Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ชุดนักเรียนปักกับไม่ปักชื่อ อย่างไหนดีกว่ากัน

Posted By Plook Teacher | 03 พ.ย. 63
13,239 Views

  Favorite

ถ้าจะกล่าวถึงอะไรที่สามารถแบ่งแยกนักเรียนออกจากคนทั่ว ๆ ไปได้ง่ายที่สุด คงหนีไม่พ้นชุดนักเรียน เพราะเป็นชุดที่เราทุกคนทราบกันดีว่า ผู้ที่สวมใส่นั้นยังคงเป็นนักเรียนของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง และจำเป็นต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจากครูผู้สอนในสถาบันนั้น รวมถึงยังคงต้องได้รับความอนุเคราะห์ต่าง ๆ จากบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งแม้ปัจจุบันกระแสของการยกเลิกชุดนักเรียนนั้นจะได้รับความสนใจมากขึ้น  แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงให้นักเรียนใส่ชุดนักเรียนสำหรับการมาโรงเรียนอยู่

 

ชุดนักเรียน หรือ เครื่องแบบนักเรียนนั้น เป็นเครื่องแบบสำหรับนักเรียนที่ใช้ในสถานศึกษาต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย จนไปถึงระดับมัธยมศึกษา ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบัน โดยชุดนักเรียนนั้น นับเป็นเครื่องแบบที่มีคุณค่า เช่นเดียวกับเครื่องแบบทหาร หรือตำรวจ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยลดอัตตาของผู้สวมใส่ และทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกว่าระหว่างที่เรากำลังสวมเครื่องแบบอยู่นั้นเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรและเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในโรงเรียนอีกด้วย

 

การสวมใส่ชุดนักเรียนนั้นได้รับความนิยมในหลาย ๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มต้นมีการใส่เครื่องแบบนักเรียนครั้งแรกในสมัยรัชกาล 5 ช่วง พ.ศ. 2428 ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2428 ขั้น โดยเครื่องแบบนักเรียนชายสมัยนั้นจะเป็นชุดราชปะแตนสีขาว ก่อนที่ในสมัยรัชกาลที่ 6 จะมีการเปลี่ยนสีจากที่ขาวเป็นสีเทาเพื่อให้ดูแลง่าย หลังจากนั้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้ใช้ชุดยุวทหารแทนชุดนักเรียน และเมื่อสงครามสิ้นสุด ปัญหาความขาดแคลนผ้าทำให้ต้องปรับปรุงรูปแบบของชุดนักเรียนใหม่ และเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันนั้นคือ เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว ปักอักษรย่อนามจังหวัดพร้อมหมายเลขประจำโรงเรียนด้วยไหมสีน้ำเงิน ส่วนโรงเรียนเอกชนปักสีแดง ใส่กางเกงขาสั้นสีกากี เข็มขัดหนังสีน้ำตาล รองเท้าและถุงเท้าสีน้ำตาล แต่สิ่งที่แตกต่างกับสมัยนี้คือ ต้องสวมหมวกกะโล่สีขาวด้วย

 

สำหรับเครื่องแบบนักเรียนหญิง เนื่องจากในช่วงแรกของการวางรากฐานการศึกษา ได้มุ่งเน้นไปที่การจัดการศึกษาสำหรับเด็กผู้ชายเป็นหลัก จึงไม่ได้มีการกำหนดเครื่องแบบนักเรียนหญิงไว้ และสมัยนั้นเด็กผู้หญิงยังไม่ได้เข้าเรียน จนเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนสตรีแห่งแรกขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2456 จึงได้มีการกำหนดเครื่องแต่งกายนักเรียนหญิงขึ้น โดยในช่วงแรกนั้นให้ใส่เป็นผ้าซิ่นสีพื้น ติดเข็มกลัดสถาบัน ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบใกล้เคียงกับปัจจุบันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

 

ปัจจุบันเครื่องแบบนักเรียนถูกกำหนดด้วยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) 2561 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้แม้จะระบุรูปแบบของชุดนักเรียนในแต่ละระดับไว้อย่างชัดเจน แต่ก็เปิดโอกาสให้สถานศึกษาปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยต้องขออนุญาตตามขั้นตอน ซึ่งค่อนข้างยืดหยุ่นเป็นอย่างมาก

 

สำหรับการปักอกเสื้อนั้น ถ้าสังเกตุจากประวัติความเป็นมาของชุดนักเรียนที่กล่าวมาขั้นต้นนั้น จะพบว่ามีการกำหนดให้ปักอักษรย่อนามจังหวัดและหมายเลขประจำตัวนักเรียนมาตั้วแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบัน การปักอักษรย่อก็ยังมีการดำเนินการกันอยู่และยังเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องแบบชุดนักเรียนตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 แต่สำหรับการปักชื่อนักเรียนนั้น ไม่ได้มีระเบียบระบุไว้ แต่น่าจะเป็นรูปแบบที่แต่ละโรงเรียนหรือต้นสังกัดกำหนดขึ้นมาเอง เพื่อความเหมาะสมนอกเหนือจากระเบียบที่กำหนด

 

และจากการที่มีข่าวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ซื้อหนังสือจากร้านขายหนังสือมือสอง แล้วพบว่ามีรูปติดบัตรของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งติดมาด้วย ผู้หญิงคนนั้นได้นำชื่อที่ติดอกเสื้อนักเรียนไปค้นหาในโปรแกรมสืบค้น และพบว่าเด็กผู้หญิงคนนั้น ปัจจุบันคือคนร้ายในคดีสะเทือนขวัญ เรื่องนี้แม้จะน่าขนลุก แต่ความน่ากลัวจริง ๆ ของกรณีนี้คือปัจจุบันเราสามารถค้นหาใครก็ได้บนโลกอินเตอร์เน็ต เพียงแค่เห็นชื่อบนภาพติดบัตร

 

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้โลกออนไลน์ต่างรณรงค์ให้เลิกปักชื่อนักเรียนบนชุดนักเรียน ซึ่งมีหลายคนที่เห็นด้วยและหนึ่งในนั้นคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่กำลังพิจารณาในเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน

 

สำหรับข้อดีของการไม่ปักชื่อนักเรียนบนชุดนักเรียน แน่นอนว่าข้อดีอันดับแรกคือ เรื่องของความปลอดภัย เพราะทำให้บุคคลแปลกหน้าทราบชื่อของนักเรียนได้ยากขึ้น เพราะไม่มีปรากฎบนเสื้อนักเรียนอีกต่อไป อีกทั้งยังป้องกันประวัติของตัวเราเอง แม้ว่าเราจะเรียนจบไปแล้ว เพราะถ้าผู้ไม่หวังดีไม่ทราบชื่อจริงของเรา โอกาสที่จะค้นหาข้อมูลเก่า ๆ และนำมาสู่ข้อมูลในปัจจุบันของเราได้นั้นก็เป็นไปได้น้อยลงตามไปด้วย

 

บางครั้งเรื่องราวในอดีตอาจเป็นแผลในใจของใครหลาย ๆ คน การถูกขุดคุ้ยประวัติส่วนตัว นับว่าเป็นอาชญากรรมที่ส่วนผลต่อสภาพจิตใจของเหยื่อที่ถูกกระทำอย่างมาก และยิ่งเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นในวัยเด็กที่ไม่รู้ประสีประสา เช่น ถูกทารุณกรรมหรือถูกล่วงละเมิด แต่กลับถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเผยแพร่ในปัจจุบันที่ห่างมาสิบหรือยี่สิบปี อาจจะส่งผลให้ผู้ถูกขุดคุ้ยซึมเศร้า หวาดระแวงและมีปัญหาสุชภาพจิตตามมาได้ ดังนั้นการไม่ปักชื่อนักเรียนบนชุดนักเรียนน่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดอาชญากรรมตรงนี้ได้

 

นอกจากนี้ การไม่ปักชื่อนักเรียนบนชุดนักเรียน ยังเป็นการประหยัดอีกด้วย เพราะสามารถส่งต่อให้กลับผู้อื่นที่จำเป็นต้องใช้ต่อไปได้ โดยไม่ต้องไปเลาะชื่อเดิมออก ทำให้ชุดนักเรียนไม่ช้ำและไม่มีตำหนิ

 

แต่ถึงจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อที่ควรพิจารณา เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะแม้ผู้ปกครองจะมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการไม่ต้องปักชื่อนักเรียน แต่เพื่อการดำเนินการในโรงเรียน ก็จำเป็นที่จะต้องทราบถึงชื่อของนักเรียนแต่ละคน ซึ่งอาจจะต้องใช้เป็นบัตรแขวง หรืออาจจะต้องทำเข็มกลัดชื่อนักเรียน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการทำที่อาจจะสูงกว่าการปักชื่อนักเรียนตามปกติ

 

ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุชื่อที่ปักบนขุดนักเรียนจะช่วยระบุตัวตนของผู้ประสบเหตุ ทำให้สามารถติดต่อโรงเรียนหรือผู้ปกครองได้ และยังช่วยในกรณีที่นักเรียนหลงทางได้อีกด้วย

 

การไม่ปักชื่อยังเสี่ยงต่อการที่ชุดนักเรียนสูญหาย โดยเฉพาะกับโรงเรียนที่อาจจะต้องมีการผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมว่ายน้ำ หรือการใส่ชุดนอนสำหรับชั้นปฐมวัย ซึ่งอาจทำให้นักเรียนสับสนและหยิบเสื้อผ้าสลับกับเพื่อนได้ รวมถึงอาจมีโอกาสที่จะโดนขโมยจากผู้ไม่หวังดีได้เช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงที่บุคคลภายนอกจะปลอมแปลงเป็นนักเรียน เพื่อเข้ามาก่อเหตุไม่หวังดีในโรงเรียนได้ เพราะไม่มีชื่อบนชุดนักเรียน ทำให้ผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาได้ง่าย และตรวจสอบได้ยากขึ้น

 

หลายคนอาจมองว่า ถ้าไม่ต้องมีสัญลักษณ์อะไรที่เป็นชื่อนักเรียนเลยน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับการทำงานในโรงเรียนแล้ว การแยกแยะนักเรียนแต่ละคนจากหน้าตาเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นเรื่องยากมาก และครูผู้สอนแต่ละคนนั้นก็ไม่สามารถจดจำนักเรียนได้ทั้งหมด การที่นักเรียนมีชื่อติดอยู่ในจุดที่มองเห็นได้สะดวกจะช่วยให้ครูผู้สอนติดตามนักเรียนได้ง่ายขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นด้วยกับการเลิกปักชื่อนักเรียนบนชุดนักเรียน แม้ใจจริงอยากให้มีวิธีระบุตัวตนอื่นทดแทน เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนและการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งก็ควรมีการดำเนินการที่เหมาะสม เพราะในยุคสมัยนี้ เราสามารถสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่าย การปิดบังชื่อของนักเรียนเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่ควรทำ เพราะนักเรียนนั้นถือเป็นเด็กและเยาวชนที่ต้องได้รับการปกป้องจากข้อมูลต่าง ๆ ขนาดรูปเด็กและเยาวชนที่บังเอิญถ่ายติด ถ้าต้องลงโซเชียลยังต้องปิดบังหน้าตาเลย แล้วประสาอะไรกับชื่อที่ยิ่งต้องสงวนไว้เป็นอย่างยิ่ง จริงไหมล่ะครับ

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow