Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตอบข้อปุจฉา จากเมตตาพระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ ตอนที่ ๒

Posted By Plook Creator | 11 มิ.ย. 67
434 Views

  Favorite

“... เขาทุกข์เรื่องอะไร แล้วเราสามารถที่จะแก้ให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้นได้นี่ มันก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลคนนั้นด้วย แก่สังคมด้วย ...”

พระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ
โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม

 

             จากชายหนุ่มเพิ่งสำเร็จการศึกษา ผู้ตั้งใจจะอุปสมบทอุทิศกุศลแก่บุพการีเพียง ๓ เดือนก่อนเริ่มชีวิตการทำงาน สู่ความตระหนักแรงกล้าในคุณค่าแห่งพระบวรพุทธศาสนา จนครองเพศบรรพชิตมายาวนานถึงกว่า ๓ ทศวรรษ ผ่านการศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างมากมายหลายแนวทาง กระทั่งสามารถแสดงบทบาททางวิชาการได้ในระดับสูง ควบคู่กับการปกครองคณะสงฆ์ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเขาวัง พระอารามหลวง จังหวัดราชบุรี

             อย่างไรก็ตาม ดังได้กล่าวไว้ในตอนที่ ๑ แล้วว่า พระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ มิได้มีเพียงความรู้กว้างขวางในทาง “ปริยัติ” คือในการศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น หากท่านยังเป็นผู้ “ปฏิบัติ” กระทั่งสามารถเผยแผ่สั่งสอนด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานและการเจริญสติภาวนามาอย่างต่อเนื่อง

             ปริยัติและการปฏิบัติของท่าน ดำเนินควบคู่กันมาอย่างไร สิ่งใดเป็นเหตุปัจจัยของสิ่งใด ฯลฯ เหล่านี้คือประเด็นปุจฉาที่ทีมงานโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ได้ถวายไป และพระอาจารย์ก็ได้เมตตาวิสัชชนาเป็นลำดับอย่างถี่ถ้วน

             “... การเรียนปริยัติธรรมก็เป็นเหมือนกับเข็มทิศ เราเรียนแล้วเราปฏิบัติด้วย มันก็จะไม่หลงทาง และเราเรียนพระวินัยเพื่อมารักษาตัวเองให้มีศีลที่บริสุทธิ์ เราทำสมาธิอบรมจิต จิตเราก็จะเป็นสมาธิได้เร็ว มันก็เกื้อกูลกัน เมื่อเราไปศึกษาอะไร มันก็ทำให้เราเห็นอุปสรรคปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง เราจะทำวิจัย มันจะเห็นแนวทางวิธีการทะลุไปเลยว่า เราจะไปอย่างไร สเต็ปที่หนึ่งที่สองที่สาม มันก็จะไปได้เร็ว การที่เรามีสมาธิดี จะทำให้การทำงานหรือว่าการศึกษาเล่าเรียนนี่มันจะเป็นไปได้ ไม่ค่อยมีอุปสรรคมาก ทั้งที่เราทำงานหลายด้าน แต่ระยะเวลาในการเรียนก็จะสั้น อย่างเช่น ตอนเรียนชั้นปริญญาโท อาตมาใช้เวลาแค่ ๑ ปี ๙ เดือนเองนะตอนนั้น ในการทำวิจัยซึ่งเป็นวิจัยที่ยาก เป็นเชิงทดลองด้วย แล้วก็ทำกับกลุ่มที่ยากด้วย ก็คือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ มันเป็นวิจัยที่ค่อนข้างยากหน่อย แต่ก็ลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว

 

พระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ
โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม

 

              สำหรับการสอน เราต้องสอนสิ่งที่เรามีความรู้ แล้วก็มีประสบการณ์ อย่างเช่นเราจะสอนเรื่องการทำสมาธิ แต่เราไม่เคยนั่งสมาธิ เราก็จะสอนได้ไม่ดีเพราะเราไม่มีประสบการณ์ในเรื่องปัญหาอุปสรรคที่เราต้องเจอมา การที่เราได้เคยทำสมาธิ เคยผ่านประสบการณ์นี้มา เราก็จะรู้ว่าคนที่เริ่มปฏิบัติใหม่ ๆ นี่มีอุปสรรคอะไร มีปัญหาอะไร และเราก็จะไปแก้ไขตรงนั้นได้ตรงจุด ได้ง่ายขึ้น มันก็ย่นระยะเวลาที่คนซึ่งเข้ามาปฏิบัติก็จะได้เห็นผลเร็วขึ้น ไม่ต้องลองผิดลองถูกเหมือนกับเราที่เคยลองผิดลองถูกมา ...”

             เพราะการฝึกปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ เป็นสิ่งที่ศาสนสถานจำนวนไม่น้อยจัดให้สาธุชนผู้สนใจในรูปแบบและความยาวที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย ทีมงานโครงการฯ จึงได้ถวายปุจฉาขอคำชี้แนะในเรื่องนี้  

             “... สิ่งนี้แล้วแต่บุคคล สำหรับคนที่ฝึกฝนใหม่จริง ๆ นี่ อาจจะต้องลองมาเรียนรู้ก่อน อย่างน้อยสักสามวันก่อน ให้รู้ว่าเราถูกกับการปฎิบัติอย่างนี้ไหม ถ้าเรารู้สึกว่า เออ เราปฏิบัติแล้วเรามีสติมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้นอะไรอย่างนี้แล้ว เราจึงค่อยเพิ่มจำนวนวันขึ้นไป ถ้าเราเริ่มจากไปเข้าคอร์สยาวเลย สักเจ็ดแปดวัน สิบวัน อย่างนี้ บางทีจิตมันจะดิ้นรน เพราะเราไม่เคยปฏิบัติมา แต่ตามความเป็นจริงถ้าให้ได้ผลดี อย่างน้อยควรต้องประมาณเจ็ดวันขึ้นไปสำหรับคอร์สระยะสั้นนี่นะ เจ็ดวัน ซึ่งจะช่วยให้สติเราต่อเนื่อง

             การปฏิบัติมีหลายอย่างหลายวิธี มีทั้งสมถกรรมฐานซึ่งทำจิตให้สงบ และวิปัสสนากรรมฐานซึ่งคือการพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา บางคนก็ชอบสมถกรรมฐาน ให้จิตเราสงบเย็นมีความสุขก็พอแล้วนะบางคนน่ะ หรืออยู่ทางโลกนี่จิตมันวุ่นวายสับสน แค่จิตเราได้มีสมาธินิดหนึ่งก็ดีแล้ว ก็อาจจะเหมาะกับการเจริญสมาธิกรรมฐาน แต่ถ้าบางคนต้องการที่จะเกิดปัญญา  สามารถที่จะรู้เท่าทันอารมณ์ และอารมณ์มันดับไปได้นี่ เราก็จะไม่ทุกข์ในปัจจุบัน บางคนอารมณ์มาแล้วแต่เราไม่รู้จักวิธีการที่จะกำหนดรู้มัน เราก็อาจจะใช้วิธีการข่ม ก็คือไม่แสดงออก ให้มันอยู่ในใจเรา แต่ว่าไอ้ความโกรธหรืออะไรที่อยู่ในใจนั้นมันยังไม่หาย ซึ่งการข่มใจน่ะมันมีขีดจำกัด ถ้าหากว่าข่มไม่ไหว มันก็จะระเบิดออกมา ก็อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือเสียหายได้ การปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยให้เราจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น เราก็จะไม่ไปทุกข์กับมัน ก็จะปล่อยวางอารมณ์นั้น ๆ ได้ ทำให้แต่ละวันเราก็จะมีความสุขในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ...”

             เพราะบทบาทของพระอาจารย์ในโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรมนั้น คือการสอนสามเณรซึ่งเป็นเด็ก ขณะที่การสอนปฏิบัติที่พระอาจารย์กระทำอยู่ตลอดทั้งปีนั้น แทบทั้งหมดจัดขึ้นเพื่อสอนผู้ใหญ่ ทีมงานโครงการฯ จึงได้ถวายปุจฉาในเรื่องของวัย กับความยากง่ายในการฝึกฝนปฏิบัติขัดเกลาตัว

พระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ
โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม
พระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ
โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม

 

             “... สอนวัยผู้ใหญ่นั้นสอนง่าย แต่ว่าบางทีพื้นฐานที่เขาสั่งสมมาก็เป็นอุปสรรค เช่น สมมุติว่าเขาเคยปฏิบัติด้านสมถกรรมฐานมา ทีนี้พอจะปรับเปลี่ยนมาเป็นวิปัสสนากรรมฐานนี่ เดิมมีของเก่าอยู่อีกอย่าง ถ้าเขาไม่ลบหรือวางไว้ก่อน มันก็จะเป็นอุปสรรคในการจะต่อยอดขึ้นไป แต่ถ้าสอนเด็กที่เขาเริ่มใหม่ ๆ เขาไม่ได้มีพื้นฐานอะไร สอนแล้วเขาทำตาม มันก็ง่าย การเริ่มที่จะฝึกให้เขาเดิน มันก็จะไปตามที่เราบอกได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ผู้รับด้วย ถ้าผู้รับสนใจ ผู้ส่งสารนี่เต็มใจเต็มที่ เพราะมันจูนกันแล้ว มันก็ไปได้ง่าย ...”

             พระอาจารย์บอกเองว่าการสอนเด็กนั้นไม่ง่าย ทั้งเมื่อคราวที่ทีมงานโครงการฯ ไปนิมนต์พระอาจารย์มาร่วมสอนสามเณรครั้งแรกในปีที่ ๙ นั้น พระอาจารย์ก็ได้ปฏิเสธในเบื้องต้นจากความไม่ชำนาญในการสอนผู้เยาว์ หากในที่สุด พระอาจารย์ก็เมตตารับนิมนต์อย่างต่อเนื่องจากปีที่ ๙ สู่ปีที่ ๑๐ ปุจฉาประเด็นท้ายสุดที่ทีมงานได้ถวายแก่พระอาจารย์ จึงเป็นเรื่องของคุณค่าที่ท่านมองเห็นจากการรับนิมนต์ ทั้งต่อตัวสามเณรผู้ร่วมโครงการ และต่อผู้ชมทางบ้านที่ติดตามอย่างต่อเนื่อง

             “... การที่เราได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กนั้น เขาก็อาจจะยังไม่นิ่ง อาจจะติดความเคยชิน ยังไม่ได้มีสมาธิมาก แต่พอเราได้มอบประสบการณ์ด้านธุดงค์ มันก็จะช่วยหล่อหลอมให้เขามีสมาธิมากขึ้น การที่เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการปรุงแต่ง จิตใจจะไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติ จิตมันก็หยาบกระด้าง แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ จิตจะอ่อนโยนลง แล้วเราได้เพิ่มเติมในเรื่องของการมีสมาธิ การฝึกสติ มันก็ช่วยให้เขาเกิดพัฒนาการที่ดีขึ้น ดังนั้นถ้าหากว่าผู้ใหญ่สามารถที่จะเอาสิ่งเหล่านี้ไปเสริมให้เด็กได้มากเท่าไหร่ มันก็จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เขาได้เอาไปใช้ในอนาคตมากขึ้น ก็เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย ...”

พระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ
โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม

 

พระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ
โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม

 

             ผู้ติดตามโครงการฯ ย่อมทราบกันดีว่า ไม่ว่าคณะพระอาจารย์จะอบรมสั่งสอนขัดเกลาอย่างจริงจังต่อเนื่องเพียงใด ก็ใช่ว่าสามเณรทุกรูปจะสามารถ “สะอาด สว่าง สงบ” ได้ทัดเทียมเสมอกันทั้งหมด การกำหนดใจยอมรับในข้อเท็จจริงนี้ของพระอาจารย์ จึงเป็นประเด็นปุจฉาทิ้งท้าย

             “... วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ มีอย่างหนึ่งว่าจะคัดเลือกสามเณรที่เป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่มบุคคลเข้ามา แล้วก็จะสื่อสารธรรมะผ่านสามเณรถ่ายทอดไปยังผู้ชม ดังนั้น สามเณรแต่ละรูปจึงอาจจะมีบุคลิกที่แตกต่างกัน ก็อาจจะไม่เป็นไปตามใจเราว่า โลกนี้ควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

             ถ้าเราไปคาดหวังว่าสามเณรทุกรูปจะต้องทำได้ตามที่เราคาดหวังไว้ พระพุทธเจ้าบอกว่าเราคาดหวังสิ่งใด หากไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ พระองค์ให้เราอยู่กับความเป็นจริง อยู่กับปัจจุบันว่า คนมีความแตกต่างกันด้วยกรรมที่เราแต่ละคนสั่งสมมา บางคนอาจจะละเอียด บางคนอาจจะหยาบ บางคนอาจจะกลาง ๆ ความหลากหลายนี้เรียกได้ว่า อาจจะเป็นสีสันของแต่ละสามเณรแต่ละรูปที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการฝึกสอนก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังเลยก็ได้ ...

             ... เราต้องยอมรับความเป็นจริงตามที่ปรากฏมา ธรรมะจะหล่อหลอมแต่ละคนได้มากเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่เข้ามาศึกษา ไม่ใช่ว่าพระพุทธศาสนาต้องทำให้ทุกคนดีได้เต็มร้อยหมด อาตมาชอบเรื่องในมิลินทปัญหาที่ว่า บุคคลหนึ่งมีตัวเปื้อนโคลน แล้วไปเจอบ่อน้ำที่ใสสะอาด ไปถึงบ่อน้ำก็ยืนดูที่ขอบบ่อ แล้วก็บอกว่า เฮ้ย บ่อน้ำนี้ไม่เห็นศักดิ์สิทธิ์เลย ไม่เห็นสามารถทำเนื้อตัวของข้าพเจ้าให้สะอาดได้เลย แล้วก็เดินไปเที่ยวบอกว่าบ่อน้ำไม่ดี

             คนที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา จะต้องลงแช่เลย ขัดสีฉวีวรรณให้สะอาดแล้วก็ขึ้นมา นั่นแหละ พระพุทธศาสนาถึงจะช่วยให้บุคคลนั้นมีความบริสุทธิ์ สามเณรก็เหมือนกัน เข้ามาแล้วบางคนอาจจะไปอยู่ที่ขอบ ๆ ยังไม่ได้ลงไปมาก แบบว่าอาจจะลงน้ำนิดหน่อยน่ะ ส่วนบางคนเขาลงไปเลย โดดลงไปขัดสีฉวีวรรณสร้างความสะอาดด้วยความบริสุทธิ์

             สามเณร ๑๒ รูปนี่ อาจจะมีความบริสุทธิ์สะอาดไม่เท่ากัน นั่นแหละคือความจริง ก็ต้องยอมรับความจริงนี้ ...”

 

พระมหาภูมิชาย อคฺคปญฺโญ
โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม

 

             กว่าจะมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าผู้อ่านทุกคนจะได้รู้จัก รวมทั้งใคร่ครวญเลือกซึมซับรับเอาแง่คิดมุมมองของพระอาจารย์ภูมิชาย อคฺคปญฺโญ ไว้ไตร่ตรองปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้มากมายหลายด้าน

             หรือจะให้ดี เราขอแนะนำ ณ จุดนี้ว่า ขอเชิญผู้อ่านลองดูโครงการฯ ย้อนหลังอีกครั้ง ในช่วงฝึกปฏิบัติธุดงควัตรของสามเณรทั้งปี ๙ และ ๑๐ ซึ่งล้วนอยู่ภายใต้การนำอบรมสั่งสอนโดยพระอาจารย์ภูมิชาย

             บางทีเมื่อดูซ้ำอีกครั้ง ผู้ชมอาจเห็นได้แจ่มชัดยิ่งกว่าเดิม ถึงแง่งามตามวิสัชนาจากพระอาจารย์ทั้งหมดนี้

 

บทความโดย  :   คุณนิธิ วติวุฒิพงศ์

 

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 0 Followers
  • Follow