ความเครียดนั้น มีจุดกำเนิดจากความไม่สมดุลระหว่างสิ่งที่เราต้องทำให้ได้ กับทรัพยากรในมือที่มีอย่างจำกัด ตามความเห็นของ Kathleen Gunthert อาจารย์จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยอเมริกัน ซึ่งเราสามารถแบ่งความเครียดออกได้เป็นสองประเภท คือ
1. Distress (ความเครียดเชิงลบ) คือความเครียดที่ไม่ดี มีผลต่อคุณภาพชีวิต และเกินกว่าการรับมือของบุคคล
2. Eustress (ความเครียดเชิงบวก) คือความเครียดในแง่ดีที่สามารถผลักดันให้บุคคลไปสู่ความสำเร็จ
ความเครียดนั้น มีทั้งส่วนที่เป็นคุณและโทษ เพราะในแง่หนึ่ง ภาวะความเครียดถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้บุคคลจัดการกับปัญหาต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เช่น การทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา หรือการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ในทางกลับกันความเครียดที่เรื้อรังหรือมากเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วยเช่นเดียวกัน เพราะทำให้ เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และมีปัญหาในด้านความสัมพันธ์ จนนำไปสู่การเป็นโรคเครียดหรือโรควิตกกังวลได้
สำหรับครูผู้สอน นับเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเครียดค่อนข้างมาก เพราะเป็นอาชีพที่ต้องทำงานร่วมกับนักเรียน ซึ่งมีทั้งพฤติกรรมที่แตกต่างกันและทักษะการเรียนรู้ที่ไม่เท่ากัน ทำให้ครูผู้สอนต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจ ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอย่างเต็มที่ ซึ่งความทุ่มเทนี้ อาจส่งผลทำให้ครูผู้สอนนั้นมีความเครียดในการทำงานได้
นอกจากนี้ด้วยปัญหาจากสภาพแวดล้อม เช่น ปัญหากับผู้บังคับบัญชา ปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ปัญหาในการดำเนินชีวิต อย่างปัญหาครอบครัว หรือสภาวะทางเศรษฐกิจ ก็มีส่วนทำให้ครูผู้สอนมีความเครียดเพิ่มขึ้น และกลายเป็นเครียดที่เรื้อรังสะสมจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาขั้นต้นนี้ นับว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขให้หายไปในทันทีได้ยาก
ความเครียดของครูผู้สอนนั้น มีผลกระทบต่อนักเรียนในความดูแลเป็นอย่างมาก เพราะจากการศึกษาของนักวิจัยจาก University of Missouri-Columbia ได้แสดงให้เห็นว่าความเครียดของครูผู้สอนนั้น สามารถส่งผลกระทบได้โดยตรงต่อพฤติกรรมของนักเรียน โดยในระหว่างการศึกษา นักวิจัยได้เรียนรู้ว่านักเรียนมีแนวโน้มที่จะแสดงออกในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นจนถึงกับถูกพักการเรียน เมื่อพวกเขาเห็นว่าครูผู้สอนรู้สึกไม่พอใจหรือมีเครียดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความเครียดหรือความวิตกกังวลของครูผู้สอนนั้น มีผลอย่างยิ่งกับพฤติกรรมของนักเรียน เพราะห้องเรียนที่ประกอบไปด้วยครูผู้สอนที่ตกอยู่ในวังวนของความเครียดนั้น จะทำให้บรรยากาศในห้องเรียนมีแต่ความกดดันและไม่มีความสุข ซึ่งเป็นผลเสียอย่างมากกับการเรียนรู้
นอกจากนี้นักวิจัยยังมองอีกว่า นักเรียนนั้นต้องการแรงสนับสนุนและกำลังใจที่ดีจากครูผู้สอน พวกเขาจึงแนะนำให้ผู้บริหารทำงานร่วมกับครูเพื่อมีเครือข่ายในการสนับสนุนนักเรียนในโรงเรียนอย่างเหมาะสม และยังแนะนำอีกว่าครูต้องมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด และผู้บริหารควรหาวิธีเสริมพลังและเสริมสร้างครูผู้สอนให้พวกเขาสามารถทำงานได้ดีที่สุดสำหรับนักเรียน
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในด้านการส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีและการเพิ่มพูนทักษะเรียนรู้ของนักเรียน การจัดการกับปัญหาความเครียดของครูผู้สอนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งวิธีง่าย ๆ ที่สามารถลดความเครียดของครูผู้สอนลงได้นั้น มีดังนี้
1. ถ้าเป็นความเครียดที่เกิดจากการดำเนินชีวิต ให้พยายามหาสาเหตุของปัญหา และจัดการแก้ไขต้นตอของปัญหาเหล่านั้น เช่น เมื่อมีปัญหาด้านการเงิน ก็ควรควบคุมการใช้จ่าย หารายได้เสริม ประหยัด หรือลดปริมาณการใช้ เพื่อให้สภาวะการเงินกลับมาเป็นปกติ หรือถ้าเป็นปัญหาครอบครัวก็ควรที่จะพูดคุยกันในครอบครัวให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกัน เป็นต้น
2. ปรับปรุงวิถีชิวิตของตัวเองให้เหมาะสมกับการทำงาน ซึ่งจะทำให้ดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความราบรื่นและเหมาะสม ไม่เกิดความเครียดหรือความกดดันในการทำงาน และส่งผลให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ครูผู้สอนอาจไม่จำเป็นต้องเล่าถึงปัญหาที่เราต้องเผชิญให้คนอื่นฟังทุกเรื่อง แต่ปัญหาบางอย่าง เราสามารถแชร์กับเพื่อนฝูงหรือเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ เพื่อขอคำแนะนำและคำปรึกษาที่ดีสำหรับการจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับปัญหาที่ส่งผลต่อความเครียดได้ดีมากยิ่งขึ้น
4. บางครั้งถ้านักเรียนไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่ครูผู้สอนตั้งไว้ ครูผู้สอนควรลดความคาดหวังด้านการเรียนในตัวนักเรียนลงบ้าง โดยพยายามเทียบการพัฒนาของเขากับวันแรกที่เขาเริ่มเรียน มากกว่าที่จะเทียบกับมาตรฐานที่ครูผู้สอนเป็นผู้ตั้งขึ้น
5. โรงเรียนควรจัดพื้นที่ให้ครูผู้สอนได้ผ่อนคลายความตึงเครียด และควรจัดตารางสอนไม่ให้ถี่จนเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปราศจากความเครียด
6. ครูผู้สอนควรฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การฝึกหายใจให้ถูกวิธี การฝึกสมาธิ และการออกกำลังกาย รวมถึง ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ หรือเล่นเกมง่าย ๆ เพื่อปรับอารมณ์ให้พร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนในคาบต่อไป
7. ครูผู้สอนต้องรู้จักปล่อยวางและลดราวาศอกในเรื่องบางเรื่อง ที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุม และพยายามไม่เก็บสิ่งเหล่านั้นมาคิด
8. เมื่อรู้สึกเครียดกับพฤติกรรมของนักเรียน ควรหยุดและถอยออกมาสงบสติอารมณ์ ก่อนที่จะพูดคุยกับนักเรียนอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ความเครียดนั้นส่งผลให้ครูผู้สอนบันดาลโทสะกับนักเรียน
9. การดื่มน้ำนั้น ช่วยลดระดับฮอร์โมนที่กระตุ้นความเครียดได้ ดังนั้น ครูผู้สอนจึงควรดื่มน้ำเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร เพื่อเพื่อให้สมองชุ่มชื้นและขจัดความเครียด
10. พกยาดม หรือ ยาหอม ไว้ใช้เวลาที่ความเครียดส่งผลกระทบต่อร่างกาย จนทำให้เกิดอาการ ปวดหัว หรือ วิงเวียน ซึ่งจะช่วยให้อาการทุเลาลงและช่วยบำบัดอารมณ์ความรู้สึกให้ดีขึ้น
ความเครียดนั้นนับว่าเป็นมิตรแท้และศัตรูตัวฉกาจสำหรับทุกคน เพราะถึงแม้ว่าความเครียดจะมีประโยชน์ แต่ถ้ามีมากเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนเราได้เช่นกัน ดังนั้นครูผู้สอนจึงควบคุมความเครียดของตัวเองให้เป็นความเครียดเชิงบวกที่คอยผลักดันตัวเองให้ทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของนักเรียน มากกว่าจะปล่อยให้เครียดกลายมาเป็นความเครียดเชิงลบที่คอยแต่ละทำร้ายตัวเองนะครับ
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร