Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มาส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) ให้กับนักเรียน

Posted By Plook Teacher | 01 ธ.ค. 64
9,753 Views

  Favorite

        การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (social and emotional learning; SEL) คือ กระบวนการที่นักเรียนสามารถเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนได้ สามารถตั้งเป้าหมายและการบรรลุเป้าหมาย เข้าใจและแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สร้างและการรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น รวมถึงสามารถตัดสินใจอย่างรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์นั้นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนที่มีความเกี่ยวพันกับ การทำงานของสมองในส่วนที่ทำหน้าที่ให้เกิดกระบวนการรู้คิด ที่เรียกว่า Executive function (EF) อันเป็นกระบวนสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการตัวเองได้อย่างเหมาะสม

     การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) เป็นคำที่นิยามขึ้นโดย Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning (CASEL) องค์กรออนไลน์ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ สำหรับการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงระดับมัธยมศึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้พวกเขามีทักษะที่จำเป็นในการปฏิสัมพันธ์กันในสังคม รวมถึงช่วยให้พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข

     การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) ประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 ประการ ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) ของแต่ละบุคคล ซี่งคุณสมบัติ 5 ประการนั้น ประกอบด้วย

การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness)

     การตระหนักรู้ในตัวเอง คือ การเข้าใจและระบุได้ว่า ความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นคืออะไร ส่งผลต่อพฤติกรรมของตัวเองอย่างไร รวมทั้งรู้ถึงข้อจำกัดในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง มีความมั่นใจและมองโลกในแง่ดี

การรู้จักบริหารจัดการอารมณ์ (Self-management)

     การรู้จักบริหารจัดการอารมณ์ คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของตนเองต่อสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม สามารถจัดการความเครียดที่มีผลกับตัวเอง สร้างกำลังใจให้กับตัวเอง ตลอดจนสามารถตั้งเป้าหมายและลงมือปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ ได้

ความเข้าใจหรือตระหนักรู้ด้านสังคม (Social awareness)

     ความเข้าใจหรือตระหนักรู้ด้านสังคม คือ ความสามารถในการเข้าใจและเอาใจใส่ผู้อื่น ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม ไม่ดูถูกเหยียดหยาม หรือ ดูหมิ่นผู้อื่น เข้าใจและยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล รวมถึงเข้าใจสภาพสังคม ค่านิยม และจริยธรรมที่แตกต่างกัน และสามารถรับรู้ได้เกี่ยวกับปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ที่ได้รับจากทั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคม

มีทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills)

     ทักษะด้านความสัมพันธ์ คือ ความสามารถในการสร้างและรักษาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและกลุ่มคน มีความสามารถในการสื่อสารที่ชัดเจน สามารถร่วมมือกับผู้อื่นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ รู้จักต่อต้านและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นสังคม มีทักษะในการเจรจาต่อรองเพื่อจัดการความขัดแย้ง ร้องขอและให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น มีทักษะในด้านการสื่อสาร รับฟังและเชื่อมประสาน อย่างเป็นมิตรและประนีประนอม เรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในทีม และมีความเป็นผู้นำที่ดี

รับผิดชอบในสิ่งที่ตัดสินใจได้ (Responsible decision making)

     การรับผิดชอบในสิ่งที่ตัดสินใจได้ คือ ความสามารถในการเลือกของการแสดงออกและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมบนพื้นฐานของจริยธรรมที่ดี โดยคำนึงถึงความปลอดภัย บรรทัดฐานทางสังคม รวมไปถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล และพร้อมที่จะยอมรับและรับผิดชอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้

 

สำหรับการปลูกฝังทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) ให้กับนักเรียนในสถานศึกษานั้น ครูผู้สอนสามารถส่งเสริมเด็กในเรื่องนี้ได้ โดยการส่งเสริมให้นักเรียนมีโอกาสทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และสื่อสารกันได้อย่างเหมาะสม มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจในความแตกต่างของกันและกัน มีการร่วมกันกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการบรรลุเป้าหมายนั้น พร้อมทั้งช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และจัดการความขัดแย้งในการทำงานอยากสร้างสรรค์ 

 

นอกจากนี้ ครูผู้สอนควรกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักสะท้อนความคิดในกลุ่ม ซึ่งเป็นการคิดใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เป็นการทบทวนกระบวนการทำงานและทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นให้มากขึ้น โดยมีครูผู้สอนคอยแนะนำนักเรียนในเรื่องนี้อย่างเหมาะสม

 

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL)นั้น ไม่ได้อยู่ที่การสร้างรูปแบบการเรียนรู้หรือการกำหนดหลักสูตรที่เข้มข้นสำหรับการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งหมายถึงว่าไม่จำเป็นจะต้องสร้างหลักสูตรขึ้นมาเฉพาะเพื่อส่งเสริมในเรื่องนี้ แต่เป็นการที่ ครูผู้สอน ผู้บริหาร รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา หรือคนในครอบครัวที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเข้าใจและสร้างวัฒนธรรมในองค์กรให้เกิดการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมอย่างเหมาะสม ดังนั้นทั้งครูผู้สอน ผู้บริหาร รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา หรือแม้แต่คนในครอบครัวของนักเรียนจึงจำเป็นจะต้องปรับพฤติกรรมและพัฒนาตัวเองให้มีทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะได้เข้าใจ สนับสนุน และส่งเสริมในเรื่องนี้กับเด็ก ๆ ได้

 

การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) นั้นนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้นักเรียน สามารถบริหารจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองที่มีผลต่อสังคมได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมที่ดีและเป็นระโยชน์ต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องส่งเสริมนักเรียนในเรื่องนี้ ทั้งในระดับครอบครัวและในระดับสถานศึกษา เพื่อให้พวกเขามีทักษะเหล่านี้ และสามารถใช้ประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและสังคมได้

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow