ภาพการศึกษาออนไลน์ที่หลายคนมองเห็นในอุดมคติคือการที่นักเรียนนั่งเรียนกับอุปกรณ์สื่อสารส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต อย่างตั้งใจและขะมักเขม้น แต่ความเป็นจริงแล้ว นักเรียนทุกคนไม่ได้มีอุปกรณ์สื่อสารเป็นของตัวเอง และซ้ำร้ายบางครอบครัวที่มีบุตรหลานหลายคน พวกเขาอาจจะต้องแบ่งกันใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกอย่างมากในการเรียนรู้
ประเทศไทย แม้จะเป็นประเทศที่มีการเติบโตในเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ค่อนข้างสูง แต่หลายพื้นที่ โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารกลับเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้น้อยกว่าในเมืองหรือชุมชนใหญ่มาก ทำให้นักเรียนหรือแม้แต่ครูผู้สอนที่อยู่ในถิ่นทุนกันดาร หรือแม้แต่นักเรียนบางคนที่อยู่ในพื้นที่อับสัญญาณ ไม่สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ และส่งผลให้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ด้วย
ประเทศไทยเราถึงจะมีสัญญาณไวไฟฟรีเพื่อประชาชน แต่นั่นไม่เพียงพอสำหรับการเรียนออนไลน์ นักเรียนจึงจำเป็นต้องใช้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์สื่อสารจากผู้ให้บริการเครือข่ายการสื่อสารต่าง ๆ ถึงแม้ว่าแต่ละค่ายจะออกโปรโมชั่นเพื่อสนับสนุนการเรียนออนไลน์ ในราคาที่ไม่สูงนัก แต่ก็อย่าลืมว่าการใช้จ่ายออกไปก็คือภาระที่เพิ่มขึ้นมาของครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สิ่งนี้เกิดขึ้น ทั้งฝั่งครูสอน และรวมถึงฝั่งของนักเรียนด้วย เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดมา ทั้งครูผู้สอนและนักเรียน ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการฝึกอบรมในการเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์กันอย่างจริงจังเลย ไม่มีแม้แต่การเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ซึ่งความจริง โรงเรียนควรมีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ควบคู่กับการเรียนการสอนตามปกติได้แล้ว เพื่อให้ทั้งครูผู้สอนและนักเรียนมีประสบการณ์ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง สิ่งนี้นับเป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้การศึกษาออนไลน์ของไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
ในกรณีของนักเรียนชั้นเล็ก การเรียนออนไลน์จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องช่วยเหลือและให้การสนับสนุนนักเรียนในการเรียนรู้ แต่ด้วยสภาพปัญหาและความจำเป็นหลายอย่าง ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็มักจะไม่มีเวลาดูแล เพราะต้องทำงาน ยิ่งสถานการณ์ในช่วงนี้ผู้ปกครองก็ต้องลำบากกว่าปกติ มันจึงเป็นปัญหาที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง
เป็นเรื่องธรรมดาที่นักเรียนบางคนอาจละความสนใจจากการเรียน แต่ด้วยความที่เป็นการเรียนการสอนออนไลน์ ทำให้ครูผู้สอนกวดขันและติดตามนักเรียนได้ยาก บางคนไม่เข้าคลาส หรือเข้าคลาสแต่ก็ปิดการสื่อสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากในการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน
สื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอออนไลน์และมีประสิทธิภาพนั้นมีน้อย และถึงจะมี ส่วนใหญ่ก็เป็นสื่อที่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าบริการในการใช้งาน ซึ่งทำให้ครูผู้สอนทั่วไปไม่มีโอกาสนำมาใช้ ครั้นพอจะสร้างขึ้นเอง ทักษะของครูผู้สอนในการสร้างสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพนั้นก็อาจไม่เพียงพอ ทำให้ได้สื่อการเรียนการสอนที่ไม่สามารถจูงใจนักเรียนได้เท่าที่ควร
หลายวันมานี้ นักเรียนส่วนใหญ่มักประสบปัญหากับกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนบางท่านให้ทำหลังจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งบางกิจกรรมนั้น เป็นกิจกรรมที่ทำได้ยากและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาด เช่น ให้เด็กทำงานกลุ่มร่วมกัน หรือ ให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ให้นักเรียนต้องออกจากบ้าน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนมีความเสี่ยงและทำให้พวกเขารู้สึกไม่อยากเรียนออนไลน์มากขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเรียนออนไลน์เหล่านี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรหาแนวทางในการส่งเสริมและแก้ไขอย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาให้การเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ซึ่งในอนาคตการเรียนการสอนออนไลน์ควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ตามปกติควบคู่กับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาไทยพัฒนาสอดคล้องกับกระแสสังคมโลกมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การเรียนการสอนออนไลน์แบบครูผู้สอนพบนักเรียนนั้น ไม่ใช่รูปแบบเดียวสำหรับการจัดการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะมีทั้งการให้นักเรียนรับใบงานไปทำที่บ้าน การเรียนผ่านสื่อทางไกล หรือแม้แต่การเรียนกับบทเรียนออนไลน์สำเร็จรูป ให้โรงเรียนได้เลือกใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในความดูแลตามบริบทที่เหมาะสม ซี่งก็ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนจะจัดเช่นไรให้เหมาะสมกับนักเรียนและบริบทของโรงเรียน
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร