หลายครั้งที่การสร้างแรงจูงใจที่มีประสิทธิภาพ อาจจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการจูงใจนักเรียนด้วยรางวัลที่เป็นสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งการสร้างแรงจูงใจในลักษณะนี้ นับเป็นภาระที่มากเกินความจำเป็น เพราะโรงเรียนบางแห่งอาจไม่มีงบประมาณมากพอในการสนับสนุนครูผู้สอนในเรื่องดังกล่าว ครั้นจะให้ตัวครูผู้สอนเป็นผู้จัดการเอง ก็ดูจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่แหตุ นอกจากนี้วิธีการสร้างแรงจูงใจในลักษณะนี้ นักการศึกษาต่างมองว่า การให้รางวัลที่มีราคาเพื่อจูงใจนักเรียนนั้น อาจส่งผลดีในครั้งแรกแต่เมื่อเราหยุดให้รางวัล พฤติกรรมของนักเรียนก็กลับมาเหมือนเดิมมากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จึงนับเป็นสิ่งที่ไม่คุณค่าเท่าที่ควร
ไม่จำเป็นที่จะต้องสิ้นเปลืองเงินทองสำหรับการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนปฏิบัติตน เพราะครูผู้สอนสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ที่มีในห้องเรียนหรือในโรงเรียน มาช่วยสร้างแรงจูงใจที่มีประสิทธิภาพให้กับนักเรียนได้ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายน้อยมาก หรือจริง ๆ แล้วก็แทบไม่มีเลย ซึ่งต่อไปนี้คือตัวอย่างของวิธีการสร้างแรงจูงใจด้วยรางวัลจากสิ่งที่มีในโรงเรียน
ไม่ว่าห้องเรียนนั้นจะสร้างเสียงหัวเราะ หรือน่าสนุกแค่ไหน แต่ธรรมชาติของนักเรียน ก็อยากทะยานออกไปนอกห้องเรียนได้ทุกเวลาเมื่อมีโอกาส การให้รางวัลพวกเขาสำหรับการบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ด้วยการเลิกก่อนเวลาปกติสัก 5 ถึง 10 นาที ก็ดูจะเป็นการสร้างแรงจูงใจที่น่าสนใจไม่น้อย
วิธีการนี้ เราอาจจะสลับโดยการเพิ่มเวลาเรียนอีก 5 ถึง 10 นาที สำหรับการลงโทษในพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม การลงโทษนั้นก็คงใช้อย่างระมัดระวัง และต้องมั่นใจว่า การเพิ่มเวลาเรียนนั้น ไม่กระทบกับการเรียนของนักเรียนในรายวิชาอื่น
เราทุกคนต่างชื่นชอบความเป็น VIP (very important person) คือการเป็นบุคคลสำคัญที่มีสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่มากกว่าคนอื่น ซึ่งนักเรียนก็มีความปรารถนาเช่นนั้น การยื่นข้อเสนอว่า เมื่อพวกเขาทำตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้เรียบร้อย แล้วเขาจะได้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น เล่นสมาร์ทโฟน อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือแม้แต่การได้เล่นของเล่นในสนามเด็กเล็ก ระหว่างที่รอนักเรียนคนอื่น ก็นับเป็นแนวทางช่วยให้นักเรียนบรรลุตามเป้าหมาย และมีแนวโน้มที่ปฏิบัติได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การให้สิทธิพิเศษเหล่านี้ จะต้องไม่เป็นการรบกวนหรือดึงความสนใจของนักเรียนคนอื่นที่ยังคงทำงานอยู่ เพราะแทนที่จะเป็นแรงจูงใจ มันอาจจะรบกวนชั้นเรียนจนส่งผลให้มีนักเรียนบางคนทำงานไม่เสร็จเลยก็เป็นได้
สำหรับวิธีการนี้ ครูผู้สอนอาจต้องเสียสละเวลาในการสอนสักประมาณ 10 - 15 นาที เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ได้รับรางวัลจากการปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ถูกต้องและรวดเร็วที่สุดเพียงหนึ่งคน ได้สิทธิในการเลือกภาพยนตร์หรือการ์ตูนเรื่องโปรด สำหรับเปิดให้ทุกคนในชั้นเรียนได้รับชม ก่อนที่จะเลิกเรียน ซึ่งครูผู้สอนอาจจะเปิดจากคลิปวีดีโอที่สืบค้นได้จากในอินเตอร์เน็ต หรือแผ่นดีวีดีที่มีก็ได้
อย่าลืมว่า ถ้าเราใช้แผ่นดีวีดีในการเปิด นักเรียนจะต้องเลือกจากแผ่นที่เรามี หรือ อาจให้นักเรียนนำแผ่นที่อยากดูมาเองก็ได้ และวิธีนี้จะเริ่มได้ต่อเมื่อทุกคนในชั้นเรียนปฏิัติตามเป้าหมายเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
การชมเชยถือเป็นพื้นฐานในการเสริมแรง ที่ครูผู้สอนสามารถใช้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพอย่างมากกับนักเรียน เพราะทุกคนต่างต้องการการยอมรับ การที่คุณครูกล่าวชมเชยนักเรียนจากใจจริง หลังจากที่นักเรียนปฏิบัติหรือพยายามปฏิบัติตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ จะทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีมากยิ่งขึ้นได้ ซึ่งครูผู้สอนอาจพัฒนาการชมเชยที่เป็นนามธรรม ไปสู่การชมเชยที่เป็นรูปแบบ เช่น การทำทำเนียบคนเก่ง โดยการเลือกเด็กที่ปฏิบัติตนได้ดีมาติดป้ายในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ หรืออาจจัดทำประกาศนียบัตรเพื่อเชิดชูนักเรียนรายบุคคลเป็นการเฉพาะ เป็นต้น
การชมเชยที่ดีนั้น จะต้องทำด้วยความจริงใจ และไม่มากจนเกินไป และต้องสมดุลกับนักเรียนทุกคนในชั้นเรียน ไม่ควรชมใครมากเกินไปจนออกหน้าออกตา หรือ ตกหล่นใครไป เพราะจะทำให้การชมเชยนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการส่งเสริมนักเรียน
การร่วมโต๊ะอาหาร ถือเป็นการแสดงการยอมรับอย่างหนึ่ง ที่อาจจะยากหน่อยในระบบการศึกษาไทยที่ยังคงมองเรื่องอาวุโสกันอยู่ แต่ถ้าตัดเรื่องธรรมเนียมของความอาวุโสออกไป การให้สิทธินักเรียนที่ปฏิบัติตนได้บรรลุเป้าหมาย ได้สิทธิในการร่วมโต๊ะทานอาหารร่วมกับครูผู้สอน ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจให้นักเรียนไม่น้อย เพราะเป้าหมายของการรับประทานอาหารร่วมกัน อาจไม่ใช่แค่การทานอาหาร แต่เป็นการได้มีโอกาสพูดคุยกันในบรรยากาศที่สบาย ๆ นั่นเอง
เราอาจพัฒนาวิธีการนี้ ไปในระดับที่ใหญ่กว่า โดยโรงเรียนอาจจัดให้มีการเลือกนักเรียนที่ปฏิบัตตัวดีได้ร่วมโต๊ะอาหารกับผู้อำนวยการโรงเรียน หรือในโอกาสพิเศษ เช่น เชิญวิทยากรจากภายนอกมาที่โรงเรียน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่ดีและน่าประทับใจ
ข้อควรระวังอย่างหนึ่งของการให้รางวัลด้วยวิธีนี้ คือความโปร่งใสและไม่มีลับลมคมใน การให้นักเรียนร่วมรับประทานอาหารจะต้องไม่ไปยังที่ลับตา และควรจะมีนักเรียนร่วมด้วยหลาย ๆ คน ไม่ควรจะไปทานอาหารกับนักเรียนสองต่อสอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องชู้สาวที่อาจเกิดขึ้นได้
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร