ปัจจุบันมีการนำเสนอรูปแบบของการทดลองวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ และสนุกสนานสำหรับนักเรียนเกิดขึ้นอย่างมากมาย และหลายกิจกรรมก็สามารถหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทดลองได้ไม่ยุ่งยากและหาได้ง่ายในครัวเรือน ทำให้สามารถดำเนินการทดลองได้ด้วยตัวเองที่บ้าน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผู้ปกครองจะชวนนักเรียนทำกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์สนุก ๆ ในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านเช่นนี้
ต่อไปนี้คือกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์แบบง่าย ๆ ที่น่าจะเป็นไอเดียให้ผู้ปกครองนำไปจัดกิจกรรมกับนักเรียนในระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาได้ และอาจต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้ตามแนวทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย
นำไข่ไก่ไปแช่ไว้ในน้ำส้มสายชูประมาณ 2 วัน ทำให้เปลี่ยนจากไข่ไก่ธรรมดา กลายเป็นไข่นิ่ม ๆ ที่เด้งได้เหมือนลูกบอล ซึ่งที่เป็นแบบนี้เป็นผลจากการที่กรดของน้ำส้มสายชูนั้นเข้าไปทำปฏิกิริยากับแคลเซียมที่มีอยู่ในเปลือกไข่ทำให้เกิดฟองอากาศที่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ไปจับตัวอยู่รอบเปลือกไข่ทำให้เปลือกไข่ถูกกัดกร่อน และในขณะเดียวกันกรดในน้ำส้มสายชูก็ได้ซึมเข้าไปทำปฏิกิริยากับโปรตีนที่อยู่ในไข่ขาว จนแปรสภาพโปรตีนเหล่านั้นให้มีคุณสมบัติเหมือนยาง ซึ่งส่งผลให้ทำให้ไข่ไก่กลายเป็นไข่ที่เด้งดึ๋งได้นั่นเอง
นำเม็ดลูกอมเมนทอลประมาณ 4-5 เม็ดใส่ลงในขวดน้ำอัดลมที่เปิดใหม่ ๆ เราจะพบกับปฏิกิริยาที่เกิดฟองจำนวนมหาศาลพุ่งออกมาจากขวด คล้ายกับการเขย่าขวดน้ำอัดลมก่อนที่จะเปิด ซึ่งการที่เป็นเช่นนี้ เพราะผลจากลูกอมเมนทอลนั้นที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือมีผิวที่ขรุขระและมีรูเล็ก ๆ จำนวนมาก ทำให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นฟองเล็ก ๆ เข้าไปอยู่ตามรูต่าง ๆ และถูกเร่งให้หลุดออกกจากสารละลายอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ฟองจำนวนมากพุ่งออกมาจากปากขวดได้
อย่างไรก็ดีการดำเนินกิจกรรมนี้ จะต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะปฏิกิริยาระหว่างน้ำอัดลมกับลูกอมเมนทอลนั้นค่อนข้างรุนแรง จึงควรเป็นกิจกรรมที่ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่
เทนมสดลงในจานใบเล็ก ๆ ให้พอท่วมก้นจาน หยดสีลงไปสักสองสามหยด จากนั้นจึงสำลีพันก้านไปชุบน้ำยาล้างจาน แล้วจึงนำไปจุ่มลงบริเวณที่หยดสีไว้ เราจะเห็นการกระจายตัวและการวิ่งของของสีอย่างสวยงาม ซึ่งการทดลองนี้ เป็นผลมาจากคุณสมบัติของน้ำยาล้างจานที่ทำหน้าที่ละลายไขมันที่มีอยู่ในน้ำนม ส่วนการที่เราหยดสีลงไปนั้น คือช่วยให้เราเห็นการละลายของไขมันในน้ำนมได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง
นำไม้ขีดไปวางไว้บนกระดาษในบริเวณกลางแจ้ง จากนั้นใช้แว่นขยายรวมแสงจากดวงอาทิตย์ไปจ่อไว้ที่หัวไม้ขีด สักพักจะมีไฟลุกขึ้นจากหัวไม้ขีดได้เอง โดยไม่ต้องไปจับต้อง ซึ่งการที่เป็นเช่นนี้ เพราะแว่นขยายนั้นทำหน้าที่ในการรวมแสงและทำให้เกิดปริมาตรความร้อนจนสามารถจุดไม้ขีดให้ติดได้
เนื่องด้วยกิจกรรมนี้ จะต้องทำกลางแจ้งและเกี่ยวข้องกับไฟ ดังนั้นจึงความดำเนินการอย่างระมัดระวัง และอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ ซึ่งปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
กิจกรรมนี้ เราจะใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำและมัดถุงให้เรียบร้อย จากนั้นเราจะใช้ดินสอแทงถุงที่ใส่น้ำนั้น โดยจะต้องแทงจากด้านหนึ่งให้ไปทะลุอีกด้านหนึ่งในครั้งเดียว ซึ่งจะพบว่าน้ำนั้นไม่รั่วออกมาเลย การที่เป็นเช่นนั้นเพราะแรงตึงผิวของน้ำที่ช่วยประสานรอยรั่วรอบดินสอไว้ไม่ให้น้ำไหลออกมาได้นั่นเอง
ใช้แก้วพลาสติกผูกเชือกให้ยาวสัก 60 เซนติเมตร โดยต้องผูกเชือกให้แก้วตั้งตรง จากนั้นเติมน้ำลงในแก้วประมาณครึ่งแก้ว แล้วลองเหวี่ยงแก้วน้ำนั้นเป็นวงกลมด้วยความเร็ว จะพบว่าน้ำนั่นไม่หกออกจากแก้วเลย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเหวี่ยงแก้วน้ำนั้นทำให้เกิดแรงเหวี่ยงจากจุดศูนย์กลางไปตามแนวรัศมี และจะมากขึ้นเมื่อเราเหวี่ยงแก้วน้ำนั้นเร็วขึ้น ซึ่งแรงเหวี่ยงนี้เองทำให้แรงดึงดูดที่จะทำให้น้ำหกนั้นไม่มีผลชั่วขณะ แต่เมื่อไหร่ที่เราเหวี่ยงช้าลง จนถึงระดับหนึ่งแรงดึงดูดก็จะทำให้น้ำหกได้ในที่สุด
นำน้ำส้มสายชูใส่ในขวดประมาณ 1 ใน 4 ของขวด เติมผงฟู หรือที่เรียกว่า เบกกิ้งโซดา (Baking Soda) 1 ช้อนโต๊ะลงในลูกโป่ง ก่อนที่จะนำปากลูกโป่งไปครอบไว้กับปากขวด และรัดด้วยหนังยางให้แน่น ทันทีที่ยกลูกโป่งในส่วนที่ใส่ผงฟูไว้ขึ้น ผงฟูจะหล่นลงไปในขวดและทำให้เกิดก๊าสคอร์บอนไดออกไซด์ และทำให้ลูกโป่งขยายขึ้น คล้าย ๆ การเป่าลมเข้าในลูกโป่งนั่นเอง
เตรียมแก้วใสใบเล็ก 4-5 ใบวางเรียงเป็นแถว ใส่น้ำที่ผสมสีผสมอาหารลงไปแก้ว แก้วละ 1 สี จากนั้น นำกระดาษทิชชู่ที่ม้วนทำเป็นสะพานไปใส่ไว้ระหว่างแก้วสองใบ โดยวางเรียงต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ จนครบ และเมื่อเวลาผ่านไป เราจะพบว่าน้ำจะซึมขึ้นมาตามม้วนกระดาษทิชชู่ที่ได้วางไว้ แล้วไปผสมกันจนเกิดลวดลายที่สวยงาม ซึ่งเป็นผลมาจากคุณสมบัติการซึมผ่านของน้ำในกระดาษทิชชู่ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของน้ำดังกล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงกิจกรรมการทดลองบางส่วนเท่านั้น ที่ผู้เขียนเอามานำเสนอให้กับผู้อ่าน ซึ่งยังคงมีกิจกรรมการทดลองสนุก ๆ อีกมากมาย ที่ผู้ปกครอง รวมถึงครูผู้สอนสามารถนำไปทดลองร่วมกับนักเรียนได้ ซึ่งสามารถหาได้ตามแหล่งการเรียนรู้ในอินเตอร์เน็ต หรือ จากหนังสือเกี่ยวกับการทดลองสำหรับเด็กต่าง ๆ
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร