ประโยชน์ของการทำการบ้านนั้น นอกจากจะเป็นตัวช่วยในการทบทวนความรู้ที่ได้เรียนมาแล้ว ยังช่วยให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะในวิชาต่าง ๆ ให้เชี่ยวชาญมากขึ้น เช่น การฝึกถอดความจากบทความต่าง ๆ การแก้โจทย์สมการคณิตศาสตร์ หรือการแปลประโยคภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เป็นต้น ซึ่งการบ้านนั้นจะช่วยให้นักเรียนได้มีการฝึกฝนทำซ้ำ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนชำนาญและสามารถใช้ประโยชน์จากทักษะเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้การบ้านยังเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความรับผิดชอบของนักเรียน รวมไปถึงการจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสม เพราะถ้านักเรียนสามารถทำการบ้านได้ถูกต้อง ครบถ้วน และสะอาดสะอ้าน พร้อมทั้งสามารถนำมาส่งได้ตรงเวลาที่กำหนด นั่นหมายความว่านักเรียนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีอย่างหนึ่งของมนุษย์
การบ้านนั้นเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์สำหรับนักเรียนเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี การให้การบ้านกับนักเรียนมากเกินไปนั้น ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะแทนที่นักเรียนจะได้มีเวลาว่างหลังเลิกเรียนในการเรียนรู้อย่างสนุกสนานตามความสนใจของตัวเอง กลับต้องเสียเวลาทั้งหมดไปกับการทำการบ้านในแต่ละวิชา ซึ่งทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเรียน และขาดการเรียนรู้ด้วยตัวเองในเรื่องที่ตนสนใจ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญอย่างมากกับการพัฒนาชีวิตของนักเรียนในศตวรรษนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่จำเป็นต้องแสวงหาความสนใจของตัวเองเพื่อต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัย
ด้วยเหตุนี้เอง ภาครัฐจึงเล็งเห็นถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ในโรงเรียน โดยมองถึงทั้งการปรับลดเวลาเรียน ปรับลดการบ้าน รวมถึงปรับปรุงแนวทางในการวัดและประเมินผล ซึ่งทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรึและนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั้น ต่างเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ ตามการเปิดเผยของ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้ปรึกษาหารือกัน และได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ไปดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องนี้
โดยเบื้องต้นนั้นสำหรับเรื่องของการลดการบ้านนักเรียน จะเป็นการแจ้งแนวทางปฏิบัติในเรื่องของการบ้านให้โรงเรียนทราบและยึดถือปฏิบัติ จากนั้นจึงจะเริ่มทำการทดลองลดการบ้านนักเรียนจริงในภาคเรียนที่ 2 โดยจะเปิดภาคเรียนในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งล่าช้าออกไปเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค Covid-19
สำหรับการดำเนินการนั้น จะเน้นให้โรงเรียนใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ โดยผสมผสานการเรียนในห้องเรียน ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้การบ้านที่ครูผู้สอนจะให้กับนักเรียนนั้น จะต้องเป็นงานที่เน้นให้นักเรียนลงมือปฏิบัติและจบในชั่วโมงเรียน
ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษา ได้แบ่งเนื้อหาการเรียนรู้ออกเป็น 8 กลุ่มสาระวิชา และสามารถแยกย่อยได้เกือบ 20 รายวิชา ดังนั้น ในแต่ละวันครูผู้สอนอาจจะให้การบ้านกับนักเรียนได้ถึง 2-4 วิชา ทำให้นักเรียนจะต้องใช้เวลาในการทำการบ้านเฉลี่ยถึงวันละ 1-3 ชั่วโมงทีเดียว ซึ่งนับเป็นการใช้เวลาทำการบ้านที่มากเกินไปในมุมมองของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์ มองว่าการลดการบ้านนี้เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการมานานแล้ว ซึ่งการที่นักเรียนมีการบ้านจำนวนมาก เป็นผลมาจากหลักสูตรการศึกษาที่เป็นลักษณะของกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากว่า 30 ปี ทำให้นักเรียนต้องเรียนมากเกินควรจำเป็น ทั้งนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ แนะนำว่าทางภาครัฐควรเร่งพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จะนำมาแทนกลุ่มสาระวิชาให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้โดยเน้นการฝึกปฏิบัติมากขึ้น ซี่งเป็นประโยชน์อย่างมากในยุคปัจจุบัน
สำหรับนโยบายนี้ แม้ว่าศ.ดร.สมพงษ์ จะเห็นด้วย แต่ก็ยังมองว่ามีความคลุมเครืออยู่มาก เพราะหลักสูตรการศึกษานั้นยังคงเป็นหลักสูตรเดิม อีกทั้งทัศนคติของพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังติดอยู่ที่ว่านักเรียนควรจะต้องมีการบ้าน ซึ่งเหมือนเป็นเครื่องยืนยันการเรียนรู้ของนักเรียน และการสอนของครูผู้สอน ซึ่งถ้ายกเลิกการบ้านตามนโยบายแล้ว ครูผู้สอนจะจัดการเรียนการสอนเช่นไร ให้มีแบบฝึกในห้องเรียน หรือให้นักเรียนทำการบ้านกับครูผู้สอนหรือไม่ และหากโรงเรียนไม่ปฏิบัติตาม กระทรวงศึกษาธิการจะมีมาตรการในการจัดการเช่นไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงศึกษาธิการจะต้องไปคิดและหาวิธีดำเนินการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันมีหลายโรงเรียนที่เริ่มมีนโยบายเกี่ยวกับการลดการบ้านเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนวัดบวรนิเวศที่ใช้แนวคิดโรงเรียนปลอดการบ้าน โดยใช้วิธีให้นักเรียนทำการบ้าน หรือแบบฝึกหัดด้วยกันในห้องเรียน ซึ่งหากนักเรียนไม่เข้าใจ หรือมีข้อสงสัย ครูผู้สอนจะสามารถอธิบาย และทำแบบฝึกหัดข้อนั้นด้วยกัน ถือเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียน โดยมีครูผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก
หรืออย่างโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยนครพนม ที่สร้างสรรค์โรงเรียนที่ไม่มีการบ้านและไม่ต้องสอบ โดยออกแบบ ecosystem ให้เด็กมีเวลาเรียนรู้และค้นพบตนเอง ผ่านการคิด การค้นหาความรู้ การทานซ้ำ การลงมือทำ และต่อยอดความรู้ ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย และลดเวลาเรียนลง เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีการบ้านหรือการสอบ
ตัวอย่างของทั้งสองโรงเรียนนี้ นับว่าเป็นการนำร่องในเรื่องของการลดการบ้านที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่แม้จะจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้มากหลายปีแล้ว แต่ครั้งนี้น่าจะดูจะเป็นรูปร่างมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ถ้ามองให้ลึกลงไปในนโยบายแล้ว จะเห็นว่า การลดการบ้านนั้น อาจไม่ใช่การลดการบ้านให้กับนักเรียนเสียทีเดียว แต่อาจเป็นการปรับให้การบ้าน กลายมาเป็นสิ่งที่ทำในห้องเรียนแทนการที่นักเรียนจะต้องหอบเอาไปทำที่บ้าน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีเวลาว่างในการค้นหาความสนใจของตัวเองมากขึ้น และเป็นประโยชน์มากกว่าการขลุกอยู่กับเนื้อหาวิชาการ โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ ซึ่งถ้าถามผู้เขียนในฐานะที่เป็นครูผู้สอนมองอย่างไรเกี่ยวกับนโยบายนี้ ก็น่าจะมองว่า นโยบายนี้ไม่ได้ทำให้การบ้านหายไปอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่อาจจะทำให้การบ้านเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับผู้เรียนมากขึ้น เพราะการบ้านนั้นไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนจากการทำที่บ้านมาเป็นการทำในห้องเรียนแทน ซึ่งคล้ายกับการทำแบบฝึกหัดหลังการเรียนการสอน ซึ่งถ้าถามว่าดีหรือไม่ ก็ควรต้องรอผลลัพธ์จากการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวว่า การที่นักเรียนไม่ต้องทำการบ้านที่บ้านแล้ว จะช่วยให้นักเรียนการเติบโตขึ้นอย่างเหมาะสมจริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของนักเรียนนั้น มาจากสาเหตุอื่นกันแน่
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร