การส่งเสริมการศึกษาตามนโยบาย Thailand 4.0 นั้น จะเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการศึกษา โดยเน้นให้ผู้เรียนเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน และสามารถทำงานเป็นทีมได้ ซึ่งรูปแบบของการศึกษานั้น จะไม่ได้ถูกจำกัดแค่ภายในห้องเรียนอีกต่อไป เพราะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมการศึกษาสำหรับส่งเสริมการศึกษาแบบไร้พรมแดน และช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากที่ใดก็ได้ โดยไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน
ตลอดมาการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการศึกษาจากเดิมมาสู่ยุค Thailand 4.0 นั้น จะเป็นในลักษณะของการค่อยเป็นค่อยไป เพราะด้วยข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีของแต่ละบุคคลที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก ทำให้เรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการศึกษานั้น ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เร็วเท่าที่ควร
แต่หลังจากเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 จนส่งผลให้การศึกษาภายในประเทศ หรือแม้แต่ทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ทำให้เรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนการศึกษานั้นจึงได้รับการกล่าวถึง และกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ทุกประเทศไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยต่างให้ความสำคัญและมองว่าเป็นทางออกของการศึกษาท่ามกลางวิกฤตการระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด
ซึ่งจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 นี้เอง ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการศึกษา หรือที่เรียกกันว่า Edtech นั้นเติบโตและกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก ด้วยเพราะเมื่อการศึกษาในรูปแบบปกตินั้นจำเป็นต้องปิดชั่วคราวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด แต่การเรียนรู้ของผู้เรียนนั้นกลับรอช้าไม่ได้ ทำให้ผู้เรียนต้องหันไปใช้บริการเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่สนับสนุนการศึกษาแบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองได้จากที่บ้าน และทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนมีความต่อเนื่อง
Edtech นั้นคือคำที่เกิดจากการผสมคำสองคำคือคำว่า Education ที่แปลว่า การศึกษา และคำว่า Technology (เทคโนโลยี) ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่าเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งในปัจจุบัน ทุกประเทศทั่วโลกมีการตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่ง Edtech นั้นไม่ใช่เพียงแค่การส่งเสริมการศึกษาสำหรับผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับครูผู้สอนยุคใหม่ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงตลาดของการศึกษาผู้ใหญ่ ที่ต้องการพัฒนาทักษะตัวเองให้เกิดความเชี่ยวชาญหรือชำนาญมากขึ้นได้อีกด้วย จึงนับได้ว่าธุรกิจ Edtech นั้นเป็นธุรกิจที่มีอนาคตและน่าจับตามองอย่างมากในการลงทุน
สำหรับเทรนด์ของการศึกษาในปัจจุบันที่เริ่มมีธุรกิจ Edtech ที่สนใจเข้าไปทำตลาดมีดังนี้
ในปัจจุบันการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า Big data นั้นมีบทบาทความสำคัญมากต่อการดำเนินของหน่วยงานในปัจจุบัน ซึ่งโรงเรียนนับเป็นสถานที่หนึ่งที่ต้องจัดการกับข้อมูลของผู้เรียนที่มีจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีตัวช่วยในการประมวลผลข้อมูล เพื่อหาแนวทางในการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียนและสอดคล้องกับตลาดแรงงานได้มากขึ้น ซึ่ง Edtech ได้เข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ และช่วยให้การดำเนินงานของโรงเรียนรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนสามารถเข้าถึงง่าย และอยู่ในมือของผู้เรียน ทุกการสร้างหลักสูตรที่เป็นดิจิทัลสำหรับผู้เรียนผ่านแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่เกินตัวอีกต่อไป แต่กลับเป็นเรื่องที่จำเป็น และมีความต้องการสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการสร้าง Learning Management Systems : LMS นั้น นับเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรูปแบบการเรียนรู้ตามปกติ
เทคโนโลยี VR และ AR นั้นนับเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่สามารถช่วยส่งเสริมการศึกษาให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นได้โดย AR (Augmented Reality) นั้น คือการนำวัตถุ 3 มิติ มาจำลองเข้าสู่โลกความจริง เช่นการนำภาพ 3 มิติฉายลงบนภาพอาคารสถานที่ เป็นต้น ในขณะที่ VR (Virtual Reality) เป็นการจำลองสถานที่เสมือนจริงแบบ 360 องศา โดยเราสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกเสมือนนั้นได้ ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน VR นั้น กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในการพัฒนาเกมแบบ 3 มิติ ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นเข้าไปมีส่วนร่วมในเกมและได้รับอรรถรสในการเล่นมากขึ้น และถ้านำเทคโนโลยีทั้งสองส่วนนี้มาใช้ส่งเสริมการศึกษา ก็จะช่วยให้การเรียนรู้มีความน่าสนใจและเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน
ห้องเรียนในปัจจุบัน มีความหลากหลายและซับซ้อนของผู้เรียนค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นความลำบากมากของครูผู้สอนในการจัดการกับเอกสารต่าง ๆ ของนักเรียนอย่างเรียบร้อยและไม่สูญหาย ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ โดยการจัดทำเป็นแอปพลิเคชันสำหรับครูผู้สอน จะทำให้ครูผู้สอนสามารถมีเวลาว่างจากงานเอกสารต่าง ๆ และทำให้มีเวลาใส่ใจผู้เรียนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่า Edtech จะเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง แต่ในมุมมองของนักลงทุนนั้นกลับมาความเห็นในสองลักษณะ
ความเห็นแรก นักลงทุนนั้นมองว่า Edtech นั้นไม่ได้เป็นธุรกิจที่ไม่ได้เหมาะสมกับนักลงทุนทุกคนและเป็นธุรกิจไอทีที่ไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับอีคอมเมิร์ซ หรือ FinTech ที่เป็นเทคโนโลยีทางการเงิน นอกจากนี้ด้วยอุตสาหกรรมด้านการศึกษานั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงได้ยาก ทำให้การลงทุนเกี่ยวกับ Edtech นั้น อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะคืนทุนหรือให้ผลกำไร
ส่วนอีกความเห็นหนึ่ง มองว่าการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับ Edtech นั้นเป็นโอกาสดีและเป็นโอกาสที่สำคัญ เพราะด้วยการที่ตลาด Edtech นั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่กลับยังมีคู่แข่งทางการตลาดที่น้อย ทำให้มีช่องว่างในส่วนแบ่งการตลาดที่สามารถแข่งขันและทำกำไรได้อยู่มาก
สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Edtech นั้นยังมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับทั่วโลก เพราะมีเพียง Startup ไม่กี่รายที่ดำเนินการ เช่น TaamKru ที่เป็นแอปพลิเคชันเพื่อพัฒนาการของเด็ก จากโครงการ True Incube หรือ SkillLane ที่เป็นแหล่งรวมคอร์สเรียนออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ Edtech ในประเทศไทยนั้นค่อนข้างน้อย แต่ก็มีอัตราที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี อีกทั้งยังมีโปรเจกต์แอปพลิเคชันเพื่อการศึกษา ซึ่งมีการจัดทำออกมาอย่างมากมายในทุกปีอีกด้วย ซึ่งถ้าโปรเจกต์เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ก็อาจนำมาสู่ Startup หน้าใหม่ในวงการ Edtech และนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Edtech ในอนาคตก็เป็นได้
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร