การอ่าน นับได้ว่าเป็นหนึ่งในทักษะการใช้ภาษาที่จำเป็นอย่างมากในการเรียนรู้แทบทุกศาสตร์ เพราะแม้ว่าแต่ละศาสตร์จะมีทฤษฎีหรือองค์ความรู้ที่แตกต่างกันไป แต่การที่คนเราจะสามารถการเรียนรู้ในทฤษฎีหรือองค์ความรู้เหล่านั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพาทักษะการใช้ภาษา ซึ่งเรื่องของการอ่านก็นับว่าเป็นทักษะทางภาษาที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในการเรียนรู้
ปัจจุบันมีองค์ประกอบมากมายที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ทางภาษาที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแนวการจัดการเรียนรู้ การถ่ายทอดของผู้สอน สื่อการเรียนรู้ หรือแม้แต่ แหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ทำให้การเรียนรู้ในเรื่องภาษาของผู้เรียนนั้นสามารถพัฒนาได้อย่างเหมาะสม ซึ่ง SQ3R ก็ถือเป็นกลยุทธ์ทางการอ่านรูปแบบหนึ่ง ที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะด้านการอ่านที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการเรียนรู้
SQ3R คือ แบบฝึกการอ่านที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Francis P. Robinson นักจิตวิทยาการศึกษาชาวสหรัฐอเมริกา ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากตำรา ซึ่งชื่อ SQ3R หรือ SQRRR นั้น นำมาจากอักษรตัวแรกของ ชื่อขั้นตอนการส่งเสริมการอ่าน 5 ขั้นตอน อันได้แก่ Survey, Question, Read, Recall และ Review ซึ่งแต่ละขั้น มีรายละเอียดดังนี้
ขั้นตอนแรกของ SQ3R คือการสำรวจบท ซึ่งหมายถึงการสังเกตส่วนต่าง ๆ ของตำรา เช่น คำนำสารบัญ บทคัดย่อ คำที่เน้น หรือเนื้อหาคร่าว ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เล็งเห็นถึงกรอบความคิด และจุดมุ่งหมายในการอ่านหรือสิ่งที่ตำราต้องการสื่อในภาพรวม
เป็นการตั้งคำถาม หลังจากที่ได้ศึกษาตำราอย่างคร่าว ๆ ซึ่งคำถามเหล่านี้อาจจะมาจาก ข้อความที่เน้นต่าง ๆ คำถามท้ายบท หรือ อาจเป็นคำถามที่ผู้อ่านรู้สึกขึ้นมาเองหลังจากการอ่านแบบคร่าว ๆ ก็ได้ ซึ่งการตั้งคำถามเหล่านี้จะเป็นการเตรียมพร้อมให้สมองสำหรับการรับรู้และการเรียนรู้ในการอ่าน เพื่อให้ผู้อ่าน ได้อ่านโดยมองหาคำตอบเป็นหลัก
เมื่อผู้อ่านมีกรอบความคิดและคำถามในใจสำหรับการอ่านตำราแล้ว ผู้อ่านจะสามารถอ่านตำราโดยทำความเข้าใจและคอยหาคำตอบจากการอ่าน จับใจความในการอ่านที่ละย่อหน้า เพื่อหาคำตอบ จดบันทึกใจความสำคัญ และความคิดเห็นส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา เพื่อเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่กำลังอ่าน กับประสบการณ์ที่เคยรับรู้ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น
เมื่อผู้อ่านได้อ่านตำราในแต่ละบทจบแล้ว ผู้อ่านต้องสรุปสิ่งที่ได้จากการอ่าน ว่าผู้อ่านได้อ่านอะไรเป็นแล้วบ้าง เนื้อหาเป็นอย่างไร ส่วนใดที่ผู้อ่านเข้าใจและยังไม่เข้าใจ และเนื้อหาที่อ่านทั้งหมดนั้นสามารถตอบคำถามที่ผู้อ่านตั้งไว้ได้ครบถ้วนหรือไม่ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับการทบทวน หรืออ่านซ้ำ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจมากขึ้น
คือขั้นของการอ่านทบทวนตำราที่ได้อ่านไปแล้ว ซึ่งสามารถอ่านเอาเฉพาะส่วนที่สรุปไว้ หรืออ่านใหม่ทั้งหมดก็ได้ โดยการทบทวนนี้จะช่วยเปลี่ยนความจำระยะสั้นที่ได้จากการอ่าน ให้กลายมาเป็นความจำระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถนำความรู้ความเข้าใจที่ได้จากตำราไปประยุกต์ใช้ได้ตามสถานการณ์อย่างเหมาะสม
วิธีการอ่านแบบ SQ3R นั้น ไม่ใช่เป็นวิธีการที่ใช้ได้เฉพาะกับการอ่านหนังสือหรือตำราต่าง ๆ เพียงเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้กับการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น การเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ การอบรมสัมมนา หรือแม้แต่การเรียนในห้องเรียน เพราะวิธีแบบ SQ3R นั้น จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นครูผู้สอนควรส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้และนำหลักของ SQ3R ใช้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร