ATK หรือชื่อเต็ม ๆ Antigen test kit คือชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการหาเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังไม่แสดงอาการ เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ATK Home use เป็นชุดตรวจที่ผู้ตรวจสามารถใช้ได้เองตามขั้นตอนจากคู่มือการใช้ และ ATK Professional use เป็นชุดตรวจสำหรับให้ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ตรวจให้ ซึ่งความแตกต่างของ ATK Home use และ ATK Professional use คือ ATK Professional use นั้น จะมีก้านไม้สำหรับการ Swab ที่ยาวกว่า และปริมาณของน้ำยาสำหรับการตรวจสอบที่มากกว่านั่นเอง
ปัจจุบันองค์การอาหารและยา ได้ตรวจสอบและรับรองชุดตรวจ Antigen test kit ที่เป็น ATK Home use หลากหลายยี่ห้อ ทำให้ทุกคนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้ง่ายขึ้น และสามารถที่จะตรวจหาเชื้อเองเบื้องต้นได้ที่บ้านด้วยตัวเอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ การตรวจหาเชื้อจะต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เท่านั้น สิ่งนี้นับว่าเป็นผลดี เพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถที่จะตรวจหาเชื้อเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง และลดภาระการตรวจโดยละเอียดที่สถานพยาบาล ทำให้การตรวจที่สถานพยาบาลมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
การตรวจ ATK ที่เป็น ATK Home use นั้น ปัจจุบันในประเทศไทยมีวิธีเก็บตัวอย่างอยู่ 2 รูปแบบ คือ การเก็บตัวอย่างด้วยวิธีแยงโพรงจมูก และเก็บตัวอย่างโดยน้ำลาย ซึ่งทั้งสองรูปแบบนั้นมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน โดยสำหรับขั้นตอนการตรวจ ATK ด้วยตัวเอง (ชนิดแยงโพรงจมูก) นั้นมีดังนี้
1. ก่อนทำการตรวจ ATK ควรความสะอาดมือหรือใส่ถุงมือทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนกับชุดตรวจ
2. เปิดซองและนำก้าน swab ออกมาจากซอง โดยให้แกะซองจากด้านปลายไม้ เพื่อไม่ให้มือสัมผัสกับส่วนที่เป็นปลายสำลี
3. ทำการสอดก้าน swab ในโพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง ลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร และหมุนก้าน 5-10 รอบ ประมาณ 10-15 วินาที ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา โดยไม่ต้องเปลี่ยนก้าน swab ใหม่
4. จุ่มก้าน swab ที่สอดแล้ว ใส่ลงในหลอดน้ำยาตรวจหาเชื้อ หรือ บางยี่ห้อจะเป็นการสอดก้าน swab ในช่องที่เตรียมไว้ แล้วให้หยดน้ำยาตรวจหาเชื้อลงไปให้ทั่วโดยหมุนก้าน swab 5-10 ครั้ง
5. นำน้ำยาตรวจหาเชื้อที่จุ่มก้าน Swab แล้ว ไปหยดในช่องของแผ่นตรวจโควิด 19 หรือ บางยี่ห้อ จะเป็นการประกบแผ่นตรวจกับก้าน Swab ที่หยดน้ำยาแล้วอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้น้ำยาโดนผิวหนังหรือดวงตาซึ่งอาจจะเป็นอันตราย หลังจากนั้นทิ้งไว้ 15-30 นาที ก่อนจะอ่านผล
6. สังเกตผล โดยถ้าชุดตรวจปรากฎขีดสี ในตำแหน่ง C เพียงตำแหน่งเดียว จะถือว่ามีผลเป็นลบ (Negative) ซึ่งหมายความว่าไม่ปรากฎว่าติดเชื้อ แต่ถ้าขีดสีปรากฎทั้งในตำแหน่ง C และ T จะเป็น ผลบวก (Positive) ซึ่งหมายความว่ามีการติดเชื้อในเบื้องต้น และต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้ออย่างละเอียดในสถานพยาบาลที่สามารถตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) เพื่อยืนยันการติดเชื้อและเข้าสู่ขั้นตอนของการรักษาต่อไป
7. ในกรณีที่ไม่ปรากฎขีดขึ้นในชุดตรวจโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น ชุดตรวจเสื่อมสภาพ ทำผิดขั้นตอน หรืออาจเกิดการปนเปื้อนจากภายนอก ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินตรวจซ้ำ
8. หลังจากที่ใช้ชุดตรวจแล้ว ให้ใส่ถุงปิดมิดชิดและแยกไว้เป็นขยะอันตราย
สำหรับขั้นตอนการตรวจ ATK ด้วยตัวเอง (ชนิดน้ำลาย) นั้น มีความแตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่ใช้น้ำลายแทนสารคัดหลั่งในโพรงจมูก โดยเริ่มต้นจาการบ้วนน้ำลาย โดยการกระแอมจากในลำคอ ลงในหลอดเก็บตัวอย่าง บีบน้ำยาลงไปในหลอดเก็บตัวอย่างนั้น ปิดฝาให้แน่นและแกว่งหลอดเก็บตัวอย่างนี้ขึ้นลงไปมาประมาณ 10 ครั้ง จากนั้นหยดตัวอย่างประมาณ 3 หยดลงในแผ่นทดสอบ และทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที ก่อนการอ่านผล ซึ่งการอ่านผลนั้น ใช้หลักการเดียวกับการตรวจ ATK ด้วยวิธีแยงโพรงจมูก
สิ่งสำคัญที่สุดในการตรวจแบบน้ำลายนั้นคือ ผู้ตรวจจะต้องเก็บที่ตรวจน้ำลายที่มีคุณภาพ โดยงดการแปรงฟัน งดการบ้วนปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ งดการดื่มเครื่องดื่มและรับประทานอาหาร รวมทั้งงดสูบบุหรี่ งดเคี้ยวหมากฝรั่ง นอกจากนี้ยังแนะนำให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดก่อนเก็บตัวอย่างอย่างน้อย 30 นาที อีกด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง
การตรวจ ATK แม้ว่าจะไม่ได้วัดผลที่แม่นยำแน่นอน แต่สามารถที่จะช่วยคัดกรองการติดเชื้อเบื่องต้นได้ ซึ่งเหมาะสมมากกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงเรียนและสถานศึกษาที่จะต้องมีการเรียนการสอน ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องฝึกให้นักเรียนคุ้นชินกับการตรวจ ATK นี้
แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วย ATK ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายดายนัก สำหรับใครหลาย ๆ คน และมันจะเป็นปัญหาอย่างแน่นอนสำหรับนักเรียนในชั้นเล็กที่เด็กเกินกว่าที่จะทำได้เพียงลำพัง และถึงแม้เราจะมีวิธีการตรวจ ATK จากน้ำลาย ซึ่งเป็นชุดตรวจที่ง่ายกว่าแบบแยงโพรงจมูก แต่ก็มีราคาที่สูงกว่าและต้องอาศัยการกระแอมเพื่อให้ได้น้ำลายที่อยู่ในลำคอ ทำให้นักเรียนบางคน โดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นเด็กทำไม่เป็น ซึ่งอาจจะทำให้การคัดกรองเกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องฝึกให้พวกเขาสามารถ ตรวจ ATK ได้อย่างคุ้นชิน เพื่อไม่หวาดกลัวกับเรื่องนี้ และเป็นปัญหากับการตรวจในครั้งต่อ ๆ ไป
เบื้องต้นตอนนี้ แม้ว่านักเรียนมัธยมศึกษาส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว แต่ก็ต้องได้รับการตรวจ ATK เพื่อคัดกรองการติดเชื้ออยู่เป็นระยะ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับนักเรียนระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะในกล่มที่ยังไม่กำหนดให้เข้ารับวัคซีน ถ้าต้องการให้นักเรียนกลุ่มนี้สามารถเรียนในโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย การตรวจ ATK จึงนับเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการคัดกรองนักเรียน รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือแม้แต่บุคคลภายนอก ที่จะเข้ามาในโรงเรียนได้ในเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยแยกแยะได้ว่าใครที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ และช่วยให้เราสามารถยับยั้งการระบาด ก่อนที่จะก่อความเสียหายจนกลายเป็นการใหญ่ได้
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร