ในสมัยก่อน ช่วงที่การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าปัจจุบัน ห้องสมุดประชาชนกลายเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ที่ไม่แบ่งแยกเพศและอายุ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุต่างเข้ามาใช้บริการในห้องสมุดประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตามเวลาที่กำหนด หนังสือมากมาย ถูกนำเข้ามาไว้ในห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือสำหรับเด็ก เช่น หนังสือนิทาน หนังสือเรียน หรือหนังสือสำหรับบุคคลทั่วไปที่เป็นนวนิยาย นิตยสาร หนังสือสาระความรู้ต่าง ๆ โดยหนังสือเหล่านี้มีทั้งที่ทางห้องสมุดจัดซื้อเพื่อนำเข้ามา และบางส่วนอาจเป็นหนังสือที่ประชาชนทั่วไปเอามาบริจาค โดยบุคคลทั่วไปสามารถที่จะหยิบหนังสือเหล่านั้นได้ และสำหรับใครที่สนใจหนังสือเล่มไหนเป็นพิเศษ ก็สามารถทำเรื่องขอยืมหนังสือเพื่อนำกลับไปอ่านที่บ้านได้ แล้วนำส่งคืนตามวันเวลาที่กำหนด
นอกจากสื่อสารสนเทศที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว สำหรับห้องสมุดขนาดใหญ่และห้องสมุดที่มีความพร้อม จะมีการนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาให้บริการในห้องสมุดด้วย เช่น วีดีโอ เทปคาสเซ็ต วีซีดี และ ดีวีดี เป็นต้น ต่อมาเมื่อการสื่อสารออนไลน์มีประสิทธิภาพและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของบุคคลทั่วไปมากขึ้น ห้องสมุดส่วนใหญ่ก็ได้มีการปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศมาให้บริการ เช่น มีการติดตั้งคอมพิวเตอร์สำหรับการสืบค้น ให้บริการไวไฟ หรือมีการจัดทำห้องสมุดออนไลน์ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตแบบใหม่ของบุคคลมากขึ้น
ห้องสมุดนั้นนับได้ว่าเป็นหัวใจของการศึกษา เพราะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ที่ทุกคนสามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง เป็นสถานที่ ที่เหมาะสมสำหรับการค้นคว้าที่จำเป็นต้องศึกษาจากเอกสารจำนวนมาก และยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนที่ชอบความเงียบสงบและชอบอ่านหนังสือ นอกจากนี้ห้องสมุดยังเป็นสถานที่ ที่รักษาวัฒนธรรม เพราะเป็นสถานที่รวบรวมความรู้และบันทึกประวัติศาสตร์มากมาย ที่สามารถถ่ายทอดไปยังอนุชนรุ่นต่อไป และยังแสดงให้เห็นถึงความมีอารยธรรมของประเทศนั้น ๆ ได้อีกด้วย
ปัจจุบันห้องสมุดที่ดีนั้น ควรมีความเป็นมัลติฟังก์ชั่นมากขึ้น คือ สามารถใช้ประโยชน์จากห้องสมุดได้หลากหลาย โดยไม่จำกัดอยู่ที่แค่การศึกษาค้นคว้าจากหนังสือเพียงอย่างเดียว เพราะด้วยรูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์ที่เป็นไป การบริการ รวมถึงรูปแบบในการส่งเสริมในห้องสมุดก็ควรพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงนั้นด้วย ดังนั้นการพัฒนาห้องสมุดในสถาบันการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ ก็ควรจัดให้เหมาะสมกับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ห้องสมุดในสถานศึกษาควรจะมี
ในการจะชักชวนให้นักเรียนหันมาเข้าห้องสมุดมากขึ้น ห้องสมุดควรมีการนำเสนอนิทรรศการที่น่าสนใจ โดยหยิบยกเอามาจากข่าวสารที่ได้รับความนิยม เพื่อนำมาจัดนิทรรศการและแนะนำสื่อสารสนเทศต่าง ๆ ที่มีเรื่องราวสอดคล้องกับเรื่องราวที่นำเสนอในนิทรรศการ เพื่อแนะนำและกระตุ้นให้นักเรียนสนใจที่จะเรียนรู้จากหนังสือและสื่อสารสนเทศเหล่านั้น
ต้องยอมรับว่าในยุคสมัยนี้เครือข่ายออนไลน์ถือว่ามีความสำคัญมากต่อการศึกษาหาความรู้ที่เป็นปัจจุบัน ดังนั้นห้องสมุดควรจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงอุปกรณ์สำหรับการเชื่อมต่อ เพื่อการสืบค้น เช่น คอมพิวเตอร์ หรือ แท็บเล็ต ซึ่งบรรณารักษ์ อาจใช้วิธีการจำกัดการใช้เครือข่ายในแต่ละวันของสมาชิกห้องสมุด เพื่อตัดปัญหาการใช้บริการที่นานเกินไปได้ เช่น กำหนดให้สมาชิก ใช้งานได้วันละ 3 ชั่วโมง หรือ อาจจะใช้วิธีลงทะเบียนทีละ 1 ชั่วโมง เพื่อให้สมาชิกได้สลับกันใช้ได้อย่างทั่วถึง
ตามปกติแล้วห้องสมุดถูกตั้งกฎไว้ให้เป็นสถานที่ ที่ต้องการความเงียบสงบสำหรับการนั่งอ่านหนังสือ แต่สำหรับผู้เรียนในสถานศึกษา การใช้ห้องสมุดของผู้เรียนแต่ละกลุ่มนั้น อาจมีความแตกต่างกัน บางกลุ่มอาจต้องการความเงียบเพื่อใช้เวลาในการอ่านหนังสือ แต่บางกลุ่มอาจจำเป็นต้องระดมความคิดและต้องค้นคว้าเอกสารร่วมกัน ดังนั้น ถ้าในห้องสมุดมีพื้นที่มากพอ ควรแบ่งสรรปันส่วนให้เหมาะสมและตอบสนองกับผู้เรียนในแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสมและไม่รบกวนซึ่งกันและกัน
บางครั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับห้องสมุดบางอย่างก็ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย เช่น การไม่อนุญาตให้นำเครื่องมือสื่อสารเข้ามา การห้ามนำหนังสือออกนอกบริเวณห้องสมุด หรือ การงดพูดคุยกันระหว่างใช้บริการห้องสมุด เป็นต้น กฎระเบียบที่ไม่สะดวกเหล่านี้ส่งผลโดยตรงทำให้ผู้เรียนไม่อยากเข้าห้องสมุด และมองว่าปัจจุบันเราหาข้อมูลความรู้ที่ทันสมัยกว่าจากทางออนไลน์ได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ห้องสมุดเพื่อการศึกษาค้นคว้าอีกต่อไป ซึ่งความคิดเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อห้องสมุดในระยะยาว ถ้ายังคงยืดถือกฎระเบียบแบบดั้งเดิม ห้องสมุดจึงควรปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไปมากขึ้น
บรรณารักษ์อาจให้ผู้เรียนที่เป็นสมาชิกของห้องสมุดช่วยกันลงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสื่อสารสนเทศที่ผู้เรียนอยากได้ เช่น อาจตั้งกล่องพร้อมเศษกระดาษให้นักเรียนกรอกชื่อหนังสือหรือสื่อสารทนเทศที่อยากได้พร้อมชื่อลงในกระดาษแล้วนำไปใส่ไว้ในกล่อง และทุกสัปดาห์บรรณารักษ์จะรวบรวมเศษกระดาษทั้งหมดแล้วเรียงลำดับหนังสือหรือสื่อสารสนเทศที่นักเรียนอยากได้ เพื่อเสนอผู้บริหารและกรรมการสถานศึกษา ซึ่งอาจจะช่วยหางบประมาณสำหรับการจัดซื้อหรือจัดหาให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้เรียนได้อย่างตรงจุด
แม้ว่าเราจำเป็นต้องพัฒนาห้องสมุดให้มีความทันสมัย แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้การพัฒนาห้องสมุด ควรมีส่วนหนึ่งที่ทำเป็นห้องสมุดออนไลน์สำหรับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้สะดวก ทุกที่ ทุกเวลา โดยจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์เป็น E-Book และอัปโหลด เพื่อรวบรวมไว้ในห้องสมุดออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนสามารถสืบค้นได้โดยไม่จำเป็นต้องยืมหนังสือเป็นเล่ม ๆ
ต้องอย่าลืมว่าห้องสมุดในสถานศึกษานั้น เป็นสถานที่ ที่มีไว้เพื่อผู้เรียนรวมถึงครูผู้สอนและบุคลากรต่าง ๆ ในโรงเรียน สำหรับเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่สถานที่ที่จัดไว้อย่างสวยงาม เพื่อเอาไว้เพียงการรับแขกที่มีเยี่ยมชมสถานศึกษา เราจึงควรพัฒนาห้องสมุดในสถานศึกษาให้ตอบสนองกับผู้เรียน รวมถึงบุคลากรในโรงเรียนมากกว่าที่จะทำไว้สวยๆ แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเพื่อการศึกษาเลย ถ้าแบบนั้นก็ไม่รู้ว่าจะมีห้องสมุดเอาไว้ทำไม จริงไหมครับ
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร