โรงเรียนที่มีลักษณะเหมือน ๆ กันไปหมดนั้น ทำให้ไม่เกิดความโดดเด่น และขาดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งนี้แม้ว่าจะดูดีในเรื่องของการควบคุมคุณภาพ แต่ความเป็นจริงแล้วคุณภาพเหล่านั้นกลับไม่สามารถยืนยันได้เลยว่าทุกโรงเรียนจะมีคุณภาพที่แท้จริงเหมือนกัน แต่กลับทำให้คิดว่า การศึกษาไทยกำลังจะสร้างบุคลากรที่เหมือน ๆ กันและไร้ซึ่งความแตกต่างและความน่าสนใจ ซึ่งทำให้เราไม่อาจแข่งขันได้ในโลกอนาคต
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องยากในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการศึกษาที่มีมาแต่เดิม แต่ก็มีแสงสว่างเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการการศึกษาของประเทศไทยที่น่าจะเป็นแนวทางที่เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาแห่งอนาคต ในการนำพาชาติไทยไปสู่เส้นทางการศึกษาที่ควรจะเป็น ซึ่ง 3 รูปแบบนี้คือตัวอย่างของรูปแบบของโรงเรียนที่น่าจะเป็นโรงเรียนแห่งอนาคตในประเทศไทย
ปัจจุบันแผนการเรียนสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น ยังคงผูกติดอยู่กับคำว่า สายวิทย์ หรือ สายศิลป์กันอยู่ ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันนี้รูปแบบของการศึกษา รวมไปถึงแนวทางในการศึกษาต่อนั้น ได้มีการพัฒนาอย่างหลากหลายจนเกินกว่าการแยกแค่สายวิทย์กับสายศิลป์แล้ว จึงไม่จำเป็นเลยที่การศึกษาไทยจะต้องผูกกับแผนการเรียนที่มีแค่วิทย์กับศิลป์ ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีแนวคิดทางการศึกษาแบบ Personalize Learning คือการที่นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ซึ่งการสอนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น จะเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้จัดตารางเรียนด้วยตัวเองตามคำแนะนำในคู่มือที่โรงเรียนจัดทำให้ ซึ่งลักษณะนี้ คล้ายคลึงกับการเรียนในระดับอุดมศึกษาที่ผู้เรียนจะต้องเลือกวิชาเรียนด้วยตัวเอง ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกได้ทั้งวิชา เวลา หรือแม้แต่ครูผู้สอนที่สอนในแต่ละเซคก็สามารถเลือกเรียนกับครูผู้สอนที่สนใจได้ตามต้องการ
การเรียนตามหลักสูตรนี้ จะแบ่งวิชาออกเป็น 2 ส่วน คือการเรียนในวิชาพื้นฐาน ซึ่งเป็นวิชาที่จำเป็นต้องเรียนเพื่อพื้นฐานการใช้ชีวิต โดยเรียนเพื่อให้ชีวิตมีความหมายมากกว่าที่จะเน้นในเรื่องของการสอบ ซึ่งวิชานี้จะเทียบเท่ากับวิชาพื้นฐานของโรงเรียนทั่วไป
อีกส่วนหนึ่งจะเป็นวิชาเฉพาะ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มคือ
- Health and Bio-science ซึ่งเกี่ยวกับชีววิทยา วิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งหลาย รวมถึงเคมี จิตวิทยา และสาธารณสุข
- Engineering and Technology ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ อวกาศ และการเขียนโค้ดดิ้ง
- Social Science and Humanities จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของมนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนกรรม
- Communication and Language จะเป็นเรื่องของการสื่อสาร ภาษาและวรรณกรรม
- Business and Entrepreneurship คือวิชาที่ว่าด้วยธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบ
- Arts, Media and Creativity คือกลุ่มศิลปะ ดนตรี ละคร และทัศนศิลป์ต่างๆ
ซึ่งทั้ง 6 กลุ่มวิชาเฉพาะนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเรียนทั้งกลุ่ม นักเรียนสามารถจะผสมวิชาเรียน เพื่อออกแบบแผนการสอนของตัวเองได้ ซึ่งครูผู้สอนจะคอยเป็นผู้แนะนำให้นักเรียนเลือกแนวทางในการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการของตัวเอง
อย่างไรเสีย แม้ว่าระบบการเรียนแบบนี้ จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ตามความสนใจของตัวเอง แต่ระบบนี้ นักเรียนก็จำเป็นต้องมีวินัยในตนเองอย่างมาก เพราะภาระในการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่นักเรียน พวกเขาจึงต้องดูแลตัวเองและแอคทีฟอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเรียนในระบบนี้ไม่ได้
ด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้รูปแบบการเรียนของนักเรียนนั้นมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จากที่เคยจะต้องเดินทางไปเรียนที่โรงเรียน ก็อาจใช้ประโยชน์จากสังคมออนไลน์หรือการสื่อสารออนไลน์ในการเรียนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชันหลายตัวที่ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ เช่น Line Facebook และ Zoom เป็นต้น ซึ่งในช่วงของการระบาดของโรค Covid-19 ก็ได้แสดงให้เห็นว่าการศึกษาผ่านทางออนไลน์นั้น สำหรับประเทศไทยก็มีโอกาสเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง
ก่อนหน้าที่มีการพัฒนาด้านการสื่อสารออนไลน์อย่างทั่วถึง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล จึงทรงจัดตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยให้มีการฉายภาพการเรียนการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวลไปยังโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (รปค.) และพระราชทานสู่โรงเรียนทั่วไป ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนครูได้อย่าดี ทำให้นักเรียนเข้าถึงระบบการศึกษาได้ดีขึ้น
การศึกษาผ่านดาวเทียมในปัจจุบัน นอกจากจะฉายในระบบสัญญาณทางไกลผ่านดาวเทียมแล้ว ยังเพิ่มเติมเป็นการศึกษาออนไลน์ด้วย และการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านการศึกษาในช่วงของการระบาดของโรค Covid-19 ที่ผ่านมาได้อย่างดี และทำให้ประเทศไทยเห็นภาพของการศึกษาออนไลน์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้จัดทำ MOOC (Massive Open Online Course) ซึ่งเป็นแหล่งรวมหลักสูตรออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้อย่างเสรี ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่เราอาจจะเห็นโรงเรียนที่เป็นระบบออนไลน์เต็มรูปแบบที่นักเรียนสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ ในอนาคตก็เป็นได้
โรงเรียนโพธิสารพิทยากรสร้างความฮือฮาทางด้านการศึกษา โดยการยกเลิกแผนสายวิทย์และสายวิทย์แบบเก่า และเปลี่ยนเป็นแผนการเรียนแบบใหม่ที่ให้นักเรียนเจาะลึกในความสนใจด้านอาชีพมากขึ้น ตามแนวคิดที่ว่า “Defining the FUTURE” โดยมีการจัดทำเป็นแผนการเรียนรู้ 7 แผน อันได้แก่เตรียมแพทย์-เภสัชฯ เตรียมวิศวะ-สถาปัตย์ เตรียมวิทย์-คอม เตรียมนิเทศ-มนุษย์ เตรียมศิลปกรรม เตรียมบริหารธุรกิจ-บัญชี และ เตรียมนิติ-รัฐศาสตร์
การแยกเรียนตามแผนเช่นนี้ แม้ว่าจะมีวิชาพื้นฐานที่เรียนร่วมกัน แต่นักเรียนจะได้เจาะลึกในคณะหรืออาชีพที่เป็นความสนใจของตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาในอนาคตที่ต้องเน้นให้นักเรียนมีทักษะทางอาชีพที่เหมาะสม
ทั้ง 3 รูปแบบนี้ คือรูปแบบของโรงเรียนแนวคิดใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงแสงสว่างในอนาคตของการศึกษา ที่ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้เราอาจจะมีโรงเรียนทำนองนี้เพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะมีโรงเรียนที่มีแนวทางที่สร้างสรรค์มากกว่านี้ก็เป็นได้ ถ้าเราตระหนักมากพอว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่การศึกษาของเราจะต้องปฏิรูปใหม่ให้สอดคล้องกับโลกแห่งอนาคต
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร