Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สอนนักเรียนให้มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

Posted By Plook Teacher | 16 ก.ค. 63
19,409 Views

  Favorite

ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือที่ถูกเรียกชื่อใหม่ว่า Covid-19 นั้นกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างให้ความสนใจและวิตกกังวลกับสถานการณ์ที่ดูจะเลวร้ายลงทุกขณะ เรื่องนี้ถูกกล่าวถึงอย่างมากมายจนกลายเป็นวาระสากลที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญและพยายามที่จะป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นภายในประเทศ แต่ถึงกระนั้น การระบาดก็ยังคงเกิดขึ้น  ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่คนขาดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง

 

สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม คือ การกระทำใด ๆ ก็ตามของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ใส่ใจและคำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบของสังคมส่วนรวม ซึ่งการมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมที่ดีนั้น อาจไม่ได้หมายถึงแค่ การทำประโยชน์เพื่อสังคมเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึง การปฏิบัติตนที่ดี  ใส่ใจดูแลตัวเอง เพื่อไม่เกิดปัญหาหรือเป็นภาระของสังคมอีกด้วย

 

จากข่าวของหญิงสูงวัยที่ติดเชื้อ Covid-19 แต่ปฏิเสธการตรวจรักษา จนนำมาสู่การระบาดเป็นจำนวนในประเทศเกาหลีใต้ สู่ข่าวล่าสุดที่ประเทศไทยของชายสูงอายุที่ติดเชื้อ Covid-19 แต่ปิดบังข้อมูล ทั้ง ๆ ที่เพิ่มเดินทางกลับมาจากญี่ป่น อันเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่กำลังมีการระบาด ซึ่งการปิดบังข้อมูลนี้ ส่งผลกระทบทำให้ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย จำเป็นต้องถูกกักตัวเพื่อตรวจหาเชื้อ รวมถึงบุคคลที่โดยสารในเที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วย แพทย์และพยาบาลที่เข้าตรวจรักษาผู้ป่วย ตลอดจนบุคคลแวดล้อมของผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องพบปะหรือพบเจอกับผู้ป่วย ก็จำเป็นต้องไปรายงานตัวที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยเช่นกัน และจากสถานการณ์ที่น่าตกใจนี้ ผลสุดท้ายทำให้หลานของผู้ป่วยซึ่งเป็นนักเรียนอายุ 8 ขวบ ติดเชื้อ Covid-19 และนำมาสู่การปิดโรงเรียนถึง 14 วัน เพื่อสังเกตอาการของนักเรียนและคุณครูว่าได้มีการรับเชื้อหรือไม่

 

เรื่องนี้นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการขาดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอย่างร้ายแรง จนอาจส่งผลเสียต่อสังคมได้ในวงกว้าง เพราะการปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางในกรณีที่มีการระบาดของเชื้อโรคนั้น  นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องแล้ว ในขณะเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้ามาช่วยเหลือ ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ป่วย และยิ่งกว่านั้น บุคคลอื่น ๆ ที่พบปะผู้ป่วยก็มีความเสี่ยงตามไปด้วย ซึ่งการที่เรารู้ข้อมูลสำคัญนี้ช้ามากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นมากขึ้นเท่านั้น

 

ด้วยเหตุนี้เอง สำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคน ในฐานะที่เป็นสมาชิกในสังคมและเป็นพลเมืองของประเทศจะต้องใส่ใจและตระหนักอยู่ทุกวินาที เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ ยังมีหลายล้านชีวิตที่ต้องใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ร่วมกันกับเรา ลำพังแค่ประเทศไทยประเทศเดียวก็มีประชากรสูงเป็นหลักสิบล้านแล้ว ถ้าทุกคนในประเทศต่างทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่คำนึงถึงสังคมส่วนร่วม ประเทศไทยก็คงไม่สามารถขับเคลื่อนอย่างเหมาะสมไปได้อย่างไร

 

สำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องถูกปลูกฝังตั้งแต่วัยเรียน เพื่อสร้างให้นักเรียนมีทัศนคติที่เหมาะสมต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งการสอนให้นักเรียนมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ครูผู้สอนสามารถส่งเสริมให้ครอบคลุมขอบข่ายหัวข้อดังต่อไปนี้

สอนให้นักเรียนรู้จักช่วยเหลือและดูแลตนเอง เพื่อไม่ให้เป็นภาระหรือส่งผลกระทบต่อสังคม

การส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ช่วยปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียนได้ เพราะการที่นักเรียนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั้น จะทำให้เขามีความกล้าและมีความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น และไม่พยายามทำตัวเป็นภาระที่คอยแต่จะรับการช่วยเหลือจากบุคคลอื่น  ซึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมในจุดนี้ ได้แก่ การให้นักเรียนปฏิบัติเวรดูแลทำความสะอาดหรือการจัดการเรื่องต่าง ๆ ภายในห้องเรียนตามตารางที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น

นอกจากนี้ การดูแลตัวเองก็ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญ ที่ต้องปลูกฝังให้นักเรียนพึงระลึกไว้เสมอ เช่น เวลาที่ตัวเองป่วย มีน้ำมูกหรือมีอาการไอ ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อไม่ตัวเองแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น ซึ่งการรณรงค์ในเรื่องเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ควบคู่กับการทำป้ายนิเทศ จะช่วยให้นักเรียนซึบซับในเรื่องนี้และมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติอย่างเหมาะสม

 

สอนให้นักเรียนรู้จักที่จะคิดใคร่ครวญให้ดีก่อนที่จะลงมือทำหรือแสดงความคิดเห็น

ควรปลูกฝังให้นักเรียนใส่ใจสังคมในการกระทำหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ โดยเตือนใจให้นักเรียนคิดใคร่ครวญก่อนที่จะทำอะไรลงไป เพราะบางครั้งการกระทำหรือแสดงความคิดเห็นอะไรบางอย่างนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมและต่อตัวเองได้ในอนาคต ดังนั้นการกระทำหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ จึงควรเป็นไปเพื่อการส่งเสริมพัฒนามากกว่าที่จะสร้างให้เกิดความหวาดกลัว ตื่นตระหนกหรือแตกแยก การใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียในการปลุกปั่นสร้างความตื่นตระหนักและความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อหวังผลประโยชน์ซ่อนเร้น หรืออาจจะกระทำด้วยความคึกคะนองนั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงการขาดกระบวนการคิดที่ดี แยกแยะผิดถูกรวมถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมไม่ได้ ดังนั้นการสอนให้นักเรียนคิดก่อนที่จะลงมือทำนั้น ต้องเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวจากข่าวสารต่างๆ โดยมีการวิพากษ์ในชั้นเรียน ถึงหัวข้อที่หยิกยกมากล่าวถึง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีวิจารญาณในการแยกแยะถูกผิดและรู้จักเลือกข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม

สอนให้นักเรียนมีจิตสาธารณะและเสียสละเพื่อส่วนร่วม

การมีจิตสาธารณะคือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตสำนึกเพื่อส่วนร่วม เสียสละ มีจิตสำนึก พร้อมร่วมมือร่วมใจในการทำกิจการงานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งการสร้างให้นักเรียนมีจิตสาธารณะและเสียสละเพื่อสังคมนั้น จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นจากความปรารถนาภายจิตใจของนักเรียนเอง ไม่ใช่เป็นการทำเพื่ออามิสสินจ้างหรือรางวัล ซึ่งกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนมีจิตสาธารณะได้นั้นคือ กิจกรรมที่ทำเพื่อสังคมที่ต้องอาศัยความสามัคคีและร่วมมือกัน เช่น การไปร่วมกิจกรรมพัฒนาสิ่งแวดล้อม  การทำกิจกรรมอาสาพัฒนา หรือการร่วมกิจกรรมช่วยเหลือตามหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น

สอนให้นักเรียนเข้าใจถึงฐานะการเป็นสมาชิกในครอบครัว ชุมชน สังคม หรือการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ

ฐานะการเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ชุมชน สังคม รวมถึงการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจให้นักเรียนรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งความเข้าใจตรงจุดนี้จะนำมาสู่ การรู้จักหน้าที่ของตัวเอง  การช่วยเหลือชุมชน การดูแลรักษาธรรมชาติและทรัพยากรในชุมชน ตลอดจน การปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามคำแนะนำทั้งในและต่างประเทศในฐานะพลเมืองที่ดีของประเทศได้ ซึ่งครูผู้สอนสามารถส่งเสริมนักเรียนในหัวข้อนี้ได้ โดยการ ให้สิทธิกับนักเรียนในการมีส่วนร่วมในการดำเนินการหรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ภายในโรงเรียน เช่น การประชุมโรงเรียนระหว่างผู้บริหาร ครูผู้สอน และนักเรียน เพื่อพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง ซึ่งกิจกรรมนี้จะสร้างให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคมมากกว่าที่จะมองตัวเองเป็นแค่ผู้ถูกควบคุม นอกจากนี้ ถ้ากิจกรรมนี้สามารถกระจายสู่ครอบครัว หรือชุมชนได้ ก็จะช่วยให้นักเรียนมีรักต่อครอบครัว ต่อชุมชน และต่อประเทศชาติได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น

สอนให้นักเรียนมีความคิดแบบ โปรแอคทีฟ

การมีความคิดแบบโปรแอคทีฟ คือ การมีความคิดแบบคิดริเริ่ม ไม่จำเป็นต้องรอตอบสนอง ซึ่งความคิดแบบโปรแอคทีฟนี้ นับเป็นกระบวนการคิดที่สำคัญที่ช่วยให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะผู้ที่มีความคิดแบบแบบโปรแอคทีฟ เมื่อพบเจอสิ่งที่ไม่เหมาะสมในสังคม พวกเขาจะไม่รอให้ใครมาสั่งหรือดำเนินการแทน แต่เขาจะหาแนวคิดเพื่อป้องกัน แก้ไขและปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อทั้งตัวเองและสังคม ยกตัวอย่างเช่น หลังจากที่มีข่าวการระบาดของเชื้อ Covid-19 แม้ว่าประเทศไทยยังไม่พบการระบาดภายในประเทศ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ต่างเริ่มใส่หน้ากากอนามัยขณะเดินทาง พกเจลล้างมือ บางคนยกเลิกเที่ยวบินที่บินไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการประกาศอย่างเป็นทางการ  เพื่อไม่ให้ตัวเองเสี่ยงติดเชื้อ ส่วนผู้ที่เดินทางไปแล้ว ก็กลับมาปฏิบัติตามขั้นตอนการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดต่อเนื่องในประเทศ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการคิดแบบ โปรแอคทีฟ

การสอนให้นักเรียนความคิดแบบ โปรแอคทีฟ จะต้องฝึกให้ให้พวกเขารู้จักคิด รู้จักประเมินสถานการณ์ ส่งเสริมให้เขาคิดและทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้มีความกล้าและมีความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ที่ดีตามความคิดริเริ่มได้

 

“เห็นแก่ตัวให้น้อยลง คิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น” คือ ประโยคที่น่าจะแสดงให้เห็นถึงสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างดี ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปลูกฝังให้นักเรียนมีสิ่งนี้เป็นดั่งคติประจำใจ เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่คุณภาพของประเทศ เพราะในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะต้องเจอบททดสอบเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในลักษณะนี้อีกมากมาย ซึ่งเราคงไม่อยากอยู่ร่วมกับคนที่ไร้สำนึกรับผิดชอบอย่างที่ปรากฎในข่าวแบบนี้เป็นแน่...จริงไหมครับ

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow