การประเมินที่เสริมพลังตามสภาพจริง มีหลักการที่สำคัญ ได้แก่
1. การให้ประเมินหลายฝ่าย เช่น ผู้สอนประเมินผู้เรียน ผู้เรียนประเมินตนเอง หรือการประเมินโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นต้น
2. การใช้วิธีการและเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น การสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ การประเมินจากผลการปฏิบัติ การทดสอบ หรือการรายงานตนเองของผู้เรียน เป็นต้น
3. ประเมินตนเองอย่างต่อเนื่องหลายช่วงเวลา เช่น การประเมินก่อนเรียน การประเมินหลังเรียน การประเมินระหว่างเรียน และการประเมินติดตามผล เป็นต้น
4. การให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ โดยที่ควรออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์และกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน
การประเมินการเรียนรู้ในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน มีแนวทางการประเมินเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ดังนี้
1. Assessment for learning มีลักษณะเป็นการประเมินในขณะการจัดการเรียนรู้
2. Assessment as learning เป็นการประเมินตนเองของผู้เรียนในขณะปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้
3. Assessment of learning เป็นการประเมินผลการเรียนรู้ภายหลังสิ้นการจัดการเรียนรู้
ซึ่งแนวทางการประเมินทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว ผู้สอนควรเลือกใช้ให้เหมาะกับกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน
สำหรับการประเมินผลการเรียนรู้นั้น ผู้สอนควรประเมินให้ครอบคลุมทั้งด้านกระบวนการเรียนรู้หรือที่เรียกว่า Process assessment ผลการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า Product assessment และความก้าวหน้าทางการเรียนรู้หรือที่เรียกว่า Progress assessment แล้วนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลต่อไป
การประเมินยุคใหม่ใน New normal แตกต่างจากการประเมินโดยทั่วไปที่ผู้สอนเป็นผู้ประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่การประเมินยุคใหม่จะเน้นการให้ผู้เรียนประเมินตนเองมากขึ้น ผู้เรียนได้สะท้อนความคิดและถอดบทเรียนนำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้การประเมินในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานจึงควรให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ทักษะในการประเมินตนเองมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นการประเมินจึงควรเปลี่ยนการประเมินจากเชิงรับเป็นการประเมินเชิงรุก โดยให้ผู้เรียนประเมินตนเองให้มากขึ้น ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ได้มากกว่าการประเมินแบบเชิงรับ ที่ผู้เรียนต้องรอให้ผู้สอนประเมินแต่เพียงอย่างเดี่ยว
สำหรับบทบาทผู้สอนในการกระตุ้นให้ผู้เรียนประเมินตนเองในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานนั้นประกอบด้วย
1. สร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือ Trust
2. กระตุ้นผู้เรียนให้เห็นคุณค่าของการประเมินตนเอง
3. อำนวยความสะดวกด้านเครื่องมือประเมินเพื่อให้ผู้เรียนมีแนวทางในการประเมินตนเอง
4. ตรวจสอบผลการประเมินตนเองของผู้เรียนแล้วให้ข้อมูลย้อนกลับ
5. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนคิดและถอดมาเรียน
สำหรับการเลือกใช้วิธีการประเมินที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น หากพิจารณาตามแผนภาพที่แสดงให้เห็นนี้จะพบว่า ผู้สอนควรเลือกใช้วิธีการประเมินที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่ต้องการพัฒนาให้เกิดกับผู้เรียน
กล่าวโดยสรุป คือ ผู้สอนควรเลือกใช้วิธีการประเมินที่มีตัวอักษร H ซึ่งหมายถึงเป็นวิธีการประเมินที่มีประสิทธิภาพสูงให้ผลการประเมินที่เชื่อถือได้และมีสารสนเทศสำหรับนำไปพัฒนาผู้เรียนต่อไป เมื่อทำการประเมินผลการเรียนแล้วสิ่งที่ผู้สอนจะต้องดำเนินการต่อไป คือ การให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ที่เป็นการเสริมพลังการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยการให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสร้างสรรค์นั้นเป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้น หลักการให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ประกอบด้วย
1. การให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ว่าผลการประเมินจะเป็นอย่างไร ผู้เรียนจะต้องแจ้งให้ผู้เรียนทราบ
2. ให้ข้อมูลย้อนกลับด้วยวิธีการที่นุ่มนวล สอดคล้องกับระดับความรู้และวุฒิภาวะของผู้เรียน
3. เลือกเวลาและสถานที่ในการให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างเหมาะสม การให้ข้อมูลย้อนกลับที่ดี ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาขึ้นนั้น ผู้สอนควรให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ผลการเรียนรู้ จุดแข็ง จุดที่ควรปรับปรุงและที่สำคัญคือการชี้แนะแนวการปรับปรุงและพัฒนาตนเองของผู้เรียนรายบุคคล
นอกจากนี้การให้ Feedback ยุคใหม่ ยังใช้การสื่อสารเชิงบวกด้วยความจริงใจ ช่วยกระตุ้น Passion เสริมสร้าง Growth mindset และส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้เรียนไปเรียนรู้ต่อยอดด้วยตนเองหรือที่เรีกว่า Feed forward ที่เป็นการสร้างศักยภาพผู้เรียน ในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานอีกด้วย
เทคนิคง่าย ๆ สำหรับการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน คือ การให้ผู้เรียนถอดบทเรียนของตนเอง โดยตอบคำถามหลังการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ 3 ประการตามลำดับ ไดแก่
1. ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้เป็นอย่างไร
2. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้คืออะไร
3. จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร
ซึ่งการให้ผู้เรียนถอดบทเรียนของตนเองจะช่วยทำให้การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน มีควาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้สอนควรพิจารณานำไปใช้ในการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน