แต่ก่อน ครูผู้สอนส่วนใหญ่นั้น มักจะวางตัวว่าเป็นผู้ที่เก่ง ฉลาด และรู้แจ้งกว่านักเรียน และพยายามบังคับให้นักเรียนทุกคนต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสอนเหล่านั้น ถ้านักเรียนคนใดไม่ปฏิบัติตามหรือพยายามตั้งแง่กับคำสอน ก็จะถูกมองว่าก้าวร้าว นิสัยไม่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คอยปิดกั้นความคิดและจิตนาการของนักเรียน ทำให้นักเรียนขาดความเชื่อมั่นใจการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ไม่รักที่จะค้นคว้าและแสวงหาความรู้ คอยแต่จะรอผู้อื่นป้อนความรู้ให้
ดังนั้นการที่ครูผู้สอนเลิกคิดว่าตัวเองเก่งกว่านักเรียนนั้น จะเป็นการลดทิฐิและแสดงให้เห็นถึงการยอมรับในตัวนักเรียน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีในการส่งเสริมการเรียนรู้ การเชื่อว่านักเรียนทุกคนเก่งและมีความสามารถ จะทำให้ครูผู้สอนพร้อมที่จะให้โอกาส สนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนานักเรียนให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมของแต่ละคนอย่างเต็มศักยภาพ
ครูผู้สอนยุคใหม่ จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายและกระตุ้นให้นักเรียนได้คิดและแก้ปัญหาอย่างร่วมมือ โดยครูผู้สอนจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้กับนักเรียน โดยมีบทบาททั้งเป็ผู้ร่วมเรียนรู้และเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน
นักเรียนสมัยนี้ ควรต้องเป็นผู้ที่คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น รู้จักแยกแยะและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์และร่วมมือกัน กล้าที่จะริเริ่มทำสิ่งที่เหมาะสม ไม่ผูกติดกับการควบคุมโดยใครคนใดคนหนึ่ง ครูผู้สอนยุคใหม่จึงจำเป็นอำนวยความสะดวกและแนะแนวทางเพื่อให้ผู้เรียนสร้างกระบวนการคิดและองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเองมากกว่าที่จะควบคุมเขาด้วยระบบการสอนแบบเดิม ๆ
ปัจจุบันชุดความรู้หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เรามีหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางครั้งชุดความรู้และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ครูผู้สอนเคยรับรู้หรือเรียนมานั้น อาจเป็นชุดความรู้เก่าที่ปัจจุบันมีงานวิจัยหรือการศึกษาเพิ่มเติมมาโต้แย้งหรือทดแทนแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพื่อให้มีองค์ความรู้ใหม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอยู่เสมอ
ครูผู้สอนที่ยังคงยึดแนวการสอนแบบเดิม ๆ เหมือนในอดีต เช่น ยืนเขียนกระดาน หรือยืนพูดอยู่หน้าชั้นเรียน แล้วมีเด็กนักเรียนนั่งฟังกันอย่างเงียบ ๆ นั้น ไม่ใช่ภาพที่น่าดึงดูดใจ และไม่สามารถจูงใจให้นักเรียนในยุคปัจจุบันหันมาสนใจการเรียนได้ ดังนั้นครูผู้สอนยุคใหม่จึงไม่กลัวและไม่เหนื่อยหน่ายที่จะทดลองรูปแบบการสอนใหม่ ๆ กับนักเรียนของตัวเอง เพื่อให้การเรียนการสอนนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ครูหลายคนมักตั้งแง่กับแนวคิด ทฤษฎี ตลอดจนนโยบายต่าง ๆ เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภาระที่ทำให้ตัวเองต้องทำงานมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่บางครั้งสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับนักเรียน และแต่ตัวครูผู้สอนเอง ดังนั้น แทนที่จะตั้งแง่กับสิ่งเหล่านั้น ลองศึกษาและประยุกต์นำมาใช้ให้เข้ากับบริบทและความเป็นไปได้ในโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวนักเรียน ครูผู้สอน และโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการสนองนโยบายของชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศชาติในภาพรวมอีกด้วย
การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการเรียนการสอน นับเป็นทักษะหนึ่งที่ครูผู้สอนยุคใหม่ควรจะมี เพราะในยุคสมัยปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค หรือคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตประจำวันในยุคสมัยนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นเรื่องของทักษะการใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่อที่สำคัญ นักเรียนทุกคนจึงควรที่จะได้ปลูกฝังการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสมผ่านประสบการณ์เรียนรู้ที่เกิดจากการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน เพื่อให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพบนโลกดิจิทัล
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร