การทำงานของโปรแกรม Google Earth นั้น จะทำงานผ่านรูปแบบภาษาที่เรียกว่า KML (Keyhole Markup Language) และจะทำงานแบบ Client-Server โดยจะใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Google Earth Client ในการเชื่อมต่อ ควบคุมการและแสดงผล โดยดึงภาพที่อยู่บน Server ของกูเกิลมาแสดง ซึ่งโปรแกรม Google Earth จะดึงภาพถ่ายทางอากาศของ U.S. public domain และ ภาพถ่ายดาวเทียมของคีย์โฮล มาดัดแปลงร่วมกับ ระบบแผนที่ของกูเกิล ทำให้สามารถค้นหาตำแหน่งที่ต้องการได้และมีการอัพเดทข้อมูลให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ
โปรแกรม Google Earth นับว่าเป็นโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้อย่างมาก ทั้งในด้านการศึกษาภูมิศาสตร์เนื่องจากเป็นแผนที่จำลองเสมือนจริงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังมีประโยชน์ในเรื่องของการคมนาคม เพื่อค้นหาตำแหน่งในการเดินทางหรือวางแผนการท่องเที่ยว นอกจากนี้ โปรแกรม Google Earth ยังเป็นประโยชน์กับการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และการเรียนรู้ทางธรณีวิทยาได้อีกด้วย เพราะสามารถพาเราไปสำรวจพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือสถานที่ที่มีความน่าสนใจทางธรณีวิทยา โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเดินทางเลย
สำหรับในเรื่องของการศึกษา เราสามารถนำโปรแกรม Google Earth มาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะด้วยความที่เป็นสื่อเทคโนโลยี สามารถพานักเรียนไปสู่การค้นพบที่หลากหลายและน่าตื่นตาตื่นใจในความแตกต่างกันทั้งด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของโลก ซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียนได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับวิชาอื่น ๆ เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับการวัดและการคำนวณระยะทางในวิชาคณิตศาสตร์ หรือ การศึกษาภาษาอังกฤษจากชื่อของสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น
โปรแกรม Google Earth นั้นประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ที่หลากหลาย ซึ่งฟังก์ชั่นที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้คือฟังก์ชั่นที่น่าจะเป็นประโยชน์กับการส่งเสริมการเรียนรู้ในชั้นเรียน
ความพิเศษอย่างหนึ่งของ โปรแกรม Google Earth นั้น คือ การที่เราสามารถชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั่วโลกได้ อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง ผ่านฟังก์ชั่นที่เรียกว่า Street View ซึ่งเราสามารถเลือกสถานที่ที่เราต้องสำรวจบนแผนที่โลกจำลองในโปรแกรม หรือ พิมพ์สถานที่ในส่วนของการค้นหา แล้วปล่อยให้โปรแกรมพาเราไปยังจุดที่กำหนด จากนั้นใช้ฟังก์ชั่น Street View โดยการคลิกดึงไอคอนรูปคนที่อยู่ตรงมุมขวาของจอออกมาวางบนจุดที่เรากำลังสำรวจ ซึ่งจุดที่เราจะสามารถลงไปสำรวจได้นั้น จะต้องเป็นบริเวณเฉพาะที่แสดงขึ้นมาเป็นสีฟ้าอ่อนเท่านั้น บริเวณที่ไม่ได้ขึ้นเป็นสีฟ้าอ่อนจะไม่สามารถลงไปสำรวจได้
ทันทีที่วางไอคอนรูปคนบนจุดที่จะสำรวจแล้ว โปรแกรมก็จะพาเราลงไปสู่รูปภาพสถานที่ที่เก็บไว้ใน Photo Sphere ของสถานที่นั้น ๆ ซึ่งเป็นภาพถ่าย 360 องศาแบบต่อเนื่องที่เราสามารถเดินชมไปยังจุดต่าง ๆ ได้ ด้วยการคลิกลูกศรที่ปรากฏในทิศทางต่าง ๆ เพื่อจะพาเราไปยังภาพที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งคล้ายกับเราเข้าไปเดินสำรวจด้วยตัวเอง
ภาพแต่ละภาพนั้น นอกจากที่เราจะสามารถโยกเมาส์หมุนไปในทิศทางไหนก็ได้แบบ360 องศาแล้ว เรายังสามารถซูมเข้าและซูมออกได้ด้วย ซึ่งภาพนั้นมีความคมชัดในระดับที่เพียงพอต่อการเรียนรู้ในชั้นเรียนตามปกติได้เลยทีเดียว
ฟังก์ชั้นนี้ เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ โดยการพานักเรียนไปสำรวจสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น สถานที่ที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก วัดวาอาราม หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งนับเป็นโปรแกรมหนึ่งที่ช่วยในการสอนเรื่องของสังคมศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม ได้เป็นอย่างดี
ฟังก์ชั่น Voyager นั้นเป็นเหมือนกับแผนการเดินทางสำเร็จรูปที่ผู้ใช้สามารถคลิกเข้าไปเลือกแผนการเดินทางที่น่าสนใจ แล้วโปรแกรมจะกำหนดสถานที่ต่าง ๆ ที่มีในแผนนั้นลงบนแผนที่ เพื่อให้ผู้ใช้คลิกสำรวจไปทีละจุด ซึ่งแต่ละจุดนั้น ก็จะมีการให้ข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกันตามไปด้วย
การเรียกใช้ฟังก์ชั่น Voyager นั้น ผู้ใช้จะต้องคลิกไอคอนที่เป็นรูปพังงาเรือทางซ้ายมือ ซึ่งโปรแกรมนำไปสู่แผนการเดินทางสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่มีทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญทางสถาปัตยกรรม เรื่องราวทางธรณีวิทยา เหตุการณ์สำคัญ จนไปถึงเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ตามความสนใจ จากนั้นโปรแกรมจะกำหนดจุดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้ผู้ใช้สำรวจ
ฟังก์ชั่นนี้นับเป็นฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์กับการศึกษาอย่างมาก เพราะเป็นแผนการเดินทางสำเร็จรูปที่ช่วยให้นักเรียนสามารถสำรวจในเรื่องที่ต้องศึกษาหรือเรื่องที่น่าสนใจได้ตรงจุด รวดเร็ว และไม่หลงทาง
วัดขนาดพื้นที่และระยะทางจากแผนที่นั้น แม้ว่าจะมีความคาดเคลื่อนสูง แต่ก็นับได้ว่าเป็นฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะผู้ใช้สามารถหาขนาดพื้นที่หรือระยะของสถานที่ต่าง ๆ ได้คร่าว ๆ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ได้โดยทั่วไป
การใช้ฟังก์ชั่น Measure Distance and Area นั้น ผู้ใช้จะต้องคลิกไอคอนที่เป็นรูปไม้บรรทัดที่อยู่ด้านซ้ายมือ จากนั้นให้เราใช้เมาส์คลิกลงตรงจุดที่ต้องการเริ่มต้นที่จะวัดจากนั้นลากเมาส์มายังจุดต่อๆไป จนสิ้นสุดพื้นที่หรือระยะทางที่ต้องการวัด ซึ่งโปรแกรมจะคำนวณระยะทางหรือขนาดพื้นที่ออกมาโดยผู้ใช้สามารถเลือกหน่วยที่ต้องการให้โปรแกรมคำนวณได้
ฟังก์ชั่นนี้ เป็นฟังก์ชั่นที่ครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ในเรื่องของการวัดระยะทางและพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งครูผู้สอน อาจกำหนดสถานที่บนแผนที่แล้วให้นักเรียนลองใช้ฟังก์ชั่นนี้ในการวัดขนาดของสถานที่นั้นๆ หรืออาจให้วัดระยะทางจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งอย่างถูกต้อง เป็นต้น
3 ฟังก์ชั่นนี้ เป็นฟังก์ชั่นในโปรแกรม Google Earth ที่ผู้เขียนมองว่า เป็นฟังก์ชั่นใช้งานได้ง่ายและเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน ในฐานะของสื่อการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจาก 3 ฟังก์ชั่น ก็ยังมีฟังก์ชั่นอีกมากมายที่น่าจะลองใช้ เช่น ฟังก์ชั่นที่มีชื่อว่า I’m feeling lucky ซึ่งเป็นไอคอนรูปลูกเต๋าทางซ้ายมือ ที่จะสุ่มพาเราไปในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก หรือฟังก์ชั่นที่เปลี่ยนภาพ 2D เป็น 3D สำหรับรับชมสถานที่บางแห่งที่ได้ทำโมเดลแบบ 3D ไว้ เป็นต้น
โปรแกรม Google Earth คือตัวอย่างหนึ่ง ของสื่อดิจิทัลที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างน่าสนใจและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการจัดการศึกษานั้น นอกจากจะเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัยแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา และได้กระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนรู้ได้มากขึ้น และยังเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของการศึกษายุคใหม่ที่ต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างประชากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร