Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การใช้ Facebook เพื่อส่งเสริมการศึกษา

Posted By Plook Teacher | 03 พ.ย. 63
11,505 Views

  Favorite

ถ้าจะกล่าวถึงบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ถือว่ามีอิทธิพลมากที่สุดในโลก คงหนีไม่พ้นชื่อของ Facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์สัญชาติอเมริกันที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

 

Facebook (เฟสบุ๊ค) ก่อตั้งขึ้นโดย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และเพื่อนของเขา ขณะที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ราว ๆ ปี ค.ศ. 2004 โดยตอนแรกใช้ชื่อว่า Thefacebook ก่อนที่จะจัดตั้งเป็นบริษัทอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี ค.ศ. 2004 นั้นเอง และต่อมาในปี ค.ศ. 2005 ได้มีการขอยื่นจดทะเบียนเว็บไซต์ Facebook.com แล้วจึงได้มีการนำ The ออกจากคำว่า Thefacebook จนกลายมาเป็น Facebook ในปัจจุบัน

 

ด้วยการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เฟสบุ๊ค มีการพัฒนาฟีเจอร์และฟังก์ชั่นใหม่ ๆ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ใช้ที่หลากหลายและทันสมัยมากขึ้น จนทำให้กว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาเฟสบุ๊ค กลายเป็นเว็บไซต์ที่ครองใจผู้ใช้อย่างมากมาย และกลายเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีอำนาจและทรงอิทธิพลที่สุด โดยเว็บไซต์สตาติสตา ได้เผยแพร่รายงานการจัดอันดับเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก ซึ่งFacebook นั้นรั้ง อันดับ 3 โดยมีผู้ใช้ถึงกว่า 19,210 ล้านคน

 

ทุกวันนี้เฟสบุ๊ค คือเว็บไซต์สังคมออนไลน์แห่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในระดับสากล ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกต่างมี Profile ส่วนตัวในเฟสบุ๊คกันแทบทั้งนั้น ซึ่งสิ่งนี้แทบจะเป็นเสมือนบัตรประจำตัวประชาชนบนโลกออนไลน์ ที่เราสามารถใช้จากมันได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การยืนยันตัวตน การเข้าถึงโปรแกรมหรือแอปพิเคชั่น การนำเสนอในเรื่องที่ตัวเองสนใจ หรือแม้แต่การกระจายข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งทำให้วิถีชีวิตของเราสะดวกสบายมากขึ้นมาในระดับหนึ่ง

 

หลายครั้งที่เรารู้จักผู้คนต่าง ๆ ผ่านการใช้เฟสบุ๊ค ซึ่งมีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ใช้ประโยชน์จาก สิ่งนี้ในการศึกษาตัวของผู้สมัครงาน หรือแม้แต่ใช้เฟสบุ๊ค เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์และนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ระบบของการสื่อสารออนไลน์ครอบคลุมไปแทบจะทุกส่วนของประเทศ ซึ่งทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่เข้าถึงโลกออนไลน์ในระดับต้น ๆ ของโลก แน่นอนการใช้งานเฟสบุ๊ค ของคนไทยก็สูงเช่นเดียวกัน เพราะจากรายงาน Digital 2020 Global Digital Overview โดย WeAreSocial x Hootsuite  แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีการใช้ Facebook เป็นอันดับ 8 ของโลก ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 47 บัญชี ซึ่งสถิติยืนยันได้อย่างดีว่า Facebook นั้นมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย

 

ด้วยจำนวนของผู้ใช้ที่สูงมากในประเทศ ทำให้เราสามารถใช้เฟสบุ๊ค นี้สำหรับเป็นช่องทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ได้ เพราะเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ในยุคนี้ สามารถใช้งาน Facebook ได้คล่อง โดยเฉพาะกับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปที่เริ่มต้องการพื้นที่ในการแสดงตัวตนของตัวเอง ซึ่ง เฟสบุ๊คนั้นตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรใช้โอกาสนี้ ในการใช้ประโยชน์จากเฟสบุ๊ค เพื่อพัฒนารูปแบบของการส่งเสริมการศึกษาใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งต่อไปนี้คือตัวอย่าง 3 รูปแบบของการใช้เฟสบุ๊คที่สามารถส่งเสริมการศึกษา

 

1. ตั้ง Group สำหรับการสร้างเครือข่ายชั้นเรียนออนไลน์

ฟีเจอร์หนึ่งที่มีในเฟสบุ๊คนั้นคือ การตั้ง Group ซึ่งเป็นการตั้งกลุ่มเฉพาะของตัวเอง และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้คนอื่นเข้าร่วมและแสดงความคิดเห็นในกลุ่มได้ตามความต้องการโดยเป็นไปตามกฎที่ผู้ตั้งกำหนดไว้ ซึ่งสามารถตั้งได้ทั้งแบบที่เปิดสาธารณะหรืออาจจะกำหนดสมาชิกอย่างเฉพาะเจาะจงก็ได้ โดยกรุ๊ปนี้ไว้สำหรับการประสานงานหรือการพูดคุยกันในกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ครูผู้สอนสามารถที่จะสร้างกรุ๊ปขึ้นมา แล้วให้นักเรียนเข้าร่วม เพื่อให้พวกเขาได้พูดคุยสื่อสารกันเกี่ยวกับเรื่องราวภายในชั้นเรียนหรือภายในวิชานั้น ๆ ได้ รวมถึงครูผู้สอนก็สามารถที่จะแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจ ติดตามงานของนักเรียน หรือ พูดคุยกับนักเรียนได้เสมือนพูดคุยในห้องเรียนอีกด้วย

 

การตั้งกรุ๊ปนั้นมีข้อดีตรงที่ เรื่องราวที่เราโพสต์ในกรุ๊ปนั้นจะไม่ไปรบกวนหน้า Feed โปรไฟล์ของเรา ทำให้มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่า เพราะบางทีโปรไฟล์ของเรานั้น เราอาจมีการสื่อสารในหลาย ๆ อย่าง ซึ่งถ้าลงข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน นอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้ว อาจทำให้เกิดความสับสนอีกด้วย

 

2. ใช้ Page เผยแพร่ความรู้แบบสาธารณะ

ฟีเจอร์ Page เป็นอีกฟีเจอร์หนึ่งที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายและมีความเป็นนิติบุคคลมากกว่าการใช้กรุ๊ป ซึ่งเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ความรู้อย่างเป็นสาธารณะ เพราะการเปิดเพจนั้น ผู้ใช้คนอื่น ๆ สามารถเข้ามาถูกใจเพจได้โดยเสรี แต่จะมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้เท่าที่ผู้ดูแลเพจกำหนดเท่านั้น ข้อดีอย่างหนึ่งของการใช้เพจ คือเวลาที่แอดมินจะลงเรื่องราวต่าง ๆ จะเป็นชื่อของเพจเป็นคนตั้ง ไม่ใช่โปรไฟล์ส่วนตัวเป็นคนตั้งเหมือนการใช้กรุ๊ป ซึ่งไม่ว่าจะมีแอดมินกี่คน เวลาลงข้อมูลก็จะเป็นชื่อเพจเท่านั้น ซึ่งช่วยในการป้องกันข้อมูลส่วนตัวได้ดี

 

สำหรับเพจนั้นส่วนมากมักจะใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลหรือประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานหรือคณะทำงานต่าง ๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับการเปิดเว็บไซต์ไว้เป็นช่องทางติดต่อในโลกออนไลน์ โดยครูผู้สอนสามารถที่จะตั้งกลุ่มนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้และผลงานของตัวเอง หรืออาจจะรวมกลุ่มกับเพื่อนครูตั้งเพจเพื่อส่งเสริมด้านการศึกษา ซึ่งถ้าเพจนั้นได้รับความนิยม ก็จะเป็นประโยชน์กับการทำงานของครูในอนาคต

 

3. พูดคุยกับนักเรียนเป็นรายบุคคลผ่าน Facebook massenger

Facebook massenger คือระบบการสื่อสารออนไลน์ที่พัฒนาโดยเฟสบุ๊ค ซึ่งคล้ายคลึงกับการทำงานของ Line หรือ Whatsapp ที่ช่วยให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้คนอื่นได้ โดยฟีเจอร์นี้ เราสามารถเข้าไปยังโปรไฟล์ของบุคคลที่เราต้องการติดต่อ และส่งข้อความหรือที่เรียกว่า inbox เพื่อพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับผู้ใช้โปรไฟล์นั้นได้ นอกจากนี้ ถ้าผู้ใช้นั้นเป็นเพื่อนกับเรา เราสามารถที่จะโทรออนไลน์หรือวีดีโอคอลเพื่อการสื่อสารที่ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย

 

สำหรับฟังก์ชั่นนี้ครูผู้สอนอาจใช้ในการติดต่อสื่อสารกับนักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีโอกาสสื่อสารกับครูผู้สอนได้มากขึ้น และกล้าจะสื่อสารในเรื่องที่ไม่อาจเปิดเผยได้ในห้องเรียนอีกด้วย นอกจากนี้ ครูผู้สอนอาจใช้ฟังก์ชั่นเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับวิทยากรในเรื่องต่าง ๆ เพื่อมาให้ความรู้กับนักเรียนผ่านการวีดีโอคอลได้ ซึ่งช่วยเชื่อมโลกของการติดต่อสื่อสารให้ใกล้ชิดมากขึ้น

 

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ฟังก์ชั่นครูผู้สอนต้องคำนึงถึงสิทธิและความเป็นส่วนตัวของนักเรียน ไม่ควรหยอกล้อ หรือความพูดคุยกับนักเรียนพร่ำเพรื่อ ควรสื่อสารอย่างเป็นการเป็นงาน และควรใช้เมื่อจำเป็นต้องติดต่อเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การสื่อสารนี้ส่งผลกระทบที่ไม่ดีกับทั้งตัวครูผู้สอนและตัวนักเรียน

 

นอกจากฟังก์ชั่นทั้งสามนี้ ยังมีฟังก์ชั่นอีกมากมายบนเฟซบุ๊คที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้สำหรับครูผู้สอน เช่น การบันทึกหน้า Feed ที่น่าสนใจ เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถดึงเนื้อหาขึ้นมาอ่านได้ตามต้องการ หรือ การสร้างกิจกรรมนัดหมายต่าง ๆ และแชร์ให้กับนักเรียนเพื่อนัดหมาย ซึ่งจะทำให้เราทราบว่ามีนักเรียนสนใจที่จะเข้าร่วมกี่คน และจะต้องดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมกับจำนวนนักเรียนที่จะเข้าร่วม เป็นต้น

 

ทั้งหมดนี้อยู่ที่ความสามารถของตัวครูผู้สอนเองว่าจะสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการส่งเสริมการศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้ายิ่งประยุกต์ใช้ได้มาก ก็สมควรที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นครูยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow