Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) การคิดแห่งอนาคต

Posted By Plook Teacher | 07 มี.ค. 65
7,317 Views

  Favorite

สำหรับการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 เรื่องของการออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมกลายเป็นสาระสำคัญที่นานาประเทศต่างหยิบยกขึ้นมาใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านต่าง ๆ ภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้กระบวนการคิดที่นำไปสู่การออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศต่างให้ความสนใจ และหาแนวทางในการส่งเสริมให้กับประชาชนในเรื่องนี้ผ่านระบบการศึกษา เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีทักษะดังกล่าว ทำให้ทักษะเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อการทำงานในอนาคต

ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการออกแบบ คือการที่หลายคนมองว่าการออกแบบนั้นเป็นเรื่องเฉพาะแค่งานศิลปะสร้างสรรค์ต่าง ๆ เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว เรื่องของการออกแบบในความคิดสมัยใหม่นั้น มีความหมายที่กว้างกว่ามาก เพราะไม่จำเป็นว่าการออกแบบจะต้องนำมาใช้กับแค่งานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะหรือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพียงเท่านั้น ปัจจุบันเราสามารถนำสิ่งที่เรียกว่า การออกแบบ เอาไปประยุกต์กับงานด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย

 

Design Thinking
ภาพ : shutterstock.com

 

การออกแบบที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในองค์กรสมัยใหม่นั้นคือกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งเป็นการปลูกฝังวิธีคิดรูปแบบใหม่ ที่ช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนางานโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ได้ดีมากยิ่งขึ้น

กระบวนการคิดเชิงออกแบบ คือ กระบวนการคิดเพื่อให้เกิดการพัฒนาแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ตามวิถีทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด บนพื้นฐานของการพิจารณาตามความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดการสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ตอบโจทย์การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการอยู่ 5 ขั้นตอน ได้แก่

ทำความเข้าใจ Empathize

คือการทำความเข้าใจปัญหาที่เราพยายามแก้ไข โดยการสังเกตและมีส่วนร่วม เพื่อให้มีประสบการณ์และเข้าใจถึงแรงจูงใจและความจำเป็นในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการเอาใจใส่นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อกระบวนการออกแบบ เพราะมันช่วยให้เราสามารถตั้งสมมติฐานได้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมนั้น ๆ 

สร้างนิยาม Define

คือการนำข้อมูลทั้งหมดที่หาได้จากขั้นแรกมาวิเคราะห์และสังเคราะห์รวมกัน เพื่อตกผลึกเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาออกมา แล้วจึงนำมาอธิบายถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งขั้นนี้จะช่วยให้การรวบรวมแนวคิดเพื่อนำไปสร้างองค์ประกอบสำหรับการแก้ปัญหา สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ออกแบบและสร้างสรรค์ Ideate

คือขั้นของการเริ่มนำไอเดียที่ได้มาสร้างให้เป็นรูปธรรม ด้วยการคิดนอกกรอบ เพื่อมองหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ซึ่งอาจใช้วิธีการระดมสมองสำหรับกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนได้คิดอย่างอิสระและขยายขอบเขตแนวทางแก้ปัญหาออกไป จากนั้นจึงรวบรวมไอเดียทั้งหมดที่ได้ แล้วเลือกเฟ้นเฉพาะวิธีที่คิดว่าดีหรือเหมาะสมที่สุด

สร้างต้นแบบ Prototype

นี้คือการสร้างผลิตภัณฑ์หรือแนวทางต้นแบบโดยลดขนาด ฟังก์ชัน หรือลดทอนรายละเอียดต่าง ๆ ลง เพื่อตรวจสอบว่าสามารถแก้ปัญหาได้ตามแนวคิดหรือไม่ โดยเป้าหมายของขั้นนี้คือการรวบรวมข้อมูล เพื่อพิจารณาว่าแนวคิดที่นำมาสร้างแนวทางแก้ปัญหาทั้งหมดนั้น เหมาะสมหรือไม่ มีจุดบกพร่องตรงส่วนไหน หรือมีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง เพื่อให้สามารถตอบสนองกับความต้องการและนำไปแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

ทดลองใช้ Test

คือการทดสอบแนวทางแก้ไขปัญหาหรือผลิตภัณฑ์ทั้งหมดอย่างเข้มงวดอีกครั้ง โดยนำไปใช้งานและเก็บข้อมูล รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

 

กระบวนการคิดเชิงออกแบบนับว่าเป็นกระบวนการคิดที่ช่วยให้เรามองเห็นวิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการ รู้จักมองปัญหาตลอดจนโจทย์ของการทำงานต่าง ๆ ได้รอบทิศและรอบคอบมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยฝึกการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบจนครบถ้วน กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ทำให้เกิดทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลาย สามารถเลือกเฟ้นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา และในขณะเดียวกันก็มีแผนสำรองสำหรับใช้แก้ปัญหาในกรณีที่จำเป็นอีกด้วย

 

กระบวนการคิดเชิงออกแบบนับเป็นกระบวนการคิดสมัยใหม่ที่เน้นมนุษย์หรือความต้องการของมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา จึงนับเป็นกระบวนการคิดรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการพัฒนาองค์กรในศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ธรรมชาติของกระบวนการคิดเชิงออกแบบนั้นคือความยืดหยุ่น ไม่เป็นเส้นตรง (Non-Linear) ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าการดำเนินการตามกระบวนการคิดรูปแบบจะต้องเป็นขั้นตอนที่ตายตัวตั้งแต่ 1-5 เพราะเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนแล้ว พบว่ามีข้อมูลและข้อมูลใหม่เพิ่มเติม สมาชิกอาจกลับไปที่ขั้นของการระดมสมองเพื่อหาไอเดียใหม่ ๆ ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปเริ่มดำเนินการในขั้นแรกใหม่

 

ปัจจุบันมีการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้ในการดำเนินงานในภาคธุรกิจต่าง ๆ อย่างมากมาย ซึ่งสิ่งนี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น เพราะทำให้องค์กรมีแนวคิดสมัยใหม่และสอดคล้องกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 และด้วยการแก้ไขปัญหาที่มองถึงความต้องการและความจำเป็นเอย่างเข้าอกเข้าใจ ทำให้วิธีการหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่คิดค้นออกมานั้นตอบสนองกับความต้องการ และทำให้กลายเป็นสิ่งที่ได้รับการตอบรับที่ดี ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพมากขึ้นในการแข่งขันกับนานาประเทศ การปลูกฝังให้นักเรียนมีกระบวนการคิดเชิงออกแบบนั้น ก็นับเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้นักเรียนมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow