ถอดบทเรียนยุทธศาสตร์ เครือซีพี กับการเข้าร่วมผลักดัน UNGC
วิชา : 01132451 ธุรกิจระหว่างประเทศ International Business
UNGC ก้าวแรกสู่ความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์
United Nations Global Compact (UNGC) เป็นเครือข่ายความยั่งยืนที่อยู่ภายใต้องค์กรสหประชาชาติมีเป้าหมายในการกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาใช้นโยบายในการดำเนินกิจการซึ่งมีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ครอบคลุม 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต ปัจจุบันมีสมาชิกจากบริษัทเอกชนกว่า 9,900 บริษัท จาก 159 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ตอนนี้มีถึง 35 บริษัท และ 1 ในนั้นคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ได้ประกาศความมุ่งมั่นในการนำองค์กรก้าวสู่ 2 เป้าหมายใหญ่ คือ 1. ด้านเศรษฐกิจ ด้วยการนำองค์กรเติบโตทางธุรกิจสู่การเป็น Thai Global Company และ 2. ด้านความยั่งยืน ด้วยการนำองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน โดยต้องเป็นบริษัทแถวหน้าของโลกในด้านความยั่งยืนให้ได้ภายใน 10 ปี นอกจากนี้ยังเป็นแกนนำในการก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT) เมื่อปี 2560 โดยมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งในไทย 15 บริษัท จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 บริษัท ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์สามารถปักธงความยั่งยืน นำธุรกิจก้าวผ่านเป้าหมายความยั่งยืน 2020 ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และประกาศเป้าหมายความยั่งยืน 2030 เป็นก้าวต่อไปด้วยความท้าทาย ปัจจุบันคุณศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นนายกคนสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงตามหลักการสากลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ(UN Global Compact) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติทั้ง 17 ประการ (SDGs) โดยในปี 2559 ได้จัดตั้งหน่วยงานความยั่งยืนขึ้นมาเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ “สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร” มีการตั้งคณะกรรมการด้านบรรษัทภิบาล เครือฯ การประกาศนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน การประกาศยุทธศาสตร์ความยั่งยืนและเป้าหมายสู่ปี 2563 รวมถึงการประกาศนโยบายเกี่ยวกับความยั่งยืนอีกหลายนโยบาย อาทิ นโยบายด้านบรรษัทภิบาล เป็นต้น
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT) ยังได้รับรองแผนงาน 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างความตระหนักรู้ ผ่านการจัดทำรายงานดัชนีชี้ด้านความยั่งยืนของประเทศไทยสำหรับภาคธุรกิจ เพื่อเป็นตัวชี้วัดและข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนสำหรับองค์กรภาคธุรกิจ ซึ่งยังมีองค์กรอีกมากมายที่ต้องการเห็นตัวอย่างของความสำเร็จ และถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีขององค์กรสมาชิกอีกด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การนำกลไกตลาดเข้ามาช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืน ผนึกความร่วมมือของภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อสร้างและแบ่งปันองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนของแต่ละองค์กรผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ประการ อาทิ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และเปิดโอกาสให้องค์กรสมาชิก ได้พบปะแลกเปลี่ยนและหารือเรื่องความร่วมมือในการดำเนินงานต่าง ๆ หมุนเวียนตามแต่ละเป้าหมาย เพื่อช่วยยกระดับไปสู่การเป็นเครือข่ายสำหรับการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับความรู้ใหม่ ๆ และทิศทางของโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างผู้นำยุคใหม่ในทุกระดับขององค์กร ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง จนถึงผู้นำรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ขององค์กรควบคู่ไปกับความยั่งยืน ซึ่งโกลบอลคอมแพ็กจะเป็นแพลตฟอร์มที่ดีในการสร้างผู้นำยุคใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน รวมทั้งการจัดทำรายงานประจำปีด้านความยั่งยืน ภายใต้หลักสากล 10 ประการของ United Nations Global Compact หรือ UNGC และขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ภายใต้เป้าหมายหลัก 4 ด้านของโกลบอลคอมแพ็ก คือ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การยกย่องบุคคลที่ทำงานด้านความยั่งยืน เพื่อเป็นตัวอย่าง สร้างแรงจูงใจ และเพิ่มพลังให้ผู้ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อน SDGs เปิดโอกาสให้ผู้ทำงานด้านความยั่งยืนของแต่ละองค์กรสามารถนำเสนอทางออกในการแก้ไขประเด็นสังคมด้านต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งนำเสนอผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อยกย่องผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในงาน “SDGs Pioneer” ซึ่งจะจัดขึ้นในต้นปี 2564
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกและการลดทอนให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) การนำเสนอเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น (Technology Disruption) แนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) การลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาผ่านสื่อดิจิทัล การสร้างเครือข่ายสังคมสตาร์ทอัพ (Social Startup Network)
แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์เครือซีพีกับการเข้าร่วมผลักดัน UNGC
1. ทฤษฎีการพัฒนาที่เน้นความความยั่งยืน (Sustainable Development)
เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินธุรกิจอยู่บนเส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน มาตั้งแต่ก่อกำเนิดองค์กร โดยมี “ค่านิยม 3 ประโยชน์” เป็นหลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ที่มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคมเป็นหลัก ประกอบกับระบบบริหารจัดการที่เรียกว่า “ซีพีสู่ความเป็นเลิศ หรือ CP Excellence” บนพื้นฐานของธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเคร่งครัดต่อมาตรฐานของกฎระเบียบข้อบังคับของทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยเครือฯ มีการทบทวนและปรับปรุงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความสอดคล้องและความเป็นปัจจุบันของยุทธศาสตร์ฯ ส่งผลให้บริษัทหลักและเครือฯ ได้รับการยอมรับโดยองค์กรจัดอันดับด้านความยั่งยืนระดับโลก เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), FTSE4Good, และ Morgan Stanley Capital International (MSCI) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติสำคัญที่เครือฯ สามารถเข้าร่วมผลักดันกิจกรรมสำคัญระดับโลกอย่าง UNGC ได้
2. ทฤษฎีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Theory)
เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความสำคัญต่อการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือฯ และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยประยุกต์ใช้หลักการของมาตรฐาน AA10000 เป็นกรอบการดำเนินงานด้านการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังพร้อมทั้งสร้างคุณค่าให้ผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน ดังนั้น การปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงต้องเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ ซีพีเอฟ ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก ยังได้ร่วมมือกับองค์กรทั้งระดับประเทศ และระดับโลก เช่น Seafood Task Force และ Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS) เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และปกป้องสิทธิของชาวประมง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ แรงงานทาส และแรงงานบังคับ
3. แนวคิดภาวะผู้นำที่ยั่งยืน (Sustainable Leadership)
ในช่วงเวลาที่การดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจและไม่เข้าใจ การผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงนับเป็นเรื่องยาก ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในองค์กร อีกทั้งยังส่งผลอย่างมากต่อการพาองค์กรไปสู่สถานการณ์ใหม่ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กร จึงต้องอาศัยภาวะผู้นำของบุคคลสำคัญที่ต้องมีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและบรรลุเป้าหมายได้อย่างราบรื่น โดยบุคลลนั้นต้องมีคุณสมบัติของผู้นำ ทั้งด้านบุคลิกภาพ แรงจูงใจ ความรู้ความสามารถ ที่สำคัญต้องตระหนักรู้ถึงความจำเป็นและความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคุณศุภชัยได้แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของผู้นำที่ยั่งยืนตามแนวคิดของ Andy Hargreaves อย่างชัดเจน พิสูจน์ได้จากการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายประการได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาอันสั้น
เคล็ดที่ไม่ลับสำหรับการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน
จากการสำรวจของ UNGC พบว่า เหตุผล 3 อันดับแรกของบริษัทที่เข้าร่วม UNGC มีดังนี้ 80% เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือแก่บริษัท 59% เพราะเป็นหลักปฏิบัติสากล 58% ช่วยให้เกิดการลงมือปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนภายในบริษัท และเมื่อเข้าร่วมการเป็นสมาชิก UNGC แล้วจะบริษัทต้องรับหลักการของ UNGC เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์และวัฒนธรรมองค์กร และควรพิจารณาประเด็นเหล่านี้เพื่อเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน
หัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจในอนาคต
จัดทำโดย
ศุภนิช บุญประคำ
สรรควร สัตยมงคล
ศศิเพ็ญ ไตรโสภณ
----------------------------
ที่มา: businessmodelcasestudy