สิ่งสำคัญในการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน คือ การเปิดใจกว้างของผู้สอน เรียกว่า Open Mind ในการที่จะให้โอกาสผู้เรียนใช้เทคโนโลยีในการสนับสนุนการเรียนรู้และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน จะเป็นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ผู้เรียนจะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ พื้นที่การเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นพื้นที่ของการคิดและการใช้ศักยภาพของตนเอง ในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย
ประการที่ 1 การกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้หรือสิ่งที่ตนเองต้องการประสบการความสำเร็จในการเรียนรู้
ประการที่ 2 การออกแบบและใช้วิธีการเรียนรู้ของตนเองตามที่ถนัดและสนใจ
ประการที่ 3 การมีโอกาสได้ประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเอง
ประการที่ 4 การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปทำประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
ประการที่ 5 การมีโอกาสได้สะท้อนความคิดของตนเองหรือที่เรียกว่า Self-reflection เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ครั้งใหม่ต่อไป
โดยพื้นที่การเรียนรู้ดังกล่าวเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน ต้องการพื้นที่การเรียนรู้ของตนเองมากกว่าการให้ผู้สอนนำมาพิจารณาในการออกแบบการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน ดังนั้นผู้สอนควรเชื่อมต่อพื้นที่การเรียนรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ พื้นที่การเรียนรู้ออนไลน์ เป็น Platform การเรียนรู้ Digital และพื้นที่การเรียนรู้ตามสภาพจริง ซึ่งเป็น Platform การเรียนรู้ตามสภาพจริง โดยใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนควรได้รับการฝึกทักษะในเรื่องการแสวงหาความรู้ ใช้คำสำคัญหรือแนวคิดหลัก แล้วสรุปสาระสำคัญหรือแนวคิดหลัก วิเคราะห์ สังเคราะห์ แล้วเชื่อมโยงกับแนวคิดหลักอื่น ๆ และนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ผู้เรียนสนใจ โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นโค้ชและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
สำหรับการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน มีกระบวนทัศน์หลัก ได้แก่
ประการที่ 1 การออกแบบการจัดการเรียนรู้จะต้องตอบสนองความต้องการ การเรียนรู้ที่หลากหลายของผู้เรียนได้
ประการที่ 2 การออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่มาสนับสนุนการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและพอเพียง
ประการที่ 3 จะต้องให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ทุกเวลาและสถานที่
ประการที่ 4 การผสมผสานการเรียนรู้ตามสภาพจริง
ประการที่ 5 การส่งเสริมวินัยและการเรียนรู้ของผู้เรียน ผ่านการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ
ซึ่งกระบวนทัศน์ดังกล่าวจะช่วยทำให้ได้การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานนั้น ในปัจจุบันผู้สอนจะออกแบบการเรียนรู้ในลักษณะผสมผสานระบบการเรียนรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ การเรียนรู้ในชั้นเรียน การเรียนรู้ในพื้นที่ครอบครัว ชุมชน และการเรียนรู้ออนไลน์อย่างลงตัว ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมี Passion หรือความใฝ่ฝันในการเรียนรู้
ลักษณะการเรียนรู้ตอบสนองความต้องการเรียนรู้ส่วนบุคคลหรือเรียกว่า Perrsonalized learning อาจจะเป็นการเรียนรู้แบบทฤษฏีนำปฏิบัติ ตลอดจนการเรียนรู้ออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนในทุก ๆ Platform การเรียนรู้ ผู้สอนที่จะออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานจะช่วยพัฒนาศักยภาพ การสร้างสรรค์นวัตกรรมของผู้เรียน ซึ่งผู้สอนเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็นโค้ชของผู้เรียน โดยการกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม
สำหรับการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานมีลักษณะเด่นประการหนึ่ง คือ การบูรณาการ (Integration) หมายถึง การทำให้บทเรียนมีความสมบูรณ์ สามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเป็นองค์รวม โดยที่การบูรณาการนั้นมีลักษณะ เช่น การบูรณาการเนื้อหาสาระกับเนื้อหาสาระ การบูรณาการเนื้อหาสาระกับวิธีการ การบูรณาการเนื้อหาสาระกับกระบวนการเรียนรู้ การบูรณาการความรู้ ความคิด ค่านิยม และคุณธรรมจริยธรรม การบูรณาการความรู้กับการปฏิบัติ การบูรณาการความรู้กับวิถีชีวิตของผู้เรียน เป็นต้น ซึ่งการบูรณาการที่ลงตัวจะช่วยให้การออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานมีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน
สิ่งสำคัญของการบูรณาการที่ผู้สอนให้ความสำคัญในการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน คือ การบูรณาการเนื้อหาสาระและกิจกรรมการเรียนรู้เข้าด้วยกันอย่างลงตัว เรียกว่า Process Content โดยเนื้อหาสาระที่จะต้องนำมาบูรณาการนั้นจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ความรู้ หมายถึง Key concept ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้
ส่วนที่ 2 ทักษะ หมายถึง ทักษะต่าง ๆ ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา เช่น ทักษะการคิด ทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการคิดริเริ่ม ทักษะการสื่อสาร ทักษะอาชีพ เป็นต้น
ส่วนที่ 3 คุณลักษณะอันพึงประสงคผ์ของผู้เรียน เช่น ความมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เป็นต้น
ส่วนที่เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ เรียกว่า Learning activities มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ซึ่งกระบวนการเรียนรู้นี้ จะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนต่อไป เช่น กระบวนการคิด วิเคราะห์ ที่ประกอบด้วยขั้นตอนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นที่ 1 การจำแนก
ขั้นที่ 2 การจัดหมวดหมู่
ขั้นที่ 3 การสรุปอย่างสมเหตุผล
ขั้นที่ 4 การประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่
ขั้นที่ 5 การคาดการณ์บนพื้นฐานข้อมูล
ซึ่งผู้สอนควรออกแบบการจัดการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรม การเรียนรู้ไปตามแต่ละขั้นตอน โดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุน ในทำนองเดี่ยวกัน หากผู้สอนใช้กระบวนการทำงาน ในกรณีที่มอบหมายให้ผู้เรียนร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานใด ๆ ผู้สอนควรให้ผู้เรียนใช้กระบวนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนของการเรียนรู้ ได้แก่
ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์งาน
ขั้นที่ 2 การว่างแผนการทำงาน
ขั้นที่ 3 การปฏิบัติตามขั้นตอน
ขั้นที่ 4 การประเมินผล
โดยใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน การออกแบบการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในยุค New normal จะตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ตามมาตรฐานหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์ความใฝ่ฝันหรือ Passion ของนักเรียนที่ต้องการประสบความสำเร็จ
ขั้นที่ 2 การวิเคราะห์สาระและกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความใฝ่ฝันของผู้เรียน
ขั้นที่ 3 การวิเคราะห์เทคโนโลยีและระบบปฏิบัติการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน
ขั้นที่ 4 การเตรียมทรัพยากรการเรียนรู้
ขั้นที่ 5 จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะเปิดพื้นที่การเรียนรู้
ขั้นที่ 6 การประเมินประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการใช้เทคโนโลยี
โดย มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี
ภายใต้การเดินงานของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัย พัฒนา และสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ