ภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐานสากลที่สามารถสื่อสารกับคนทั้งโลก ไม่ว่าประเทศนั้นจะใช้หรือไม่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารทั่วไป แต่คนส่วนใหญ่ต่างก็เข้าใจและสื่อสารกันโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ทำให้ผู้ที่มีทักษะทางภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะในระดับของการสื่อสารที่ดี จึงนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีโอกาสที่ดีและสังคมที่กว้างกว่าคนที่ขาดทักษะตรงส่วนนี้ไป ด้วยเหตุนี้เอง การเรียนการสอนภาษาอังกฤษจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพราะส่งผลต่อคุณภาพประชากร ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่กลับพบว่า ระดับการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยนั้นตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของ EF English Proficiency Index ประจำปี ค.ศ. 2019 ซึ่เป็นการจัดอันดับทักษะด้านภาษาอังกฤษจากกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักหรือภาษาราชการ โดยพบว่าในปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทย อยู่ในอันดับที่ 74 จากทั้งหมด100 ประเทศ โดยมีผลคะแนนรวมอยู่ที่ร้อยละ 47.62 ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก (very low proficiency) และเป็นระดับที่ตกลงอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทยที่อาจจะถึงเวลาที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บริติช เคานซิล สถาบันทางวัฒนธรรมที่ส่งเสริมด้านภาษาอังกฤษ ได้มีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้ภาษาอังกฤษของประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยได้ระบุว่า ค่าเฉลี่ยทักษะภาษาอังกฤษของครูภาษาอังกฤษคนไทยระดับชั้นประถม-มัธยมศึกษา มีมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ โดยอยู่ในระดับ A2 หรือต่ำกว่า ในการทดสอบ EF SET ซึ่งเป็นการทดสอบตามกรอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป” หรือ CEFR (Common European Framework of Reference) ซึ่ง CEFR ได้แบ่งความเชี่ยวชาญด้านภาษาออกเป็น 6 ระดับ คือ
A1 (Beginner) ค่า EF SET ระหว่าง 1-40 สามารถสื่อสารอย่างง่ายสำหรับแค่การท่องเที่ยว
A2 (Elementary) ค่า EF SET ระหว่าง 31-40 สามารถสื่อสารอย่างง่ายสำหรับการท่องเที่ยวและการเข้าสังคมกับผู้ใช้ภาษาอังกฤษเพียงเล็กน้อย
B1 (Intermediate) ค่า EF SET ระหว่าง 41-50 สามารถสื่อสารกับผู้ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างไม่เป็นทางการ
B2 (Upper Intermediate) ค่า EF SET ระหว่าง 51-60 สามารถสื่อสารกับผู้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ
C1 (Advanced) ค่า EF SET ระหว่าง 61-70 สามารถสื่อสารกับผู้ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงานและในเชิงวิชาการได้อย่างเต็มที่
C2 (Proficient) ค่า EF SET ระหว่าง 71-100 สามารถสื่อสารในระดับเจ้าของภาษา
ซึ่งการที่ค่าเฉลี่ยทักษะภาษาอังกฤษของครูภาษาอังกฤษคนไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ A2 นั้น หมายความว่าครูไทยใช้ภาษาอังกฤษได้แค่ระดับเริ่มต้นเท่านั้น
จากผลการรายงานนี้ ทำให้ แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย ได้สรุปถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเรียนภาษาอังกฤษของประเทศไทยออกเป็น 4 ประเด็นคือ
ซึ่งจากรายงานที่พบว่า มีครูภาษาอังกฤษคนไทยทั้งที่เป็นครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ถึงกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ที่มีค่าเฉลี่ยทักษะภาษาอังกฤษในการทดสอบ EF SET อยู่ที่ A2 ซึ่งเป็นระดับแค่เพียงการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างง่ายเท่านั้น เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นสำหรับครูผู้สอน ซึ่งหมายความว่าทักษะของครูผู้สอนภาษาอังกฤษนั้นไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ปัญหาทักษะการใช้ภาษาในภาพรวมของประเทศนั้น มีความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ โรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษา ได้ดีกว่า โรงเรียนเล็ก ๆ ในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากคุณภาพบุคลากร งบประมาณ และการจัดการต่าง ๆ
การสอนภาษาอังกฤษในประเทศ โดยเฉพาะกับการเรียนกับครูผู้สอนคนไทย มักจะเน้นหนักไปที่ความถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ การแปล การท่องจำ ซึ่งเป็นผลจากการเรียนเพื่อนำไปสอบวัดระดับมากกว่าที่จะเรียนเพื่อนำไปใช้ ซึ่งการสอนลักษณะนี้ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้เรียนที่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีคุณภาพ และยังสร้างให้ผู้เรียนมีทัศนคติไม่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษอีกด้วย
การวัดผลทักษะทางภาษาของการศึกษาไทยนั้น ยังคงมุ่งเน้นไปที่การใช้ภาษาตามหลักไวยากรณ์ การอ่าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เล้วนแต่ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ที่จะใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นผลทำให้ผู้เรียนไม่สามารถนำภาษาอังกฤษไปใช้ในการสื่อสารได้อย่างที่ควรจะเป็น
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร