมากขึ้น แล้วแต่ว่านักศึกษาจะเลือกเรียนกฎหมายในสายใด
อยากทำความรู้จักกับคณะนี้มากขึ้น อ่านเพิ่มเติมได้ที่ รีวิว นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
ประมาณการค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ประมาณ 120,000 – 140,000 บาท
ทุนการศึกษา
- ศึกษาต่อต่างประเทศ ทุน Chevening
มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
- Faculty of Law, University of Cambridge
- Harvard Law School, Harvard University
- Faculty of Law, University of Oxford
- Department of Law, London School of Economics and Political Science
- Yale Law School, Yale University
- Stanford Law School, Stanford University
- University of Chicago Law School
- NYU School of Law, New York University
- Melbourne Law School, University of Melbourne
- UC Berkeley School of Law, University of California
ที่มา: https://www.timeshighereducation.com, https://ceoworld.biz
อาชีพใกล้เคียงหรืออาชีพที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกับทนายความ อาทิ
- ตำรวจ
- พนักงานสอบสวน
- ปลัดอำเภอ
- นักการเมือง
- เจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้สิน
- เจ้าหน้าที่การเงิน
- ครูหรืออาจารย์ด้านกฎหมาย
- นักวิเคราะห์นโยบายและแผน
- งานข้าราชการอื่น ๆ ที่เปิดรับวุฒิทางด้านนิติศาสตร์
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร