Classroom : เรียนสังคม-ไทยด้วยภาพกับครูพี่หมุย ตอน เงือก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 16.3K views



กลายเป็นประเด็นร้อนในสหรัฐอเมริกาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ภายหลังจากสารคดี Mermaid: the Body Found ถูกเผยแพร่ในช่อง Discovery Channel อ้างว่าได้พบร่างที่เชื่อได้ว่าเป็น “เงือก” สัตว์ครึ่งมนุษย์ที่ปรากฏในตำนานเรื่องเล่าไปทั่วโลก

ซากของเงือก (ภาพ 1.1) ดังกล่าวถูกพบในท้องของปลาฉลามริมชายหาดที่ประเทศบราซิล ลักษณะของซากปรากฏร่างครึ่งบนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกะโหลกคล้ายกับลิง แต่กลับมีครึ่งล่างที่คล้ายกับปลาโลมา ซึ่งสารคดีดังกล่าวเชื่อว่าเงือกมีบรรพบุรุษร่วมกับมนุษย์เรานี้เอง โดยอาจเป็นลูกหลานของลิง (โฮมินิด) ที่อยู่ติดชายทะเลที่ได้วิวัฒนาการให้สามารถอยู่ในน้ำได้นานขึ้น จนมือและเท้ากลายสภาพเป็นครีบและสามารถหายใจในน้ำได้ เหมือนกับภาพจำลองที่สารคดีดังกล่าวสร้างขึ้น (ภาพ 1.2)



ภาพ 1.1

หลักฐานต่างๆ ที่สารคดีนี้นำเสนอทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วสหรัฐอเมริกา จนทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชนว่า “เราไม่พบหลักฐานการมีอยู่ของเงือก” แต่แถลงการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อครับ

หากมองย้อนกลับไปในอดีต ความเชื่อเรื่องเงือกปรากฏอยู่ในอารยธรรมโบราณมากมาย ตั้งแต่ยุโรป อียิปต์ หรือแม้กระทั่งประเทศไทย สำหรับประเทศไทย เงือกเป็นสัตว์ในนิยาย ตามเรื่องที่เล่ากันต่อๆ มาว่า เงือกมีหน้าเล็กกลมเท่างบน้ำอ้อย มีผู้ที่เคยเห็นโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงท่อนบน เป็นผู้หญิงผมยาว จึงเชื่อกันว่าท่อนล่างคงเป็นปลาเพราะอยู่ในน้ำ



ภาพ 1.2


ในวรรณคดีไทยก็กล่าวถึงเรื่องเงือกไว้เช่นกัน เช่น เรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เงือกพ่อแม่และลูกสาวช่วยพาพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร ต่อมาเงือกลูกสาวมีลูกกับพระอภัยมณีชื่อสุดสาคร

คำว่า “เงือก” ยังปรากฏในเรื่อง ลิลิตพระลอ หมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่งใช้คู่กับคำว่า “งู” ในข้อความตอนบรรยายกองทัพผีที่ปู่เจ้าสมิงพรายส่งเข้ามาในเมืองของพระลอว่า “ตัวขุนให้ขี่ช้าง บ้างขี่เสือขี่สีห์ บ้างขี่หมีขี่หมู บ้างขี่งูขี่เงือก”



ทั้งนี้ คำว่าเงือกน่าจะเป็นคำไทย จากหลักฐานที่พระยาอนุมานราชธนทรงค้นคำว่าเงือก ในภาษาไทต่างๆ พบว่าในภาษาไทอาหม เงือกแปลว่าสัตว์น้ำในนิยาย หรือนาคน้ำ ในภาษาไทใหญ่ เงือกแปลว่าจระเข้ ในภาษาไทขาว เงือกแปลว่างู ที่ปรากฏในนิยายว่าอยู่ตามห้วย

ชมคลิปแบ่งปันโดยครูพี่หมุยเพิ่มเติมได้ที่ https://www.trueplookpanya.com/plook/classroom_25
ที่มา: นิตยสาร plook ฉบับที่ 25 มกราคม 2556