เด็กและเยาวชนในยุคนี้ถูกนิยามและเรียกขานใหม่ว่าเป็นเจนเนอเรชันอัลฟ่า ซึ่งเป็นยุคใหม่ที่ต่อจากเจนเนอเรชัน ซี (Generation Z) นั้น ส่วนหนึ่งมาจากที่พวกเขาเติบโตมาท่ามกลางความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ
มีการคาดการณ์กันว่า เด็กและเยาวชนในเจนเนอเรชันอัลฟ่านี้ จะเติบโตมาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยบุคลิกลักษณะที่แตกต่างจากเด็กรุ่นก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเฉลียวฉลาด ความกล้าคิดกล้าแสดงออก และความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่มีความอดทนต่ำ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและใช้เครื่องมือดิจิทัลเสมือนเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่สำคัญในชีวิต
นอกจากนี้ ด้วยความที่เด็กและเยาวชนในเจนเนอเรชันนี้ถูกหล่อเหลาไปด้วยเทคโนโลยี ทำให้พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการบริโภคสื่อต่าง ๆ มากกว่าการฝึกทักษะที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ทำให้เด็ก และเยาวชนยุคนี้มีพัฒนาการบางอย่างบกพร่องและมีปัญหาสุขภาพ เช่น สายตาสั้นจากการใช้สื่อเป็นระยะเวลานาน เป็นโรคอ้วนเนื่องจากขาดการออกกำลังกาย และอาจเป็นโรคสมาธิสั้นหรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์จากการบริโภคสื่อที่มากเกินไป
นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี นักจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) ได้ให้คำนิยามของเด็กเจนเนอเรชันอัลฟ่าไว้ว่ามีคาแรคเตอร์ที่เด่นชัดอยู่ 7 ประการ อันได้แก่
ด้วยความที่เจนเนอเรชันอัลฟ่านั้นใช้ชีวิตโดยการพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลัก ทำให้พวกเขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในการดำเนินการต่าง ๆ และส่งผลให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองมากขึ้นกว่าการติดต่อประสานสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
เจนเนอเรชันอัลฟ่านั้น มีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ทำให้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนั้นจะมีบทบาทอย่างยิ่งในชีวิตของเด็กและเยาวชนเจนเนอเรชันนี้ พวกเขาสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ผ่านเทคโนโลยี มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีที่ดี และให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
เจนเนอเรชันนี้มีความกล้าคิด กล้าแสดงออก และชอบลองทำในสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ มีความสร้างสรรค์ที่ดี และมีแนวทางที่เป็นแบบเฉพาะของตัวเอง ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัวได้
เมื่อเทคโนโลยีสามารถทำให้เจนเนอเรชันอัลฟ่าสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง การติดต่อปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นอีกต่อไป โดยเฉพาะกับการติดต่อพบปะกันต่อหน้า ที่มีแนวโน้มจะลดน้อยลง แต่กลับไปติดต่อสื่อสารกันผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ แทน
ด้วยความที่เจนเนอเรชันอัลฟ่าเติบโตมาในยุคของการที่ทุกคนให้ความสำคัญกับการคุมกำเนิด ทำให้พวกเขาอยู่ในครอบครัวที่มีพี่น้องน้อยหรือเป็นลูกคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ สิ่งนี้ทำให้พวกเขาได้ความรักอย่างมากมาย เพราะทุกคนในครอบครัวต่างทุ่มเทความรักและความเอาใจใส่ให้อย่างเต็มที่ จึงบางครั้งอาจจะมากเกินไป จนนำไปสู่ปัญหาด้านพฤติกรรมได้
อย่างที่ทราบกันดีเจนเนอเรชันอัลฟ่านั้นใช้ชีวิตร่วมกับเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ดังนั้นการใช้ชีวิตโดยผูกติดกับเทคโนโลยีมากเกินไป ก็อาจส่งผลทำให้เจนเนอเรชันนี้ มีพฤติกรรมหรืออุปนิสัยที่คล้ายคลึงกับหุ่นยนต์ คือใช้ชีวิตประจำวันตามโปรแกรมที่ไว้ ไม่สุงสิงกับคนอื่น ห่างไกลจากธรรมชาติและสังคมมากขึ้น
การใช้ชีวิตแบบตั้งโปรแกรมไว้ส่งผลทำให้ เจนเนอเรชันอัลฟ่านั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้สึกและคุณธรรม พวกเขาไม่จำเป็นต้องอดทน หรือรอคอยอะไร ไม่ต้องรู้สึกผิดหวัง หรือเสียใจกับเรื่องอะไร แม้เรื่องนั้นตัวเองจะเป็นคนผิดก็ตาม
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร