Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การกำหนดเดดไลน์ในการทำงานของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

Posted By Plook Teacher | 10 พ.ย. 64
4,757 Views

  Favorite

    เดดไลน์ (Deadline) หรือเส้นตายนั้น เป็นคำที่ใช้กล่าวถึงช่วงเวลาที่กำหนดสำหรับการทำงานนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งในโลกของการทำงาน เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่าเดดไลน์กันดี เพราะเป็นเสมือนเส้นที่ขีดขึ้นเป็นจุดสิ้นสุดของเวลาในการทำงานนั้น ๆ ให้สมบูรณ์

การกำหนดเดดไลน์นั้น ช่วยให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก เพราะจากการศึกษาวิจัยโดย Common Cents Lab ที่ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มให้เงินกู้สำหรับธุรกิจที่มีชื่อว่า kiva.org  ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยจากการกรอกข้อมูลของเจ้าของธุรกิจที่ต้องการจะกู้เงิน ซึ่งปกติแล้ว เจ้าของธุรกิจที่เข้าร่วมจะต้องกรอกแบบฟอร์มที่มีรายละเอียดจำนวนมาก ทำให้เบื้องต้นมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ได้กรอกใบสมัครเสร็จสิ้น

หลังจากนั้น ผู้วิจัยได้มีการกำหนดเดดไลน์ลงไปในอีเมลที่แนบแบบฟอร์ม เพื่อสังเกตว่าเจ้าของธุรกิจที่เข้าร่วมนั้นจะมีการกรอกแบบฟอร์มเสร็จสิ้นมากขึ้นหรือหรือไม่ ผลปรากฏว่า มีผู้กรอกใบสมัครเสร็จสิ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 และเมื่อเพิ่มแรงจูงใจเป็นการให้สิทธิพิเศษในการพิจารณาก่อน ร่วมกับการกำหนดเดดไลน์ ผลปรากฎว่า มีผู้กรอกใบสมัครเสร็จสิ้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26 เลยทีเดียว

ผลการวิจัยทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นพลังของเดดไลน์ที่สามารถผลักดันให้เราสามารถทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาได้ ถ้าใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้อย่างเหมาะสม

 

    นอกเหนือจากเรื่องของประสิทธิภาพในการกำหนดเดดไลน์ ระยะเวลาในการกำหนดเดดไลน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อการปฏิบัติของคนเราด้วย โดยในการการวิจัยของ Suzanne Shu และ Ayelet Gneezy ซึ่งได้ติดตามการแลกบัตรกำนัลของร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่ง โดยพวกเขาพบว่ามีคนน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่แลกบัตรกำนัลที่มีกำหนดเวลาเดดไลน์สองเดือน อย่างไรก็ตาม ผู้คนมากกว่าร้อยละ 30 แลกบัตรกำนัลที่มีกำหนดเวลาเดดไลน์เพียงสองสัปดาห์ ซึ่งเมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้แลกบัตรกำนัล คำตอบที่ได้มากที่สุดคือ พวกเขาคิดว่าจะแลกในภายหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการกำหนดเดดไลน์ที่ใกล้กว่าย่อมส่งผลให้ผู้ปฏิบัติมีแนวโน้มที่จะทำได้มากกว่าที่จะผัดวันประกันพรุ่ง

    ยังมีงานวิจัยในเรื่องนี้ที่ใกล้เคียงกับเรื่องของการศึกษา โดยนักจิตวิทยา Dan Ariely และ Klaus Wertenbroch ที่ได้ทำการทดลองที่กำหนดเวลาในการทดสอบของนักศึกษา โดยแบ่งนักศึกษาเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่ได้กำหนดเดดไลน์ กลุ่มที่กำหนดเดดไลน์ด้วยตัวเอง และกลุ่มที่อาจารย์กำหนดเส้นตายให้ ซึ่งผลปรากฎว่า นักเรียนที่ไม่มีกำหนดเส้นตายนั้นทำผลงานได้แย่ที่สุด ในขณะที่นักเรียนที่กำหนดเส้นตายโดยอาจารย์นั้น ทำผลงานได้ดีที่สุด 

     การกำหนดเดดไลน์นั้น ถ้าใช้อย่างเหมาะสม จะเป็นวิธีที่ดีมาก ในการทำงาน มันจึงเป็นวิธีการที่ครูผู้สอนสามารถนำมาใช้กับนักเรียนได้ เพื่อให้เขาทำงานหรือการบ้านให้สำเร็จลุล่วงและมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งการที่ครูผู้สอนจะใช้การกำหนดเดดไลน์อย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ครูผู้สอนจะต้องดำเนินการดังนี้

กำหนดเดดไลน์ของงานต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

กำหนดเดดไลน์ในงานหรือการบ้านที่นักเรียนต้องทำแต่ละอย่างในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่กระชั้นชิดหรือยาวนานจนเกินไป ถึงแม้ว่าการกำหนดเดดไลน์ที่กระชั้นชิดนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงมากต่อการทำงานของนักเรียน แต่เนื่องจากนักเรียนนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้หลายวิชาในแต่ละวัน การกำหนดเดดไลน์แบบกระชั้นชิดอาจสร้างภาระที่มากเกินไปกับนักเรียนได้ อย่างไรก็ดี เราอาจใช้การกำหนดเดดไลน์แบบกระชั้นชิดสำหรับงานที่ต้องการให้เสร็จภายในคาบเรียนได้ เช่น ถ้าทำแบบฝึกหัดชุดนี้เสร็จในครึ่งชั่วโมงนี้ จะได้เลิกเรียนเร็วถึงสิบห้านาที เป็นต้น ซึ่งการกำหนดเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนมีแนวโน้มที่จะทำงานนั้น ๆ ให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด

แสดงผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพของการทำงานไม่เสร็จทันกำหนดเดดไลน์

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนใส่ใจกับงานหรือการบ้านของพวกเขาหรือไม่ คือ ความร่วมมือในการส่งงานตามกำหนดเวลา งานหรือการบ้านที่นักเรียนมองว่าไม่สำคัญ หรือเป็นงานของครูผู้สอนที่ไม่ได้เข้มงวดมากนัก มักจะไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีในเรื่องนี้ ดังนั้น ควรบอกถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นถ้านักเรียน เมื่อไม่ได้ส่งงานตามกำหนดเวลา ให้พวกเขาทราบอย่างจริงจัง โดยผลลัพธ์นั้นจะต้องมีผลกระทบกับนักเรียนมากพอที่จะทำให้เขาเห็นความสำคัญ เช่น ถ้าไม่ส่งงานตามเวลาที่กำหนดจะต้องติด 0 หรือ ติด ร ในรายวิชานั้น ๆ เป็นต้น และควรที่จะปฏิบัติตามนั้นอย่างไม่มีการผ่อนปรน

ใช้แรงจูงใจเพื่อเสริมแรงให้กับนักเรียน

การกำหนดเดดไลน์นั้น เมื่อใช้ร่วมกับการแรงจูงใจ จะช่วยให้นักเรียนมีแนวโน้มที่จะทำงานหรือการบ้านได้ตามกำหนดเวลามากกว่าการกำหนดบทลงโทษ ดังนั้นจึงควรเสริมแรงพวกเขาร่วมกับการกำหนดเดดไลน์ จะช่วยให้นักเรียนส่งงานหรือการบ้านตามกำหนดเวลามากขึ้น 

ให้นักเรียนจดบันทึกวันเวลาที่กำหนดเดดไลน

วิธีการนี้ช่วยให้นักเรียนนั้นจดจำได้ว่างานหรือการบ้านชิ้นใด มีกำหนดส่งเมื่อไหร่ ซึ่งการบันทึกนี้จะช่วยเตือนความความจำให้กับนักเรียน และทำให้นักเรียนพิจารณาได้ว่าควรจะทำงานหรือการบ้านชิ้นใดก่อนและหลัง

คอยเตือนนักเรียนเป็นระยะ

ถึงแม้ว่าเราจะให้นักเรียนจดบันทึกวันเวลาที่กำหนดเดดไลน์ของแต่ละงานแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องเตือนเขาในเรื่องนี้ เพราะอย่าลืมว่านักเรียนนั้นมีเรียนหลายวิชาในแต่ละวัน ซึ่งแต่ละวิชาก็มีการให้งานในปริมาณและวิธีการที่แตกต่างกันไป มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องคอยเตือนนักเรียนในงานของเขาเป็นระยะ ซึ่งการที่ครูผู้สอนคอยเตือนนั้น นอกจากจะช่วยในการจำของนักเรียนแล้ว งานบางงานอาจจำเป็นต้องเริ่มทำแต่เนิ่น ๆ การที่ครูผู้สอนคอยเตือนจะช่วยให้นักเรียนเริ่มงานหรือการบ้านนั้น ๆ ในเวลาที่เหมาะสม และไม่ไปหนักในช่วงใกล้เดดไลน์ได้

 

การที่ครูผู้สอนมีการกำหนดเดดไลน์ในการทำงานหรือการทำการบ้านของนักเรียน นับว่าเป็นวิธีการที่มีประโยชน์อย่างมาก ซึ่งช่วยให้นักเรียนมีความรับผิดชอบในการทำงานและสามารถทำงานได้สำเร็จลุล่วงตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการที่ช่วยให้ครูผู้สอนติดตามงานต่างๆของนักเรียนได้ครบถ้วนอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่ามีการกำหนดเดดไลน์ แต่ถ้านักเรียนกลับไปขยันเพียงแค่ในช่วงใกล้เดดไลน์ ประโยชน์ที่ควรจะได้ ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นโทษมากกว่าที่คิด ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรใช้การกำหนดเดดไลน์นี้อย่างเหมาะสม และควรแนะนำให้นักเรียนจัดการกับงานหรือการบ้านของเขาตามกำหนดเวลาอย่างเหมาะสมด้วยเช่นเดียวกัน

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow