Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มารู้จักหลักการสอน 9 ขั้นของกาเย่ (Gagne)

Posted By Plook Teacher | 15 ก.ค. 63
93,038 Views

  Favorite

หลักการสอน 9 ขั้นของกาเย่ นับเป็นขั้นตอนการสอนที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง สำหรับการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน และโดยเฉพาะกับการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ ซึ่งช่วยให้บทเรียนออนไลน์มีประสิทธิภาพและเข้าถึงผู้เรียนได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจะทราบถึงขั้นตอนการสอน 9 ขั้นของกาเย่นั้น เราจำเป็นจ้องต้องรู้จัก ทฤษฎีเงื่อนไขการเรียนรู้ (Condition of Learning) กันก่อน

 

โรเบิร์ต กาเย่ (Robert Gagne) เป็นนักปรัชญาและจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกา ผู้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีการสอนที่มีชื่อว่า ทฤษฎีเงื่อนไขการเรียนรู้ (Condition of Learning) ซึ่งเป็นทฤษฎีแบบผสมผสานที่เกิดขึ้นโดยการนำเอาทฤษฎีการเรียนรู้แบบสิ่งเร้าและการตอบสนอง (S-R Theory) กับทฤษฎีความรู้ (Cognitive Field Theory) ในลักษณะของการจัดลำดับการเรียนรู้ ซึ่งการที่กาเย่เลือกที่จะผสมผสานแต่ละทฤษฎีเข้าด้วยกันนั้น เพราะเชื่อว่าไม่มีทฤษฎีใดสามารถอธิบายการเรียนรู้ของบุคคลได้โดยสมบูรณ์

 

ทฤษฎีเงื่อนไขการเรียนรู้ของกาเย่ได้อธิบายถึงองค์ประกอบในการเรียนรู้ที่สำคัญ 3 ส่วน อันได้แก่

หลักการและแนวคิด

ตามทฤษฎีเงื่อนไขการเรียนรู้ของกาเย่นั้นเชื่อว่า ผลการเรียนรู้หรือความสามารถด้านต่าง ๆ ของมนุษย์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น  5 ประเภทคือ ทักษะทางปัญญา (Intellectual skill)  กลวิธีในการเรียนรู้ (Cognitive strategy)   ภาษาหรือคําพูด (verbal information)   ทักษะการเคลื่อนไหว (motor skills) และเจตคติ (attitude)

โดยผลการเรียนรู้ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการข้อมูลในสมองของมนุษย์และอาศัยข้อมูลที่เหล่านั้น สำหรับการพิจารณาในการแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และในขณะที่กระบวนการจัดการภายในสมองกําลังเกิดขึ้น เหตุการณ์ภายนอกร่างกายทั้งหมดต่างมีอิทธิพลต่อการส่งเสริมหรือการยับยั้งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในด้วย

จากข้อเท็จจริงนี้ กาเย่จึงได้เสนอแนะว่า ในการจัดการเรียนการสอนควรมีการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ในแต่ละประเภทและเอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ภายในของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้

 

วัตถุประสงค์

กาเย่เชื่อว่า วัตถุประสงค์การเรียนรู้ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ  ได้อย่างดี รวดเร็ว และสามารถจดจำสิ่งที่เรียนได้นาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนควรที่จะแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ ให้ผู้เรียนทราบก่อนที่จะเริ่มเรียนในบทเรียนนั้น ๆ

 

กระบวนการเรียนการสอน

ในเรื่องของกระบวนการเรียนการสอน กาเย่ได้นำเสนอหลักการสอน 9 ประการ ซึ่งเป็นหลักการสอนที่นำเสนอเนื้อหาและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเน้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอนและบทเรียนซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยสำหรับหลักการสอนทั้ง 9 ประการนั้น มีดังนี้

เร่งเร้าความสนใจ (Gain Attention)

ก่อนนำเข้าสู่บทเรียน ครูผู้สอนควรจูงใจและเร่งเร้าความสนใจให้ผู้เรียนรู้สึกอยากที่จะเรียนรู้ โดยการจัดสภาพแวดล้อมหรือใช้สื่อการเรียนการสอนเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียน

บอกวัตถุประสงค์ (Specify Objective)

ครูผู้สอนจำเป็นต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนทราบถึงความคาดหวังและสิ่งที่ผู้เรียนควรต้องปฏิบัติได้เมื่อจบบทเรียนนี้ ซึ่งการที่ผู้เรียนได้ทราบถึงจุดประสงค์ของบทเรียนล่วงหน้า จะทำให้ผู้เรียนนั้นสามารถมุ่งประเด็นความสนใจไปที่เนื้อหาบทเรียนในส่วนของสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องหรือที่จำเป็นได้ดีกว่า

ทบทวนความรู้เดิม (Activate Prior Knowledge)

การทบทวนความรู้เดิมช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาใหม่ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องทบทวนและทดสอบความรู้เดิมของผู้เรียนก่อนที่จะเริ่มนำเสนอเนื้อหาที่เป็นความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งรูปแบบการทบทวนความรู้เดิมของผู้เรียนนั้น ครูผู้สอนอาจจัดทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การถามตอบ การให้นักเรียนทำข้อสอบ Pre-Test หรือการให้นักเรียนจับกลุ่มแล้วออกมาอภิปรายถึงเนื้อหาที่ได้เรียนมาแล้ว เป็นต้น

นำเสนอเนื้อหาใหม่ (Present New Information)

ครูผู้สอนควรนำเสนอเนื้อหาบทเรียนที่เป็นความรู้ใหม่ผ่านการใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายและเหมาะสมกับตัวผู้เรียน และคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ  เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจที่จะเรียนรู้

ชี้แนะแนวทางการเรียนรู้ (Guide Learning)

ครูผู้สอนจะต้องชี้แนะแนวทางให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ใหม่ไปผสมผสานกับความรู้เดิมที่ผู้เรียนได้เคยเรียนรู้มากแล้ว เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

กระตุ้นการตอบสนองบทเรียน (Elicit Response)

ครูผู้สอนควรจัดการเรียนการสอน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีโอกาสร่วมคิด และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในเนื้อหานั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น

ให้ข้อมูลย้อนกลับ (Provide Feedback)

ครูผู้สอนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งให้ผู้เรียนทราบเป็นระยะว่า ผู้เรียนกำลังเรียนอยู่ในส่วนใดของบทเรียน และห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้เท่าไหร่  ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นความสนใจจากผู้เรียนได้มากขึ้น ถ้าพวกเขาทราบถึงจุดที่เขาอยู่และเป้าหมายชัดเจนที่เขาต้องไปถึง

ทดสอบความรู้ใหม่ (Assess Performance)

เมื่อจบบทเรียน ครูผู้สอนจะต้องมีการทดสอบความรู้ของผู้เรียน (Post-test) เพื่อการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทดสอบความรู้ของตนเอง และในขณะเดียวกันครูผู้สอนจะได้ทราบถึงระดับความรู้ของผู้เรียนในการเรียนรู้บทเรียนนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้ครูผู้สอนสามารถส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนเพิ่มเติมได้อย่างเหมาะสม

สรุปและนำไปใช้(Review and Transfer)

การสรุปและนำไปใช้ จัดว่าเป็นส่วนสำคัญในขั้นตอนสุดท้าย โดยครูผู้สอนจะต้องสรุปบทเรียนเฉพาะประเด็นสำคัญ ๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้ของตนเองหลังจากจบบทเรียนศึกษา และในขณะเดียวกันต้องชี้แนะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องหรือให้ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม   เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาต่อในบทเรียนถัดไปหรือนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นได้

 

ขั้นตอนการสอนของกาเย่นั้น นับเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้การจัดการเรียนสอนนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่นักเทคโนโลยีการศึกษานำมาพิจารณาในการออกแบบบทเรียนออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งรูปแบบการสอนของกาเย่นั้น จะช่วยให้ผู้เรียนสนใจและมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียน ซึ่งส่งผลดีต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อระบบการเรียนการสอนในปัจจุบัน

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow