นอกจากนี้ การจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนก็นับเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้นักเรียนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ เพราะบางทีใช้ระบบการถ่ายทอดความรู้แบบเดิมโดยไม่มีปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย อาจไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนสมัยใหม่ จึงส่งผลให้นักเรียนเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ จนส่งผลให้เรียนรู้ต่อไปได้ยาก
สำหรับการเรียนคณิตศาสตร์ในห้องเรียนนั้น ปกติแล้วในชั้นเรียนจะมีทั้งนักเรียนที่เรียนรู้ได้ดี เรียนรู้ได้บ้าง และมีปัญหาในการเรียนรู้ ปะปนกันไป สำหรับนักเรียนที่เรียนรู้ได้ดีนั้น นับเป็นประโยชน์ของครูผู้สอน เพราะแค่แนะนำ นักเรียนก็สามารถเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างดี ในขณะที่ นักเรียนที่เรียนรู้ได้บ้าง และที่มีปัญหาในการเรียนรู้อาจต้องเข้าไปให้คำปรึกษาและให้การช่วยเหลือ ซึ่งต่อไปคือแนวทางที่สามารถช่วยให้นักเรียนที่เรียนรู้ได้บ้างและมีปัญหาในการเรียนรู้ สามารถที่จะตามทัน และเรียนรู้ในเรื่องของคณิตศาสตร์ได้เต็มศักยภาพมากขึ้น
การสอนแบบตัวต่อตัวนั้น คือวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในเนื้อหาวิชาได้ง่าย โดยไม่จำกัดเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เพราะครูผู้สอนสามารถพุ่งประเด็นไปที่การอธิบายในส่วนที่นักเรียนไม่เข้าใจได้โดยตรงแบบตัวต่อตัว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสอนและการใช้เวลาที่มากขึ้นิย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การอธิบายโดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น การสอนให้นักเรียนบวกลบเลขหลักเดียวให้ชำนาญ ก่อนที่จะเริ่มเลขสองและสามหลักในเวลาต่อไป คือแนวทางที่ดีที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนที่ยังไม่เข้าใจสามารถเข้าใจในหัวใจของเนื้อหานั้น ๆ และทำให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น
ในการเรียนคณิตศาสตร์ พื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ เช่น ตัวเลข จำนวน และตรรกะ นั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ถ้านักเรียนยังไม่เข้าใจในองค์ประกอบเหล่านี้ โอกาสที่จะเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นนั้น เป็นไปได้ยาก จึงควรเน้นให้นักเรียนมีพื้นฐานที่จำเป็นในเรื่องนั้น ๆ ก่อนที่จะเริ่มสอน ซึ่งครูผู้สอนสามารถทบทวนความรู้เดิมให้กับนักเรียนและทดสอบก่อนเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน ทุกคนและหานักเรียนที่ยังขาดประสบการณ์ เพื่อหาทางแก้ไขอย่างเหมาะสมก่อนที่จะเนื้อหาที่จำเป็น
การเรียนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อนักเรียนเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งไม่เฉพาะวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น วิชาอื่น ๆ ก็ควรชี้แจงให้นักเรียนเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเรียนวิชานั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้ เพื่อจะสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในอนาคต
เป็นธรรมดาที่การสอนอะไรยาก ๆ อาจทำให้นักเรียนบางคนรู้สึกสับสนและตามเพื่อนหรือครูผู้สอนไม่ทัน ซึ่งหลายครั้งการบังคับ ขู่เข็ญ หรือ การสร้างให้เกิดบรรยากาศที่หม่นหมองหรือกดดันนั้น อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีนักในแต่ละทุกสถานการณ์ เพราะแทนที่จะไปกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้ กลับกลายเป็นทำให้นักเรียนวิตกกังวล และรู้สึกว่าการเรียนในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยากสำหรับตัวเอง จนพาลเกลียดการเรียนรู้ในวิชานั้น ๆ ไป ซึ่งถ้าเกิดเช่นนี้ก็นับว่าเป็นความล้มเหลวอย่างยิ่งในการส่งเสริมการศึกษาของครูผู้สอน
แทนที่จะสอนแบบนามธรรมด้วยการเขียนสูตรคำนวณบนกระดาน การนำสูตรคำนวณเหล่านั้นมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การหาค่าร้อยละจากการคิดส่วนลดในร้านสะดวกซื้อ การหาพื้นที่ของห้องเรียน หรือ กาหาค่าความสูงของต้นไม้ นับเป็นวิธีการที่ดีกว่าที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาคณิตศาสตร์ในเรื่องนั้น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
สิ่งนี้คือความดั้งเดิมที่ยังคงมีประโยชน์ ไม่ว่าจะในปัจจุบันและในอนาคต เพราะการให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกฝนหรือนำความรู้ที่ได้มาใช้ผ่านการทำแบบฝึกหัดนั้นจะช่วยให้ความรู้ที่นักเรียนได้รับนั้นมีความคงทนมากขึ้น และส่งผลให้นักเรียนมีความชำนาญมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ครูผู้สอนควรให้การบ้านในการแก่โจทย์ปัญหากับนักเรียนทุกวัน ซึ่งการให้การบ้านนั้นอาจไม่จำเป็นต้องให้เหมือนกันทุกคน ขึ้นอยู่กับความรู้ที่นักเรียนได้รับ และไม่จำเป็นต้องให้จำนวนมาก เพียง 3-5 ข้อต่อก็เพียงพอแล้ว
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร