รูปแบบของการจัดการเรียนรู้แบบแบ่งผลสัมฤทธิ์นี้ จะเริ่มจากการกำหนดให้นักเรียนที่มีความสามารถต่างกัน ได้จับกลุ่มทำงานร่วมกัน กลุ่มละ 4 คน โดยภายในกลุ่มนั้น จะประกอบด้วย นักเรียนที่มีความสามารถทางการเรียนสูง 1 คน ปานกลาง 2 คน และต่ำ 1 คน และนักเรียนแต่ละคน จะมีฐานคะแนน ( Base score ) ของตัวเอง โดยครูผู้สอนจะสอนบทเรียนให้ทั้งชั้นเรียน และกำหนดให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันทำงานกลุ่มตามที่ครูผู้สอนกำหนด ซึ่งภายในกลุ่มจะมีการช่วยเหลือ อภิปรายซักถาม และตรวจสอบซึ่งกันและกัน จากนั้นจึงทำการทดสอบเป็นรายบุคคลแล้วนำคะแนนของแต่ละคนมารวมกันเป็นคะแนนกลุ่ม แล้วให้รางวัลกับกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยถึงเกณฑ์ที่กำหนด
ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมเนื้อหา
สำหรับขั้นแรกครูผู้สอนจะต้องจัดเตรียมเนื้อหาสาระหรือเรื่องราวที่จะสอน โดยจะต้องเป็นเนื้อหาที่เหมาะสมกับการเรียนรู้แบบกลุ่ม นอกจากนี้ยังต้องจัดเตรียมแบบทดสอบย่อยสำหรับการทดสอบนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อใช้เป็นผลคะแนนในการพิจารณาทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มอีกด้วย
ขั้นที่ 2 ขั้นจัดกลุ่มนักเรียน
ขั้นนี้ครูผู้สอนจะต้องจัดกลุ่มนักเรียน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มละ 4 คน โดยแบ่งเป็นนักเรียนที่มีความสามารถทางการเรียนดี ปานกลาง และ ต่ำ ในอัตรา 1:2:1 โดยดูจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในชั้นเรียนเป็นหลัก ซึ่งเมื่อให้นักเรียนจับกลุ่มแล้ว ครูผู้สอนจะต้องวางกติกาและกำชับให้นักเรียนต้องรับผิดชอบและช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาคะแนนของกลุ่ม
ขั้นที่ 3 ขั้นการเรียนรู้
ขั้นนี้จะเป็นขั้นของการดำเนินการจัดการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนจะแนะวิธีการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งนักเรียนจะต้องช่วยเหลือเพื่อนในกลุ่มโดยแบ่งภาระหน้าที่ซึ่งกันและกัน เพื่อให้กิจกรรมกลุ่มดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นที่ 4 ขั้นทดสอบย่อย
หลังจากเรียนผ่านพ้นไปแล้วนักเรียนจะต้องทำแบบทดสอบเป็นรายบุคคล และไม่อนุญาตให้ช่วยเหลือกัน ซึ่งเมื่อทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว ครูผู้สอนจะต้องจัดทำคะแนนการพัฒนา ทั้งรายสมาชิกและรายกลุ่มด้วย
ขั้นที่ 5 การรับรองผลงานและเผยแพร่ชื่อเสียงของกลุ่ม
คือขั้นของการนำคะแนนการพัฒนาของกลุ่มไปเทียบเกณฑ์ เพื่อหาระดับคุณภาพ และเป็นการประกาศผลงานของกลุ่มที่ได้คะแนนสูง เพื่อรับรองและยกย่องชมเชยในรูปแบบต่าง ๆ
จากขั้นตอนทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าหลักการพื้นฐานของการเรียนรู้รูปแบบนี้ คือ การให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันรู้จักทำงานเป็นกลุ่มและรับผิดชอบในงานของตัวเอง เพราะถ้าคนใดคนหนึ่งภายในกลุ่มไม่รับผิดชอบ ก็อาจส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์โดยรวมของกลุ่มได้ และนอกจากนี้ การให้รางวัลสำหรับกลุ่มที่ทำผลงานได้ดี ก็ยิ่งเป็นการเสริมแรงให้นักเรียนเรียนรู้ในรูปแบบกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับข้อดีของการจัดการเรียนแบบแบ่งผลสัมฤทธิ์นี้ ส่วนหนึ่งคือผู้เรียนจะมีความเอาใจใส่รับผิดชอบตนเองและภายในกลุ่มมากขึ้น เพราะต้องทำงานร่วมกับเพื่อนสมาชิกคนอื่น ๆ จึงต้องมีความเกรงใจและความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับบุคคลอื่น มีความตื่นเต้นและสนุกกับการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนที่มีความสามารถต่างกันได้ร่วมมือกันเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพที่ได้ตั้งไว้ เปิดโอกาสให้นักเรียนผลัดกันเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการฝึกทักษะทางสังคม
แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเรียนรู้รูปแบบนี้จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณา เพราะถ้านำไปใช้กับนักเรียนที่ขาดความรับผิดชอบ การจัดกิจกรรมแบบกลุ่มก็จะไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งรูปแบบการเรียนรู้นี้ ยังเป็นรูปแบบการเรียนรู้หนึ่งที่ครูผู้สอนจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ และต้องให้งานกับนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเพิ่มภาระให้นักเรียนได้
การจัดการเรียนรู้แบบแบ่งผลสัมฤทธิ์นั้น เป็นรูปแบบการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการเรียนรู้ในหลากหลายวิชา และสามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนได้ในหลาย ๆ ระดับ ซึ่งการใช้กิจกรรมกลุ่มมาออกแบบแนวการจัดการเรียนรู้นั้น นับว่าเป็นแนวทางอย่างหนึ่งของการจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ที่จำเป็นต้องให้นักเรียนได้มีความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีทักษะความร่วมมือนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งทักษะนี้มีความจำเป็นอย่างมากในการแข่งขันในศตวรรษนี้ ทำให้การจัดการเรียนรู้แบบแบ่งผลสัมฤทธิ์ จึงน่าจะเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เข้ากับยุคสมัยนี้ได้ดีทีเดียว
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร