ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การโกนผมไฟคืออะไร
พิธีการโกนผมไฟหรือที่เรียกอีกอย่างว่า พิธีทำขวัญเดือน เป็นประเพณีโบราณที่ทำต่อ ๆ กันมา โดยคนไทยมักโกนผมไฟเมื่อทารกมีอายุได้ประมาณ 1 เดือน หรืออย่างช้าที่สุดก็ไม่เกิน 6 เดือน
สาเหตุที่คนโบราณต้องโกนผมไฟให้ทารกนั้น เพราะเชื่อกันว่า เส้นผมที่ติดตัวทารกมาตั้งแต่กำเนิดนั้นถือเป็นของสกปรก จึงจำเป็นต้องโกนทิ้ง บางคนก็เชื่อว่าเด็กที่ผ่านการโกนผมไฟจะว่านอนสอนง่าย และการโกนผมไฟจะทำให้ผมของเด็กขึ้นดกดำ สวยงาม
นอกจากโกนผมแล้ว ในการทำพิธีโกนผมไฟ ยังมีการโกนคิ้ว และมีการนำดอกอัญชัญมาขยี้ให้เกิดสี แล้วนำมาทาที่ศีรษะและคิ้วของทารก เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ผมขึ้นใหม่ดอกดำ คิ้วได้รูปอีกด้วย
เรื่องนี้มีส่วนจริงอยู่บ้าง เพราะในดอกอัญชันมี "สารแอนโทไซยานิน" (Anthocyanin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และกระตุ้นการงอกใหม่ของเซลล์รากผม ช่วยบำรุงหนังศีรษะได้นั่นเอง
ทีนี้กลับมาสู่คำถามแรกเริ่มว่า การโกนผมไฟจำเป็นหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่า ไม่ทำก็ไม่ผิด แต่ถ้าอยากทำก็ไม่เสียหาย และถ้าถามว่า ความเชื่อเกี่ยวกับการโกนผมไฟ ที่ว่าจะทำให้ผมดกดำ หรือทำให้ลูกว่านอนสอนง่ายนั้นเป็นจริงหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า ยังไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่พิสูจน์ได้นะคะ แต่หากทำแล้วสบายใจ ก็สามารถทำได้ ขอแค่ทำด้วยความระมัดระวังเท่านั้นเองค่ะ