Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

7 หลักการการเลี้ยงดูเด็ก ถ้าอยากให้พวกเขามีความคิดที่ยืดหยุ่น

Posted By Plook Teacher | 31 พ.ค. 64
29,697 Views

  Favorite

ความคิดที่ยืดหยุ่น (Cognitive Shifting) มีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจนในการเจริญของสมองส่วนหน้า (Prefrontal lobe) ซึ่งสมองส่วนนี้ เป็นส่วนที่ใช้เวลาในการพัฒนายาวนานที่สุด โดยกินเวลาถึง 20 ปี เลยทีเดียว และคือเหตุผลที่ทำให้ ทำไมในเด็กและวัยรุ่นนั้น พวกเขามักจะโมโหหรือหงุดหงิดง่ายกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่คาดคิดในชีวิตประจำวัน นั่นก็เป็นเพราะสมองในส่วนนี้ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่นั่นเอง

​ช่วงเวลาที่สมองส่วนหน้ากำลังพัฒนานี้ นับว่าเป็นโอกาสที่สำคัญในการพัฒนากระบวนการคิด ซึ่งถ้าครอบครัวมีการวางรากฐานกระบวนการคิดที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่วัยเริ่มต้นแล้ว ก็จะทำให้พวกเขามีทักษะที่สำคัญนี้ติดตัวและใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างมากมายในอนาคต

 

ด้วยเหตุนี้การเลี้ยงดูในครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีกระบวนการคิดที่พัฒนา เพราะเป็นเหมือนปราการด่านแรกในการเริ่มต้นโลกแห่งการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งสำหรับทางการเลี้ยงดูนั้น นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นำเสนอหลักการการเลี้ยงดูเด็ก 7 ข้อที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความคิดที่ยืดหยุ่นได้

เป็นคนสวนไม่ใช่ช่างไม้

​ในขณะที่ช่างไม้จะคอยตัดคอยเลื่อย และแกะสลักไม้ให้เป็นรูปเป็นร่างตามต้องการ คนสวนจะใช้วิธีรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย และจัดสภาพแวดล้อมให้ต้นไม้นั้นเติบโตจนให้ผลผลิตที่ดี สองสิ่งนี้เปรียบเทียบได้ดีถึงวิธีการเลี้ยงดูเด็กของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวปรารถนาที่จะให้เด็กเจริญรอยตามในสิ่งที่คาดหวัง เช่น อยากให้เขาเป็นนักดนตรี นักกีฬา หรือ มีความชำนาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ครอบครัวเหล่านี้จะพยายามบังคับ เคี่ยวเข็ญและผลักดันให้เด็กเดินไปในเส้นทางที่กำหนดไว้อย่างเต็มที่ ซึ่งเปรียบเสมือนกับงานช่างไม้ที่ต้องตัดหรือขัดไม้ในส่วนที่ไม่ได้ใช้ออกไป เพื่อให้ได้ตามแบบที่ต้องการ ซึ่งบางครั้งการทำเช่นนี้ ถ้าเด็กไม่ได้รู้สึกชอบ สนใจ หรืออยากเดินไปในเส้นทางนั้นจริง ๆ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความเกลียดชัง และทำให้พวกเขารู้สึกไม่มีความสุข ซึ่งมันจะส่งผลเสียต่อตัวเขาในระยะยาว ในขณะที่บางครอบครัว จะเน้นการยอมรับและเข้าใจในตัวเด็ก คอยให้การสนับสนุน และให้คำแนะนำ ในเรื่องที่เขาสนใจ ซึ่งเปรียบเสมือนชาวสวนที่ คอยดูแลพืชพันธุ์ให้เจริญงอกงาม และคอยทำนุบำรุงให้เติบโตและให้ได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่จำเป็นต้องใช้การบังคับ แต่เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเป็นมิตร ซึ่งช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขมากกว่า และรู้จักเผชิญโลกใบนี้ด้วยตัวเองมากขึ้น
 

พูดคุยและอ่านให้เขาฟัง

​การสื่อสารกับเด็กนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเราสื่อสารกับเขา รวมถึงการอ่านนิทานหรือหนังสือให้พวกเขาฟังมากเท่าไหร่ เด็ก ๆ ก็จะมีการคลังคำศัพท์ในสมอง รวมถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้จากการฟัง และสามารถนำสิ่งเหล่านั้นออกมาใช้ได้ในการตอบสนองสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมได้ นอกจากนี้การสอนให้พวกเขารู้จักอารมณ์ของคำพูดจากการเล่านิทาน ก็ยังช่วยให้พวกเขาเข้าใจและใช้ภาษาในการสื่อสารได้อย่างยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

อธิบายสิ่งต่าง ๆ

​เป็นธรรมดาที่เราจะทำอะไรก็ตามก็ควรที่จะมีเหตุผล และก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกเหมือนกันที่เวลาที่จะสอนหรือแนะนำอะไรให้เด็ก ๆ เราก็ควรที่จะต้องอธิบายอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่เขาชอบถามเสมอว่า “ทำไม” เพราะการอธิบายในสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และมีความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้มากขึ้น นอกจากนี้สิ่งที่เขาได้เรียนรู้นั้น จะกลายเป็นประสบการณ์ให้กับพวกเขา และทำให้พวกเขาสามารถใช้มันเพื่อตอบสนองกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอนาคตได้
​อย่างไรก็ดี การอธิบายที่ดีคือการให้เหตุผลที่แท้จริง ไม่ใช่ให้เพราะความรำคาญแบบขอไปทีหรือให้เป็นคำสั่ง ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรกับเด็ก และยังไม่ได้สร้างให้เขาเข้าใจสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นถ้าต้องอธิบายให้เด็ก ๆ ฟัง ควรอธิบายกับเขาอย่างตรงไปตรงมาจึงจะเหมาะสมที่สุด
 

จงมองที่การกระทำไม่ใช่ที่ตัวบุคคล

​แทนที่เราจะชมเชยเด็ก ๆ ด้วยคำว่า “เธอดีมาก” หรือ “เธอเก่งมาก” หรือตำหนิพวกเขาว่า เป็น “เด็กขี้เกียจ ไม่เอาไหน” เราควรที่จะพูดถึงการกระทำของเขามากกว่า เราสามารถชมเชยเด็ก ๆ ว่าเขาน่ารักมากที่ทิ้งขยะลงถังขยะ หรือตำหนิติติงเขาว่าเราเสียใจที่เขาทำตัวไม่น่ารักกับผู้ใหญ่ในครอบครัวได้ ซึ่งคำพูดเหล่านี้จะช่วยให้สมองของเด็กสามารถแยกแยะพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีออกจากกัน และช่วยให้เขาสร้างแนวคิดและอุปนิสัยของตัวเองที่เหมาะสมขึ้นมา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาบุคลิกของเด็กแต่ละคน
 

ช่วยให้เด็กเลียนแบบตัวเรา

​การเลียนแบบเป็นวิธีการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งธรรมชาติของเด็กนั้น มักจะเลียนแบบจากบุคคลใกล้ตัวที่มีอิทธิพลกับตัวเขา มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็ก ๆ มักจะทำสิ่งต่าง ๆ สื่อสาร หรือแม้แต่แสดงความคิดเห็น เหมือนกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง จนเรียกได้ว่าพวกเขาเปรียบเสมือนเงาที่สะท้อนตัวเราเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการทำสิ่งต่าง ๆ ของเราไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูด ล้วนอยู่ในสายตาของเด็ก ๆ ในความดูแลของเราแทบทั้งสิ้น เราจึงควรที่จะใช้โอกาสนี้ในผลักดันในสิ่งที่เขาชื่นชอบ ผ่านการเลียนแบบ และในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เขาเลียนแบบการกระทำที่ไม่ดีของเราด้วย
 

พาเด็ก ๆ ไปพบปะผู้คนจำนวนมาก

​มันอาจจะดูขัดกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่การพาเด็กตั้งแต่ช่วงยังเป็นทารกไปพบปะ ผู้คน เช่น ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง จะช่วยให้เขามีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น และเข้าใจความแตกต่างของผู้คนได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการพัฒนาความคิดที่ยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าการพาเด็กทารกไปคลุกคลีกับผู้คนที่พูดภาษาที่แตกต่างกันเป็นประจำ จะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาอื่นได้ดีขึ้นในอนาคตอีกด้วย
 

ปรบมือให้กับแนวคิดแปลกใหม่ของเขา

​เด็กชอบที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกใหม่ด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้ไม่ควรที่จะถูกห้ามปราม หรือตัดตอนด้วยข้อห้ามต่าง ๆ และแม้ว่าบางครั้งอาจเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก เช่น แยกชิ้นส่วนของเล่น หรือ ขีดเขียนกำแพง มันก็อาจเป็นความพยายามของพวกเขาในการที่จะเรียนรู้โลก ซึ่งผู้ปกครองควรที่จะปรบมือและชื่นชมแนวคิดที่เขาอธิบาย สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องยอมรับในพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของเด็ก แต่เป็นการที่รับยอมรับในความคิดของเขา ซึ่งเราสามารถที่จะให้คำแนะนำหรือข้อเสนอที่ดีกว่า เพื่อให้เขาแสดงออกในแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เขากล้าคิด กล้าทำ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งตัวเขาต้องพร้อมรับผลลัพธ์เหล่านั้นอย่างกล้าหาญ
 

​ความคิดที่ยืดหยุ่นนั้น นับเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยเราสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ยิดติดอยู่กับความคิดแบบเดิม ๆ เพียงอย่างเดียว ทำให้สามารถที่จะเปลี่ยนแผนหรือพลิกแพลงได้ตามสถานการณ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ใครที่มีความคิดที่ยืดหยุ่น เขาจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เข้ามาได้อย่างมีสติ และค้นพบแนวทางในการที่จะเดินหน้าไปต่อได้ ในขณะที่คนที่ขาดทักษะในส่วนนี้ กลับต้องหยุดชะงักและรู้สึกโมโหและหงุดหงิดกับอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้าจนไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรได้ มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สถาบันครอบครัวควรเป็นด่านแรกในการส่งเสริมเด็กในเรื่องนี้ ควบคู่กับการสั่งสอนในโรงเรียน ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้นโดยมีทักษะนี้ติดตัวและช่วยให้พวกเขาใช้ชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow