ในตอนต้นได้กล่าวถึงเทรนด์เทคโนโลยีสื่อสารเครือข่ายไร้สาย 5G ซึ่งเป็นเสมือนระบบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นซอฟต์แวร์ (software) ให้เราสามารถท่องโลกออนไลน์ได้ง่ายและเร็วขึ้นแต่เอาจริง ๆ แล้วตัวระบบจะไม่มีประสิทธิภาพได้เลยถ้าไม่มีฮาร์ดแวร์ (hardware) หรือตัวเครื่อง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการจัดการรับส่งสัญญาณ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการระบบข้อมูลต่าง ๆ
ในส่วนของเทรนด์ที่ 2 ที่เราจะพูดถึงในครั้งนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของเทรนด์ที่เปลี่ยนไปของโลกสมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือ ที่จากเดิมเราจะรู้จักกันในนามของโทรศัพท์มือถือ (mobile phone) ที่ช่วยในเรื่องของการ สื่อสารระหว่างเคลื่อนที่ให้เป็นไปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น มาจนถึงการวิวัฒนาการมาเป็นโทรศัพท์ที่เราเรียกว่า “ฟีเจอร์โฟน (feature phone)” ซึ่งเป็นโทรศัพท์ที่ใส่ความต้องการของรุ่นนั้น ๆ ไว้อย่างครบถ้วนเราไม่สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใหม่ ๆ มาใส่ได้เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานตามความต้องการพื้นฐานของผู้ใช้เป็นหลัก ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับสมาร์ทโฟนแล้วจะพบว่า ความแตกต่างที่สำคัญคือการที่เราสามารถดาวน์โหลดเพิ่มหรือลบแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการ สมาร์ทโฟน (smartphone) จึงกลายมาเป็นโทรศัพท์ที่เป็นมากว่าโทรศัพท์ที่ใช้ในการพูดคุยติดต่อและยังกลายเป็นอุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตของเราให้เป็นอย่างง่ายดายขึ้นภายใต้การเชื่อมต่อระหว่างเทคโนโลยีเครือข่ายการสื่อสารและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น Andrew J Firth ยังได้มีการอธิบายถึงความเร็วในการยอมรับเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนไว้ว่า “เมื่อพูดถึงความสามารถของนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีที่ถูกปล่อยเข้าสู่ระบบสังคมและสามารถสร้างการเปิดรับได้จากคนประมาณ 50 ล้านคนนั้นจะพบว่า วิทยุนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 38 ปีถึงจะสามารถรถเข้าถึงคนจำนวน 50 ล้านคนได้ โดยโทรทัศน์นั้นจะใช้เวลาประมาณ 14 ปี และระยะเวลาประมาณ 4 ปี สำหรับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ในขณะที่เราจะพบว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเป็นจำนวน 1 พันล้านคน ในเวลาเพียงแค่ 1 ปี เท่านั้น” ส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากวิวัฒนาการของสมาร์ทโฟนที่เริ่มจากการเปลี่ยนหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น ระบบกดเปลี่ยนเป็นทัชสกรีน ความจุข้อมูลเปลี่ยนจาก KBs เป็น GBs ตลอดจนระบบการประมวลผล การทำงานของข้อมูลต่าง ๆ รวดเร็วขึ้น ทำให้การส่งต่อข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างหลากหลายและรวดเร็วซึ่งนับเป็นพัฒนาการของสมาร์ทโฟนที่สำคัญ
จากรายงานของ Statista ระบุว่าจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลก ล่าสุดมีประมาณ 3.5 พันล้านคน คิดเป็นประมาณ 45.15% ของประชากรโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสมาร์ทโฟนที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันจนอาจกล่าวได้ว่า สมาร์ทโฟนเป็นเสมือนปัจจัยพื้นฐานในชีวิตลำดับที่ 5 ซึ่งหมายความว่าเราคงมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าขาดสมาร์ทโฟนเพราะสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีอิทธิพลอย่างมากต่อมนุษย์และส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั่นเอง
จากงานวิจัยของ Manoj Kumar ยังได้มีการอ้างถึงคำกล่าวที่ว่า “สมาร์ทโฟนในปัจจุบันเปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นในกระเป๋า (A Smartphone is essentially a computer in your pocket) โดยเป็นโทรศัพท์ที่มากกว่าอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการพูดคุย แต่ยังเป็นอุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยตอบสนองการทำงานหลาย ๆ ลักษณะแทนที่คอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย” อีกทั้งยังได้มีการอธิบายถึงศักยภาพการเติบโตทางการตลาดของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนเพื่อช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของสมาร์ทโฟนที่ส่งผลต่อการศึกษารายละเอียดดังนี้
1. เนื่องจากปัจจุบันคนทำงานส่วนใหญ่เริ่มมีความต้องการที่จะสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างชีวิต งานและการพักผ่อน ดังนั้นสมาร์ทโฟนจึงกลายมาเป็นปัจจัยที่ช่วยในการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนในศตวรรษที่ 1 ได้อย่างเหมาะสม
2. ปัจจุบันสมาร์ทโฟนถูกใช้โดยกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนโดยส่วนใหญ่ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีความรักในการเข้าถึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายสังคมเสมือนจริงบนโลกออนไลน์ ถนัดรับ-ส่งงานทางอีเมล์ ติดตามข่าวสารต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ และเลือกใชอุปกรณ์/แอปพลิเคชันได้ออย่างหลากหลายเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง
3.การเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Wi-Fi ที่ขยายพื้นที่ครอบคลุม ส่งผลให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้คนกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น จึงยิ่งทำให้สมาร์ทโฟนที่รองรับการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตและช่วยสนับสนุนการท่องโลกออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบจึงยิ่งมีความน่าสนใจและได้รับการยอมรับได้ง่ายมากขึ้น
4. จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของสมาร์ทโฟนก็ส่งผลให้การออกแบบเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่แต่ก่อนอาจให้ความสำคัญกับรูปแบบที่ตอบสนองการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่าต้องปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการออกแบบหน้าเว็บไซต์ที่ตอบสนองการทำงานของสมาร์ทโฟนมากขึ้น (mobile friendly websites)
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า แต่ก่อนเราอาจจะรู้สึกว่าสมาร์ทโฟนนั้นเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงสถานะทางสังคม กล่าวคือ คนมีสมาร์ทโฟนคือคนรวย คนมีสถานะทางสังคมสูง แต่ปัจจุบันเราจะพบว่าสมาร์ทโฟนกลายมาเป็นเหมือนอุปกรณ์ที่ต้องมี (must-have) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและใช้ชีวิตภายใต้การรู้เท่าทันปริมาณข้อมูลข่าวสารมหาศาลที่เกิดขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันสมาร์ทโฟนจึงมีการพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ววันต่อวันไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบประมวลผล ความสามารถในการจุข้อมูล ความสามารถอื่น ๆ เช่นกล้อง ปากกา เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้งานที่หลากหลายและเกือบจะแทนที่คอมพิวเตอร์ได้โดยสมบูรณ์ เราจะเริ่มเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่มีการระบุถึงแนวโน้มการใช้คอมพิวเตอร์ของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปในช่วงระยะเวลา 5 ปีระหว่างปี 2556 – 2560 พบว่ามีจำนวนผู้ใช้ลดลงจากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 30.8 ในขณะที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 73.3 เป็นร้อยละ 88.2 ซึ่งหมายความว่า จากทิศทางที่เติบโตขึ้นของสมาร์ทโฟนที่มีพัฒนาการในส่วนของเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ก็จะช่วยให้สมาร์ทโฟนมีความฉลาดมากขึ้น โดย AI ใน สมาร์ทโฟนนั้นจะมีบทบาทมากในด้านการ “เรียนรู้เจ้าของ” โดยบันทึกพฤติกรรมการใช้งาน การกด การปรับ การพิมพ์ การแก้คำ ฯลฯ แล้วเรียนรู้จดจำเพื่อนำไปปรับตั้งค่าต่าง ๆ ให้เหมาะที่สุดกับเจ้าของได้เอง ซึ่งที่ผ่านมา AI เข้ามาพัฒนาสมาร์ทโฟนในด้านต่างๆ เช่น
1. การเพิ่มประสิทธิภาพกล่องถ่ายรูป
2. การแปลภาษาแบบเรียลไทม์
3. การช่วยจัดการชีวิตประจำวัน
4. การสแกนใบหน้าและการระบุตัวตนโดยใช้ใบหน้า
5. เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะด้านเสียงเพื่อช่วยในการทำงานต่าง ๆ ได้มากขึ้น
ส่งผลให้สมาร์ทโฟน จึงเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตของเราให้ดีขึ้น มีความสามารถในการเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของได้วิเศษที่สุด
อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงสมาร์ทโฟน ประเด็นหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการพูดถึงแอปพลิเคชันที่พัฒนากันมาอย่างหลากหลายเพื่อช่วยในการตอบสนองความต้องการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ โดยอาจกล่าวได้ว่า สมาร์ทโฟนจะไม่มีประสิทธิภาพได้อย่างสมบูรณ์เลยถ้าไม่มีแอปพลิเคชันต่าง ๆ มาช่วยเสริมให้การทำงานของตัวสมาร์ทโฟนนั้นตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้มากขึ้น ดังนั้นในส่วนของเนื้อหานี้เราคงต้องจำเป็นที่จะต้องพูดถึงแอปพลิเคชันที่มีการออกแบบมาตอบโจทย์ทุกความต้องการอย่างไม่มีข้อจำกัดเพื่อยกระดับสมรรถภาพการทำงานของมนุษย์ให้เพิ่มขึ้น
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีในอนาคตเราจะพบว่า ตัวเทคโนโลยีนั้นจะมีการอัพเกรดแบบไม่มีที่สิ้นสุด ตัวเทคโนโลยีหรือระบบปฏิบัติการในเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีการเรียนรู้และอัพเกรดอยู่เรื่อย ๆ เหมือนการเปลี่ยนรูปร่างหน้าต่างของแอปพลิเคชันต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ในการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยส่วนใหญ่เราจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลง ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วตัวเทคโนโลยีเองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อให้ตอบสนองการทำงานของ User มากขึ้น ในมุมมองทางด้านการศึกษาเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนหรือ mobile device นั้นเราจะพบว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาตัวอย่างง่าย ๆ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า ระบบการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนในทุกช่วงวัยถูกย้ายไปสู่ระบบการเรียนแบบออนไลน์ทั้งระบบ ซึ่งหมายความว่าในการเรียนแบบออนไลน์นั้นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนในฐานะของการเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในระบบออนไลน์ที่ทางโรงเรียนมีการจัดไว้ให้เพื่อการเรียนรู้ ยิ่งไปกว่านั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสืบเนื่องจากเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนนั้นทำให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แหล่งเรียนรู้บนโลกออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ มีมากบนออนไลน์แพลตฟอร์ม อีกทั้งในส่วนของแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันทางด้านการศึกษาที่งานวิจัยของบริษัท Technavio ได้มีการสำรวจพบว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้นเป็นกลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวของแอปพลิเคชันทำงด้านการศึกษาอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา
การเข้ามาของเทรนด์โลกของสมาร์ทโฟน (Smartphone) นั้นจะส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา ดังนี้
1. สืบเนื่องจากแนวทางการจัดการหลักสูตรต่าง ๆ เริ่มขยับจากหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาเป็นฐานไปสู่การเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และหลักสูตรที่มุ่งเน้นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และคิดวิจารณญาณมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งล้วนมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ได้เพียงนิ้วเดียว โดยผ่านการใช้สมาร์ทโฟน ดังนั้นแนวทางการจัดการเรียนรู้ของครูย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นท่องจำและสอนแบบบรรยายเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอเพราะสิ่งเหล่านั้น นักเรียนสามารถแสวงหาได้เองอย่างง่ายดายผ่านสมาร์ทโฟน กล่าวคือต้องมีการปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการเสริมสร้าง การคิดวิเคราะห์และมุ่งเน้นการสอนแบบโปรเจคที่เน้นกระบวนการสืบค้น รู้จักประยุกต์ใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
2. สมาร์ทโฟนช่วยให้เราสามารถเข้าถึง encyclopedias แหล่งความรู้ พจนานุกรมต่าง ๆ ได้เพียงปลายนิ้ว เพียงแค่กดเข้าไปในสมาร์ทโฟน นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่หลากหลาย ทั้งนี้ในฐานะผู้สอนควรให้ความสำคัญกับการปรับบทบาทเป็นผู้ชี้แนะ ผู้แนะนำแหล่งข้อมูลที่เหมาะสม เชื่อถือได้ เพื่อสร้างการเข้าถึงข้อมูลเนื้อหาที่ถูกต้อง พร้อมรู้เท่าทันข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏบนโลกของสมาร์ทโฟนได้อย่างเหมาะสม
3. สมาร์ทโฟนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยเฉพาะในการเรียนรู้แบบกลุ่ม (group projects) กล่าวคือ นักเรียนจะสามารถบริหารจัดการโปรเจคร่วมกันผ่านการแชร์ข้อมูล พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้มากขึ้นโดยผ่านแอปพลิเคชันทั้งที่เป็นแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสารพูดคุย ประชุมทางไกล หรือการจดโน้ต ส่งผ่านข้อมูล เป็นต้น
จากรายละเอียดข้างต้นจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน นั้นมีผลอย่างมากต่อการสนับสนุนการเรียนรู้แบบร่วมมือที่เน้นการแลกเปลี่ยนความคิด ร่วมกันวิเคราะห์ สืบค้น และร่วมกันเลือกใช้ข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาโปรเจคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยีนั้นก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้านเสมอ เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนก็เช่นกันถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลเฉพาะเจาะจงที่มาช่วยสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า “สมาร์ทโฟนนั้นสามารถบั่นทอนผลการเรียนรู้ของเด็กทุกคนได้” แต่ก็ยังมีนักวิชาการหลากหลายด้านที่ร่วมแสดงความเห็นในแง่ของผลกระทบด้านลบของการใช้สมาร์ทโฟนไม่ว่าจะเป็น Richard Freed นักจิตวิทยาทางคลินิกที่มีความเชื่อว่า ผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนในอัตราที่สูงนั้นมีผลเชิงลบต่อความสำเร็จทางการเรียน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสุดท้ายแล้วโดยส่วนใหญ่เราจะพบว่า เด็กนั้นมีการใช้สมาร์ทโฟนโดยมีเป้าหมายเพื่อความบันเทิงมากกว่าการเรียนรู้ รวมทั้งจากข้อค้นพบจากการศึกษาของ Richard Murphy และ Louis-Philippe Beland ที่พบว่า ผลจากการห้ามนำสมาร์ทโฟนเข้าไปในห้องเรียนนั้นมีผลอย่างมากต่อเด็กนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การเรียนรู้โดยพบว่า การห้ามนำสมาร์ทโฟนเข้าไปนั้นช่วยเพิ่มคะแนนและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น
ดังนั้นในกรณีของการนำไปประยุกต์ใช้นั้นควรอยู่ในการดูแลของคุณครูโดยครูควรนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อกระตุ้นความสนใจให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากขึ้น ตลอดจนเลือกใช้ให้สร้างสรรค์เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เปิดโลกการเรียนรู้ในมุมมองใหม่ เป็นการเติมเต็มศักยภาพของนักเรียนโดยสมบูรณ์ต่อไป
โดย มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี
ภายใต้การเดินงานของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัย พัฒนา และสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ