Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีการที่ครูผู้สอนจะส่งเสริมนักเรียนให้มีทักษะการเขียนที่ดี

Posted By Plook Teacher | 13 ธ.ค. 64
5,668 Views

  Favorite

การเขียนนับว่าเป็นรูปแบบการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง ที่จะต้องอาศัยความพยายามของผู้เขียนเป็นอย่างมาก ในการแสดงความรู้ ความคิดเห็น ความรู้สึก หรือความต้องการ ให้ออกมาเป็นลายลักษณ์ตามภาษานั้น ๆ โดยบันทึกในลงวัตถุต่าง ๆ เช่น แผ่นหิน กระดาษ และ สมุด เป็นต้น เพื่อสื่อไปถึงผู้อ่านและทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องนั้น ๆ และยังสามารถย้อนกลับมาอ่านทบทวนซ้ำ ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้อย่างกระจ่างชัดมากขึ้นได้อีกด้วย มันจึงเป็นศาสตร์ทางภาษาที่ผู้เขียนจะต้องมีทั้งความรู้ในการใช้ภาษาและมีความช่ำชองในการถ่ายทอด จึงจะสามารถรังสรรค์งานเขียนให้เข้าถึงผู้อ่านในระดับต่าง ๆ ได้

ปัจจุบันการเขียนไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเขียนด้วยลายมือบนกระดาษอีกต่อไป เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายในการเขียน เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน นั้น สามารถช่วยให้มนุษย์เรามีรูปแบบการเขียนที่เพิ่มมากขึ้น และยังสามารถเก็บข้อมูลในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งช่วยลดทรัพยากรสิ้นเปลืองต่าง ๆ ได้อีกด้วย

 

    ด้วยการเขียนนั้นยังคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้นครูผู้สอนควรที่จะส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการเขียนที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยุคสมัยนี้ที่นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้มากมายผ่านเครือข่ายออนไลน์ ทำให้เขาได้รับทั้งข้อมูลที่เป็นการเขียนที่ดีและไม่ดี ซึ่งข้อมูลที่เป็นการเขียนที่ไม่ดีนั้นอาจทำให้นักเรียนซึบซับและนำไปใช้อย่างผิด ๆ ได้ ซึ่งการส่งเสริมทักษะการเขียนที่ดีให้กับนักเรียนนั้น สิ่งต่อไปนี้คือเรื่องสำคัญที่ครูผู้สอนจะต้องคำนึงถึงในการส่งเสริมนักเรียน

สนับสนุนการเขียนในรูปแบบที่หลากหลาย

การที่นักเรียนลายมือไม่สวยนั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นนักเขียนที่ดีไม่ได้ เพราะในปัจจุบัน มีอุปกรณ์ที่ใช้แทนการเขียนด้วยลายมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรือ แท็บเล็ต มันจึงเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับการเขียนในยุคปัจจุบัน ครูผู้สอนจึงควรสนับสนุนให้นักเรียนได้มีประสบการณ์การเขียนที่หลายหลาก เช่น อาจให้นักเรียนตอบคำถามใต้คอมเมนต์ในโพสต์ของครูผู้สอน หรือ อาจให้ส่งเป็นเอกสารออนไลน์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่า เราจะมีรูปแบบการเขียนที่หลากหลายมากขึ้น แต่การเขียนด้วยลายมือนั้นก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในการฝึกฝนและเสริมสร้างพัฒนาการสำหรับเด็กในวัยเริ่มต้น จึงควรมีการฝึกฝนในวัยที่จำเป็นอย่างเหมาะสม

เรียนรู้คำศัพท์แสลงใหม่ ๆ

ในเรื่องของภาษาเราอาจจะเห็นคำแปลก ๆ เกิดขึ้นมาอย่างมากมายตามยุคสมัย แม้แต่ในสมัยที่เรายังเป็นวัยรุ่น เราก็มีคำศัพท์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปคำศัพท์เหล่านั้นก็เลือนหายไปกับกาลเวลา และก็จะมีคำศัพท์แสลงใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ลดคุณค่าของภาษาลงไป จนถึงขั้นภาษาวิบัติอย่างที่กังวล แต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสังคมและวัฒนธรรมของยุคสมัยนั้น ๆ เสียมากกว่า มันจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรถ้านักเรียนมีการใช้คำศัพท์เหล่านี้ในการสื่อสารกับครูผู้สอน และก็เป็นเรื่องที่ดีที่ครูผู้สอนจะเรียนรู้คำแสลงใหม่ ๆ เหล่านั้น เพื่อให้เข้าใจความหมาย รวมถึงนักเรียนรู้สึกว่าครูผู้สอนนั้นเป็นมิตรและอยู่ในยุคสมัยเดียวกับเขา

ให้นักเรียนเรียนรู้ภาษาเขียนเพิ่มเติมจากภาษาพูด

ธรรมดาที่เรามักใช้ภาษาพูดกับภาษาเขียนปนเปกันในการตอบคอมเมนต์หรือสื่อสารกับเพื่อนฝูง แต่เมื่อไหร่ที่เราต้องใช้มันอย่างเป็นทางการ เราก็ควรที่จะต้องใช้ภาษาเขียนเป็นหลัก มันอาจไม่ใช่แบบแผนตายตัว เพราะงานเขียนบางอย่างก็สามารถมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนรวมกันได้ เพื่อเพิ่มอรรถรสและความเข้าใจให้กับผู้อ่าน แต่งานเขียนบางอย่าง เช่น เอกสารราชการ ก็ยังต้องคำนึงถึงภาษาเขียนเป็นสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ ครูผู้สอนจึงควรฝึกให้นักเรียนแยกแยะภาษาพูดกับภาษาเขียน อาจไม่ได้เป็นการห้ามปราบไม่ให้ใช้ แต่เป็นการเสริมให้รู้จักคำที่เป็นทางการมากขึ้น เช่น คำว่า “หนัง” อาจใช้คำว่า “ภาพยนตร์” แทนในการกล่าวถึงอย่างเป็นทางการ เป็นต้น

อย่าสร้างประสบการณ์การเขียนที่ย่ำแย่ด้วยการตรวจคำผิด

แทนที่เราจะช่วยให้นักเรียนสนุกกับการเขียนมากขึ้น กลับทำให้เขาไม่อยากที่จะเขียนมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการติงเรื่องการเขียนคำผิด ซึ่งบางครั้งครูผู้สอนอาจเน้นที่การตรวจคำผิดมากเกินไป จนไม่ได้ทำความเข้าใจกับสาระสำคัญที่นักเรียนสื่อในงานเขียน และตัดสินงานเขียนนั้น ๆ ว่าไม่ดี ทั้ง ๆ ที่นักเรียนอาจเขียนได้อย่างยอดเยี่ยม เพียงแต่ว่ามีคำผิดเท่านั้นเอง ซึ่งคำบางคำนั้น มีการใช้สับสนอย่างมาก จึงเป็นธรรมดาที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะคำที่เป็นทับศัพท์ต่าง ๆ

ทางที่ดี ครูผู้สอนควรอ่านเรื่องราวทั้งหมดก่อนที่จะตัดสิน และควรส่งเสริมให้นักเรียนตรวจคำผิดโดยใช้โปรแกรมตรวจคำผิด หรือใช้วิธีสืบค้นคำที่ถูกต้องในอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้จุดผิดพลาดและรู้จักที่จะแก้ไขด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีกว่า

เน้นย้ำนักเรียนเรื่องการตรวจทาน

การเขียนให้ถูกต้องนั้น คือเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการเขียน เพราะการเขียนที่ผิดพลาด อาจทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ มันอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับการผิดพลาดเพียงเล็กน้อย (เช่น การพิมพ์ผิดหรืออักษรตกหล่น) แต่มันจะใหญ่กว่ามากถ้าการตกหล่นนั้นทำให้เกิดความหมายคำที่ผิดเพี้ยนไป ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรเน้นย้ำให้นักเรียนรู้จักตรวจทานประโยคหรือบทความที่นักเรียนเขียนให้ดีอยู่เสมอ ว่ามีความผิดพลาดหรือไม่ และควรให้ดำเนินการแก้ไขก่อนที่จะส่งหรือเผยแพร่ออกไป ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีคอบรอบ และช่วยให้นักเรียนได้ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก่อนที่จะเผยแพร่อีกด้วย

ส่งเสริมการอ่านให้นักเรียน

การอ่านนั้นช่วยเสริมประสิทธิภาพการเขียนได้ เพราะเมื่อเราอ่านมากขึ้น จะทำให้เรามีรูปแบบการเขียนที่เพิ่มขึ้น ซี่งจะช่วยให้เราออกแบบงานเขียนได้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น และยิ่งถ้าเราอ่านหนังสือหรือข้อมูลต่าง ๆ ตามสมัยนิยม ก็ยิ่งจะทำให้เราได้แนวการเขียนใหม่ตามสมัย ๆ เพิ่มเติม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เราเขียนงานได้เข้าถึงกับผู้คนตามแต่ละยุคสมัยมากขึ้น 

ดังนั้นครูผู้สอนควรส่งเสริมให้นักเรียนอ่านหนังสือหรือข้อมูลต่าง ๆ ทั้งจากหนังสือโดยตรงหรือจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พวกเขามีประสบการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับการเขียนของเขามากขึ้น

ชื่นชมและให้กำลังใจ

การชื่นชมให้กำลังใจ เป็นวิธีง่าย ๆ ในการสร้างให้นักเรียนมีความสุขกับการเขียนและทำให้พวกเขารักที่จะเขียนในครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งการที่ครูผู้สอนจะชื่นชมหรือให้กำลังใจได้นั้น สำคัญที่สุดคือครูผู้สอนจะต้องได้อ่านและทำความเข้าใจ ในสิ่งที่นักเรียนเขียนให้ เช่น ในเอกสารที่ส่งมา หรือในคอมเมนต์ใต้โพสต์ต่าง ๆ ซึ่งครูผู้สอนอาจแสดงออกโดยการ กดถูกใจในคอมเมนต์ พิมพ์ตอบลงไปในเอกสารแล้วส่งกลับมาที่นักเรียน หรือ อาจพูดแนะนำในชั้นเรียนทั้งต่อหน้าและการเรียนออนไลน์ เป็นต้น 

 

    ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด การเขียนก็ยังถือเป็นเรื่องสำคัญอยู่เสมอ และแม้ว่าปัจจุบันรูปแบบการเขียนจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่หัวใจของการเขียนที่ต้องการสื่อถึงผู้อ่านนั้นก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ ซึ่งใครก็ตามที่มีทักษะการเขียนที่ดี ก็เปรียบดั่งมีอาวุธทางปัญญาสำหรับทำงานหรือใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูผู้สอนจะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะด้านการเขียนกับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะนี้ติดตัวและสามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมในอนาคต 

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow