Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

มาทำความรู้จัก จิยู เคงคิว (การค้นคว้าอิสระ)

Posted By Plook Teacher | 19 พ.ค. 63
21,242 Views

  Favorite

ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องของการบ้านช่วงปิดภาคเรียน เรามักจะจินตนาการถึงการทำแบบฝึกหัดจำนวนมากของนักเรียน ซึ่งนักเรียนต้องใช้เวลาตลอดช่วงปิดภาคเรียนนั่งทำจนแล้วเสร็จ เพื่อส่งครูผู้สอนในช่วงเปิดภาคเรียน ซึ่งรูปแบบนี้มักเป็นรูปแบบทั่ว ๆ ไปของการบ้านช่วงปิดภาคเรียนที่ดูไม่แตกต่างอะไรกับการบ้านที่นักเรียนได้รับในช่วงเวลาเรียนปกติเท่าไหร่นัก จะแตกต่างกันก็เพียงปริมาณที่ครูผู้สอนมักจะให้มากกว่าการเรียนปกติเพื่อให้เพียงพอกับวันหยุดในช่วงปิดภาคเรียน

 

ที่กล่าวมาขั้นต้นคือรูปแบบของการบ้านช่วงปิดภาคเรียนที่พบเจอกันเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับที่ประเทศญี่ปุ่น กลับมีรูปแบบของการบ้านช่วงปิดภาคเรียนที่สร้างสรรค์และน่าสนใจมากกว่า ซึ่งเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “จิยู เคงคิว” 自由研究

 

“จิยู เคงคิว” 自由研究 มีความหมายเป็นภาษาไทยว่าการค้นคว้าอิสระ ซึ่งมาจากคำสองคำคือคำว่า jiyuu 自由 ที่แปลว่า อิสระ และ kenkyuu 研究 ที่แปลว่า วิจัยค้นคว้า ซึ่งทุกปีในช่วงปิดภาคเรียนของประเทศญี่ปุ่น นักเรียนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา จะได้รับมอบหมายการบ้านจากครูผู้สอนให้ทำการค้นคว้าอิสระในหัวข้อที่ตัวเองสนใจมาคนละ 1 อย่าง เพื่อนำมาเสนอหรือทำเป็นรายงานส่งในช่วงเปิดภาคเรียน ซึ่งส่วนใหญ่โดยนิยมจัดในช่วงปิดภาคเรียนภาคฤดูร้อน เพราะมีระยะเวลาในการปิดภาคเรียนที่ยาวนาน จึงมีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินการศึกษาค้นคว้าอิสระ

 

จิยู เคงคิว ได้มีการริเริ่มขึ้นมาในประเทศญี่ปุ่น ช่วงปี ค.ศ. 1920 โดยเป็นผลมาจากการปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่ ซึ่งได้รับอิทธิผลมาจากประเทศฝั่งตะวันตก โดยในช่วงแรกนั้น นำมาใช้กับโรงเรียนบางแห่ง ก่อนที่จะเริ่มมีการบังคับใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2003

 

ปัจจุบันกิจกรรมนี้กลายมาเป็นกิจกรรมหลักในช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียนญี่ปุ่น ซึ่งมีหนังสือและเว็บไซต์ที่ส่งเสริมการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นมากมายที่แนะนำแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าอิสระนี้ ซึ่งถ้าค้นหาคำว่า jiyukenkyu ในเว็บไซต์เพื่อการสืบค้นทั่วไป จะพบว่ามีบทความที่นำเสนอในเรื่องนี้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นแนวทางให้นักเรียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อทำกิจกรรมตามความสนใจของตัวเอง

 

การค้นคว้าอิสระ เป็นรูปแบบของการศึกษารูปแบบหนึ่ง ที่กำหนดให้นักเรียนสามารถศึกษา ค้นคว้า และวิจัยในเรื่องที่ตัวเองสนใจได้อย่างอิสระ นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียนตามปกติ โดยครูผู้สอนอาจมีการกำหนดหัวข้อที่เกี่ยวข้องหรืออาจไม่มีการกำหนดก็ได้ ซึ่งในการกำหนดหัวข้อของการค้นคว้าอิสระ ครูผู้สอนอาจให้อิสระเต็มที่กับนักเรียนในการเลือกเรื่องที่สนใจได้เอง หรืออาจจะขอดูเรื่องที่จะทำ เพื่อดูว่าเรื่องนี้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียนหรือไม่ นักเรียนและครูผู้สอนมีความพร้อมหรือไม่ และสอดคล้องกับเนื้อหาที่เป็นจุดมุ่งหมายในการให้นักเรียนเรียนรู้หรือไม่ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นนั้น มักไม่ได้ระบุหัวข้อใดเป็นพิเศษ และมักจะให้นักเรียนคิดเรื่องที่อยากค้นคว้านั้นด้วยตัวเอง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และให้รู้จักลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ

 

การค้นคว้าวิจัยอิสระตามแนวทางจิยูเป็นการบ้านที่เน้นให้นักเรียนเรียนรู้จากสิ่งที่สนใจรอบตัว  เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้กระบวนการศึกษาวิจัยอย่างง่าย ซึ่งมีรูปแบบและแนวทางในการดำเนินการนั้น มีความหลากหลาย โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทดลองวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว เพราะเป้าหมายที่แท้จริงนั้นจะไม่ได้เน้นที่ผลลัพธ์ของการดำเนินการ แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องของกระบวนการในการดำเนินการ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างให้นักเรียนมีทักษะในการหาคำตอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนับเป็นทักษะที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้นกิจกรรมต่าง ๆ จึงเน้นให้นักเรียนสนุกกับกิจกรรมที่สนใจ จึงมีการเปิดกว้างทำนักเรียนสามารถเลือกสิ่งที่อย่างทำได้หลากหลายและสร้างสรรค์มากกว่า ซึ่งรูปแบบของการค้นคว้าอิสระที่หลากหลายนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น

        - การทดลอง 実験jikken เป็นการให้นักเรียนทำการทดลอง เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานของตัวเอง
        - งานประดิษฐ์, งานฝีมือ 工作 : kousaku เป็นการให้นักเรียนสร้างสรรค์งานประดิษฐ์หรืองานฝีมือจากวัสดุต่างๆ ที่นักเรียนสามารถหาได้รอบๆตัว
        - การสังเกตุการณ์, เฝ้าดู 観察 : kansatsu  เป็นกิจกรรมการเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยมีการจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวันเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง
        - การสำรวจ 調査 : chousa เป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนออกไปเดินสำรวจพื้นที่ต่างๆ
        - การเยี่ยมชมโรงงาน 工場見学 : koujou kengaku คือการไปเยี่ยมชมโรงงานต่าง ๆ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่น มีโรงงานหลายแห่งที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าชมเพื่อศึกษา

 

การดำเนินการค้นคว้าวิจัยอิสระตามแนวทางจิยู เคงคิวนั้น  นักเรียนจะต้องเป็นคนเลือกหัวข้อที่จะทำด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากการสังเกตสิ่งรอบ ๆ ตัว ในชีวิตประจำวัน และตั้งข้อสงสัย หรือตั้งคำถามกับสิ่งนั้น เช่น  ทำไม  อย่างไร  เพราะอะไร และ ถ้าทำเช่นนี้จะเป็นอย่างไร เป็นต้น หลังจากนั้นจึงเริ่มวางแผนการทำ กำหนดระยะเวลาในการทำ โดยต้องสอดคล้องกับเวลาปิดภาคเรียน และกำหนดว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในส่วนนี้พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนในการให้คำแนะนำ หรือช่วยเหลือนักเรียนในกรณีที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตราย เช่น การใช้เลื่อย หรือ การใช้สารเคมีต่าง ๆ และสุดท้ายเมื่อได้ผลการศึกษาแล้วนักเรียนจะต้องจดบันทึกและจัดทำเป็นรายงาน เพื่อส่งครูผู้สอน หรืออาจจะต้องนำผลการค้นคว้านั้นไปนำเสนอหน้าห้องเรียน จึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการค้นคว้าวิจัยอิสระ

 

การค้นคว้าอิสระของนักเรียนญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะเน้นให้นักเรียนลงมือทำด้วยตัวเองแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย เพราะการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากพ่อแม่และผู้ปกครองในการดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจ การช่วยเหลือ การให้คำแนะนำ และ การเป็นที่ปรึกษา อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การให้ความร่วมมือของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น จะต้องไม่เป็นการลงไปช่วยนักเรียนทำหรือทำแทนเป็นอันขาด เพราะจะทำให้กิจกรรมนี้ไม่เกิดประโยชน์กับนักเรียนอย่างแท้จริง

 

สำหรับประเทศไทย กิจกรรมการค้นคว้าอิสระ มักไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก และส่วนใหญ่ในช่วงเวลาปิดภาคเรียน โรงเรียนหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ ก็ไม่ค่อยได้ให้การบ้านนักเรียนเท่าไหร่ เพราะมองว่าเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนควรได้พักจากการเรียนและอาจใช้เวลานี้ในการเพิ่มพูนความรู้นอกห้องเรียนโดยไม่เป็นการบังคับ แต่อย่างไรก็ดีในช่วงที่โรงเรียนจำเป็นต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนเนื่องจากการแพร่ระบายของเชื้อโรค Covid-19 การสนับสนุนให้นักเรียนได้ค้นคว้าอิสระในช่วงปิดภาคเรียน ก็ดูจะเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนได้ไม่น้อย

ครูผู้สอนอาจใช้การสื่อสารออนไลน์ในการให้ข้อมูลและสั่งการเกี่ยวกับการให้นักเรียนทำการค้นคว้าอิสระ โดยดำเนินกิจกรรมควบคู่กับการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก ถ้าได้รับความร่วมมือและสามารถดำเนินการได้สำเร็จ

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow