Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ห้องเรียนแห่งความเห็นอกเห็นใจ ในยุคแห่งการกลั่นแกล้งบนโลกอินเตอร์เน็ต

Posted By Plook Teacher | 23 ก.ย. 63
6,729 Views

  Favorite

ผู้เขียนเชื่อแน่ว่า ครูผู้สอนทุกท่านนั้นคงปรารถนาให้นักเรียนทุกคน มีความสุขในการมาโรงเรียน เพราะนั่นหมายถึงความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนักเรียนที่จะแสดงออกมาในการเรียนรู้ ยิ่งสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของนักเรียนนั้นส่งผลต่อความสุขของนักเรียนมากเท่าไหร่ ความมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนก็จะแสดงออกมาให้เห็นมากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน ถ้านักเรียนนั้นต้องอยู่ท่ามกลางบรรยากาศการเรียนรู้ที่ถูกคุมคาม ถูกรังแก ข่มขู่ และกลั่นแกล้ง พวกเขาจะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยและรู้สึกวิตกกังวล จนส่งผลทำให้นักเรียนไม่อยากมาโรงเรียน และนำไปสู่ปัญหาในด้านการเรียนรู้ตามมาได้

 

ปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะในห้องเรียนหรือในโรงเรียนเท่านั้น ที่อาจจะมีเรื่องของการกลั่นแกล้งกันได้ เพราะปัจจุบัน ด้วยความที่เทคโนโลยีการสื่อสารนั้นมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้พวกเราทุกคนเชื่อมต่อกันด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยมีสังคมออนไลน์เป็นเสมือนกระดานดำที่ใครจะเขียนอะไรต่อมิอะไรถึงใครก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องสนใจความรู้สึกของผู้ถูกกล่าวถึง ทำให้พื้นที่ในสังคมออนไลน์กลายเป็นจุดเปราะบางที่อาจจู่โจมถึงนักเรียนได้โดยง่าย

 

ปัญหาเรื่องของการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนนั้น นับว่าเป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและระมัดระวัง เพราะสำหรับนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งนั้น การกลั่นแกล้งในโรงเรียน ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่เลวร้าย ที่ส่งผลกระทบต่อตัวนักเรียนทั้งในด้านการเรียนและการใช้ชีวิต ทั้งในปัจจุบันอาจส่งผลถึงอนาคตด้วย ซึ่งการจัดการกับปัญหาทำนองนี้ ด้วยวิธีการปกติเช่น เรียกนักเรียนที่ทำการกลั่นแกล้งออกมาทำโทษ รังแต่ทำให้ปัญหานั้นทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น แทนที่ครูผู้สอนจะพยายามแก้ไขปัญหาจากปลายเหตุ การวางแนวที่เหมาะสมให้กับนักเรียนในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า ซึ่งแนวทางที่จะกล่าวถึงนี้คือการส่งเสริมให้มี ห้องเรียนแห่งความเห็นอกเห็นใจ

 

ห้องเรียนแห่งความเห็นอกเห็นใจ (Compassionate Classroom) หมายถึง ห้องเรียนที่นักเรียนทั้งหมดในชั้นเรียนมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เรียนรู้ความคิดเห็นและสิทธิซึ่งกันและกัน ยอมรับและได้รับการต้อนรับหรือปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งห้องเรียนลักษณะนี้ที่จะเป็นห้องเรียนที่ส่งเสริมความปลอดภัยและความเท่าเทียมกันของนักเรียน และส่งผลให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพตามศักยภาพและความสนใจของตัวเอง นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนมีการร่วมมือกันในการทำงาน มีความสุขในการทำงานร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับสังคมในอนาคต

สำหรับการสร้างให้ห้องเรียนปกติ กลายเป็นห้องเรียนแห่งความเห็นอกเห็นใจนั้น ครูผู้สอนสามารถที่จะดำเนินการให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมความเห็นอกเห็นใจกันขึ้นกับนักเรียน ดังนี้

 

การอภิปรายในชั้นเรียน

การอภิปรายในชั้นเรียนถือว่าเป็นกิจกรรมแรก ๆ ที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมความเห็นอกเห็นใจกันได้ เพราะ เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาความคิดเห็นและนิสัยใจของกันและกัน ซึ่งเมื่อนักเรียนรู้สึกมีความปลอดภัยและได้รับการสนับสนุนที่ดีแล้ว พวกเขาก็พร้อมที่พูดคุยเปิดใจเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ รวมถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาในระดับที่ลึกขึ้นด้วย และทำให้พวกเขาสามารถอภิปรายร่วมกันได้มีชีวิตชีวาและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

การเป็นแบบอย่างของครูผู้สอน

การแสดงออกของครูผู้สอน รวมถึงการพูดถึงพฤติกรรมที่ครูผู้สอนต้องการให้นักเรียนเลียนแบบยังคงเป็นสิ่งสำคัญ การแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจต่อผู้อื่น แสดงให้นักเรียนเห็นว่าควรปฏบัติต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างไร จะช่วยให้พวกเขาเห็นถึงผลลัพธ์ที่ดีในการปฏิบัติ และมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามอย่างเหมาะสม

การทำกิจกรรมกลุ่ม

กิจกรรมกลุ่ม นับว่าเป็นแนวทางที่ดี ในการส่งเสริมให้นักเรียนทำงานร่วมกัน ซึ่งการให้นักเรียนทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันนั้น จะช่วยปลูกฝังและส่งเสริมให้นักเรียนมีความไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสร้างให้นักเรียนเกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และนำไปสู่การมีทักษะในการทำงานร่วมกันและประสบความสำเร็จในการเรียนรู้

การเสริมแรง

บทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของครูผู้สอนคือการช่วยเหลือนักเรียน และทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขามีความสามารถที่จะทำทุกอย่างได้ตามที่พวกเขาต้องการหรือตั้งเป้าหมายไว้ สิ่งนี้จะช่วยพัฒนาห้องเรียนและความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน  แต่ต้องไม่ลืมที่จะแจ้งให้นักเรียนทราบด้วยว่าเมื่อพวกเขาล้มเหลวในบางครั้งพวกเขาก็สามารถที่จะลุกขึ้นยืนและทำตามเป้าหมายต่อไปอีกครั้งได้  สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ครูผู้สอนสามารถทำได้ในส่วนนี้คือ การถามคำถาม เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมและเอาใจใส่ในสิ่งนั้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาประเมินตัวเองและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม

 

การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกันและสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้นั้น นับว่าเป็นสิ่งล้ำค่าต่อการก้าวไปข้างหน้า และนับได้ว่าเป็นแนวทางที่สำคัญสำหรับการสร้างห้องเรียนแห่งความเห็นอกเห็นใจ การประเมินนักเรียนเกี่ยวกับการรับรู้ถึงความรู้สึกและจุดยืนของพวกเขา ในแง่ของความสัมพันธ์และการสร้างห้องเรียนที่มีความเห็นอกเห็นใจกันในอุดมคติ จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้งในและนอกห้องเรียน นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคนิคเหล่านี้ได้ทั้งโรงเรียนเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการกลั่นแกล้งกัน ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การสร้างห้องเรียนแห่งความเห็นอกเห็นใจนั้น นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอของการกลั่นแกล้งที่ดี เพราะส่วนใหญ่แล้วการกลั่นแกล้งกันนั้น มักเริ่มต้นที่กลุ่มเพื่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะแพร่ขยายออกไป ซึ่งความที่ปัจจุบันสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการใช้ชีวิต ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นกระบอกเสียงที่สามารถแพร่กระจายการกลั่นแกล้งออกไปอย่างไร้การควบคุมและส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับผู้ถูกคุกคาม ดังนั้นการสร้างห้องเรียนแห่งความเห็นอกเห็นใจขึ้น คือการแก้ไขอันดับต้น ๆ ที่ช่วยลดปัญหาการกลั่นแกล้งกันได้ และทำให้ห้องเรียนสามารถกลับมาเป็นบ้านที่น่าอยู่ของนักเรียนทุกคนได้อีกครั้ง

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow