Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

8 ทักษะที่นักเรียนควรมี เพื่อให้อยู่รอดไม่ว่าจะยุคสมัยใด

Posted By Plook Teacher | 28 ม.ค. 64
19,046 Views

  Favorite

โลกของเรานั้น มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งแต่ละยุคสมัยนั้นต่างมีความคาดหวังและเป้าหมายในการพัฒนาที่แตกต่างกันไป จึงทำให้ทักษะต่าง ๆ ของมนุษย์เราตามความต้องการของแต่ละยุคสมัยนั้น จำเป็นต้องลดทอน ปรับเปลี่ยน หรือ เพิ่มเติมขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาในยุคสมัยนั้น ๆ

แม้ว่าแต่ละยุคสมัยนั้นจะมีความต้องการในแต่ละทักษะที่อาจไม่เหมือนกัน แต่ก็มีทักษะสำค้ญที่ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น และควรอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนจะต้องส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะเหล่านี้ ซึ่งทักษะที่กล่าวถึงตามความเห็นข้อผู้เขียนนั้น มีดังนี้

         

ทักษะในการบริหารจัดการการเงิน

             ทักษะในการบริหารและการจัดการเงิน นับเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะในโลกที่เศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดและขับเคลื่อนทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศ การที่คนเรามีทักษะในการบริหารและจัดการการเงินจะช่วยให้เรามีรายได้และสามารถบริหารจัดการหนี้สินได้อย่างมีคุณค่าและมีประสิทธิภาพ

             ต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่องนี้น้อยมาก เพราะมองว่า นักเรียนไม่ได้มีเงินทองอะไรมากมายนั้น แค่สอนให้นักเรียนรู้จักประหยัดและอดออมก็เพียงพอ แต่ความเป็นจริงมูลค่าของเงินนั้นลดลงทุกปี สมัยก่อนมีเงินยี่สิบบาท อาจทานอาหารได้หนึ่งมื้อ แต่ปัจจุบันจะหาอาหารจานละยี่สิบนั้นก็เป็นเรื่องที่ยากเต็มที่ ดังนั้นจะใช้แต่ความประหยัดและการอดออมอย่างเดียวไม่ได้ ครูผู้สอนจึงควรสอนหรือจัดประสบการณ์ให้นักเรียนได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการลงทุนอย่างเหมาะสมด้วย โดยเริ่มต้นจากการแบ่งสรรปันส่วนเงินได้ โดยแบ่งเป็นเงินสำหรับใช้จ่าย สำหรับลงทุน และสำหรับการออมเพื่อใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ควรสอนให้นักเรียนรู้จักการลงทุนแบบง่าย ๆ และมีความเสี่ยงต่ำอย่าง การฝากเงิน หรือ การซื้อสลากออมทรัพย์ ซึ่งเป็นการลงทุนเบื้องต้นที่นักเรียนสามารถดำเนินการได้

 

ทักษะในการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี

             ทักษะการใช้เทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนในยุคสมัยนี้ทุกคนต้องมี เพราะต่อไปนี้ โลกทั้งใบจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งถ้าเราล่าช้าตามไม่ทันจะทำให้เราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ และส่งผลต่อการจ้างงานตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันได้

             ครูผู้สอนควรส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ให้มากขึ้น และควรจัดสรรเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องการเรียนในชั้นเรียนให้เพียงพอและมีความทันสมัย นอกจากนี้ควรสอนให้นักเรียนใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับตัวเอง และเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องต่อสังคม ไม่ใช้เทคโนโลยีในการฉกฉวยหรือคดโกงโดยมิชอบ รักและสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้เสมอ และสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่าง เข้าใจ เข้าถึง และมีภูมิคุ้มกัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

ทักษะในการใช้ภาษาต่างประเทศ

             นอกจากภาษาไทยที่เป็นภาษาทางการที่นักเรียนทุกคนสื่อสารได้อยู่แล้วนั้น สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างคือ ภาษาต่างประเทศนั้น ทุกวันนี้ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ก็แทบจะเป็นภาษาทางการที่คนส่วนใหญ่สามารถใช้การสื่อสารกันได้ และถ้าใครก็ตามสามารถใช้ภาษาอื่นที่นอกเหนือจากภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ เช่น ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน หรือ ภาษาฝรั่งเศส ก็ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานที่มากขึ้น และนำมาสู่การมีรายได้ที่สูงขึ้นตามมา

             ด้วยเหตุนี้การสอนภาษาต่างประเทศในชั้นเรียนนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ต่อการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักเรียนควรได้เรียนภาษาอย่างเหมาะสมตามหลักภาษาศาสตร์ของแต่ละภาษานั้น ๆ มีโอกาสได้เรียนหรือใช้ภาษากับเจ้าของภาษาซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีความมั่นใจในการใช้ภาษานั้น ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ มันจะเป็นการดีมากถ้าครูผู้สอนทั่วไป สอนโดยไม่จำกัดเฉพาะครูที่สอนในภาษาต่างประเทศ สามารถสื่อสารกับนักเรียนด้วยภาษาต่างประเทศได้ เพราะจะช่วยสร้างบรรยากาศของการใช้ภาษาต่างประเทศให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมากและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการฝึกทักษะทางภาษาของนักเรียน

 

ทักษะในการคิดวิเคราะห์แยะแยะข้อมูลสารสนเทศ

             ปัจจุบันโลกใบนี้เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมายบนโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และข้อมูลที่ไร้ประโยชน์ ข้อมูลที่เป็นจริง และข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งการแยกแยะและเลือกเฟ้นข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ และทักษะในการคิดวิเคราะห์แยกแยะอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้สามารถค้นหาและเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและบุคคลอื่นได้ และไม่เชื่อถือในข้อมูลที่ผิด ๆ

             การส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์และแยกแยะข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ อย่างเหมาะสมนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนรอดพ้นจากการจู่โจมของสื่อ ซึ่งมาในรูปแบบของข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ดังนั้นการให้นักเรียนร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ โดยมีครูผู้สอนคอยให้ข้อเท็จจริงและคำชี้แนะ จะช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

ทักษะในการปรับตัว

             ทักษะในการปรับตัวนั้น คือการที่เรารับรู้และเข้าใจถึงกระแสความเปลี่ยนแปลง และสามารถปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราจะพบว่าโลกใบนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์ หรือในแง่ของสังคม การรู้จักปรับตัวจะช่วยให้เราดำรงชีวิตท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

             การจัดกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเน้นกิจกรรมที่ต้องทำงานเป็นกลุ่มที่แตกต่างกัน จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ในเรื่องของการปรับตัวได้ดี เพราะการที่นักเรียนต้องทำงานกับเพื่อนหลาย ๆ กลุ่มนั้น จะทำให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกันบุคคลอื่น ซึ่งนักเรียนสามารถนำเอาประสบการณ์เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียน การทำงาน หรือการดำเนินชีวิตประจำวันได้

 

ทักษะในการบริหารจัดการความเครียด

             ความเครียดนั้น คือภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่เราต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งส่งผลทำให้รู้สึกกดดัน ไม่สบายใจ ว้าวุ่นใจ และวิตกกังวล ซึ่งข้อดีความภาวะความเครียดนั้น คือการที่เป็นแรงกระตุ้นให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จ แต่ถ้าเรามีความเครียดสะสมมากจนเกินไป ก็อาจกลายเป็นภัยคุกคามที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จะส่งผลให้สภาวะสมดุลของร่างกายและจิตใจสูญเสียไปได้

             การให้เวลาว่างในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับนักเรียน โดยไม่ปิดกั้นกิจกรรมที่นักเรียนสามารถทำได้ จะช่วยให้ลดความเครียดของนักเรียนที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งจากการเรียนหรือปัญหาอื่น ๆ ได้ ซึ่งกิจกรรมที่นักเรียนทำในยามว่างนั้น อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบำบัดความเครียดให้กับนักเรียน ซึ่งเมื่อความเครียดของนักเรียนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและเหมาะสมแล้ว การเรียนของนักเรียนนั้นก็จะประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้นักเรียนมีประสบการณ์ ในการจัดการความเครียดได้ดีขึ้น

 

ทักษะในการเจรจาต่อรอง

             การเจรจาต่อรองคือกระบวนการในการแก้ปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ โดยสันติวิธี ด้วยการประนีประนอม และสามารถทำข้อตกลงโดยที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ นอกจากนี้ทักษะในด้านนี้ ยังเป็นการประยุกต์ใช้ทักษะทางภาษาเพื่อการสื่อสารอย่างเหมาะสมอีกด้วย

             การที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะในการเจรจาต่อรองนั้น สิ่งสำคัญเบื้องต้นคือต้องสอนให้นักเรียนรู้จักฟังให้มาก เพราะยิ่งเราฟังมากเท่าไหร่ เราก็จะทราบถึงเป้าหมายและความต้องการของคู่กรณีมากขึ้น และสามารถเจรจาเพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่ายได้ นอกจากนี้ การทำกิจกรรมโรงเรียนต่าง ๆ เช่น กิจกรรมกีฬาสี หรือกิจกรรมเข้าค่าย โดยให้นักเรียนมีบทบาทในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งการจัดงาน การประสานงาน หรือ การประชาสัมพันธ์ ก็นับเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ช่วยขัดเกลาทักษะในการเจรจาต่อรองของนักเรียนได้ดีขึ้น

 

ทักษะในการดูแลสุขภาพ

             ทั้งปัญหาฝุ่นละอองและปัญหาโรคระบาด จะเห็นได้ว่า เรื่องของสุขภาพนั้น กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องดูแลและใส่ใจ เพราะการปล่อยปะละเลยในเรื่องนี้ อาจต้องแลกมาด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่และการรักษาที่สิ้นเปลือง ซึ่งการดูแลสุขภาพไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารตามโภชนาการครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย และการรู้จักป้องกันตัวเองจากปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนควรต้องทำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในยุคสมัยนี้

             การสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพต่าง ๆ ให้กับนักเรียน นับว่าเป็นแนวทางที่ดีที่ช่วยให้นักเรียนมีทักษะในการดูแลสุขภาพมากขึ้น และทำให้กลายอุปนิสัยติดตัวที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการใช้ชีวิตของนักเรียนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

 

        ทั้งหมดนี้คือทักษะสำคัญที่ผู้เขียนมองว่า ครูผู้สอนควรส่งเสริมให้นักเรียนมี ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด เพราะแม้โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ ทักษะเหล่านี้ก็ยังคงมีประโยชน์และความสำคัญ นอกจากนี้ยังถือเป็นทักษะพื้นฐานที่ช่วยให้เรามีเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับยุคสมัยได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow