กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้นิยามความหมายของแหล่งการเรียนรู้ไว้ว่า หมายถึง แหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศและประสบการณ์ที่สนับสนุนให้ผู้เรียนใฝ่เรียนใฝ่รู้ แสวงหาความรู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัยอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ที่อธิบายเกี่ยวกับแหล่งการเรียนรู้เอาไว้ในมาตราที่ 25 ว่า รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬาและนันทนาการแหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้ารวมความหมายจากทั้งสองส่วนแล้ว แหล่งการเรียนรู้ จึงน่าจะหมายถึง แหล่งข้อมูล ข่าวสาร และสถานที่ต่าง ๆ ที่สามารถส่งเสริมและสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้นั่นเอง
เราสามารถแบ่งประเภทของแหล่งการเรียนรู้ได้หลายลักษณะ ตามรูปแบบของแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งได้แก่
- แหล่งการเรียนรู้ตามธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติ สวนพฤกษศาสตร์ ภูเขา ทะเล แม่น้ำ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ
- แหล่งการเรียนรู้ที่เกิดจากมนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งมีทั้งแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน เช่น ห้องสมุด สนามกีฬา แปลงเกษตร และแหล่งการเรียนรู้นอกโรงเรียน เช่น วัดวาอาราม ตลาด พิพิธภัณฑ์ และสวนสัตว์ เป็นต้น
- แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นบุคคล หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้รับเชิญมาให้ความรู้กับนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่ตัวเองเชี่ยวชาญ เช่น นักดับเพลิง พ่อครัว หรือ วิทยากรตามแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ
- แหล่งการเรียนรู้ดิจิทัล หมายถึง แหล่งการเรียนรู้ที่มาจากเครื่องมือสื่อสารออนไลน์ เช่น ข่าวสารออนไลน์ ยูทูป และข้อมูลที่ค้นคว้าได้ในอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
ปัจจุบันแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้น นอกจากสิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้ว แหล่งการเรียนรู้ดิจิตัล ก็นับว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่กำลังได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เพราะเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สามารถเรียนรู้ได้กว้างขวางและมีความทันสมัย ซึ่งการสนับสนุนให้โรงเรียนมีแหล่งการเรียนรู้ดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ททีวี จะช่วยให้นักเรียนสามารถใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่ในการศึกษาหาความรู้ และพัฒนาศักยภาพของตัวเองตามความสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21
สำหรับการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องทราบถึงองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถเห็นถึงจุดอ่อน จุดแข็ง และแนวทางในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้นั้นประกอบด้วย
หมายถึง ข้อมูลและชุดความรู้ต่าง ๆ ที่นักเรียนควรได้จากการศึกษาแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งแหล่งการเรียนรู้จะต้องสามารถรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลและชุดความรู้ไว้ให้เป็นระบบและเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ การเรียนรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ หรือต่อยอดสำหรับการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องที่ตัวเองได้
หมายถึง บุคคลที่สามารถบอกเล่าหรือถ่ายทอดข้อมูลและชุดความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นกับนักเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับนักเรียน ซึ่งผู้ที่จะให้ข้อมูลเหล่านี้ จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่ถ่ายทอดเป็นอย่างดี และสามารถนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ นั้น ออกมาได้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม
หมายถึง ขั้นตอนในออกแบบและวางแผน วิธีการในการจัดกระบวนการเรียนรู้ รูปแบบการเผยแพร่ หรือการนำเสนอหรือถ่ายทอดข้อมูลต่าง ๆ ให้กับผู้ที่สนใจ เช่น การลำดับเรื่องราว เหตุการณ์ที่นำเสนอ หรือกิจกรรมสาธิต เป็นต้น
หมายถึง รูปแบบของกิจกรรมและกระบวนการที่จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น การบรรยาย การจัดกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้โดยการปฏิบัติ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง หรือการเรียนรู้ผ่านโลกเสมือนด้วย AR และ VR เป็นต้น
หมายถึง รูปแบบของสื่อการเรียนต่าง ๆ ที่ช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยทำให้นักเรียนมีความเข้าใจในข้อมูลความรู้นั้น ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น อุปกรณ์สาธิต สื่อของจริง ป้ายข้อมูล โมเดลจำลอง วีดีทัศน์ รวมไปถึงเทคโนโลยีสื่อเสมือนจริงต่าง ๆ ซึ่งครูผู้สอน รวมถึงวิทยากรที่มาให้ความรู้กับนักเรียน ควรที่จะต้องเลือกใช้สื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและสัมพันธ์กับข้อมูล ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับนักเรียนในการศึกษาแหล่งการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
หมายถึง สถานที่ที่เป็นที่ตั้งของแหล่งการเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด แปลงเกษตร สนามกีฬา ห้องดนตรี หรือห้องครัว เป็นต้น ซึ่งควรจะมีที่ตัวอย่างชัดเจน และนักเรียนสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้ นอกจากนี้ยังหมายรวมไปถึงลิงค์ที่อยู่สำหรับการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตต่าง ๆ ด้วย เช่น เว็บไซต์ต่าง ๆ หรือโพสต์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น
แหล่งเรียนรู้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบชัดเจน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่เป้าหมายของแหล่งเรียนรู้ ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งการวางแผนการปฏิบัติงาน การบริหารจัดการคณะทำงานที่ขับเคลื่อน การจัดการงบประมาณหรือแหล่งที่มาของรายได้ เพื่อให้แหล่งการเรียนรู้นั้นมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
จากองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ เราจะเห็นว่าการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนในโรงเรียนในการออกแบบและวางแผนการทำแหล่งการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนในโรงเรียน และรวมไปถึงการได้รับแรงสนับสนุนจากภายนอก เช่น ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้สนับสนุนต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้แหล่งการเรียนรู้มีความเป็นไปได้และเป็นรูปแบบร่างมากขึ้น
นอกจากนี้นักเรียนควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน ซึ่งโรงเรียนควรรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน และส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียนร่วมกัน จะช่วยให้นักเรียนรักและหวงแหนแหล่งการเรียนรู้ และพร้อมใจที่จะดูและรักษาสถานที่เหล่านั้นให้ดีอยู่เสมอ เพื่อตัวเองและรุ่นน้องรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ถ้าโรงเรียนสามารถปลูกจิตสำนึกเหล่านี้ให้เกิดขึ้นภายในใจนักเรียน เพราะนั่นหมายถึงความยั่งยืนของแหล่งการเรียนรู้ที่จะมีประโยชน์ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นนั่นเอง
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร