Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การออกแบบหลักสูตร : ความหมาย วัตถุประสงค์ และประเภท

Posted By Plook Teacher | 10 พ.ค. 63
34,505 Views

  Favorite

การออกแบบหลักสูตรนั้นเป็นสิ่งที่ครูผู้สอนจัดทำขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมการศึกษาอย่างเหมาะสมตามวิธีการและแนวทางของตัวครูผู้สอนเอง โดยมีความสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและสภาพความเป็นจริงของผู้เรียน ซึ่งการออกแบบหลักสูตรนั้นเป็นการจัดทำหลักสูตรอย่างเป็นระบบระเบียบแบบแผนสำหรับใช้เป็นธงในการจัดทำแผนการเรียนรู้ เพื่อใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งการออกแบบหลักสูตรที่ดีนั้น จะทำให้การดำเนินการด้านการศึกษาต่าง ๆ =ของครูผู้สอน รวมถึงสถานศึกษา มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

 

การออกแบบหลักสูตรนั้น ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน อันได้แก่

     1. เป้าหมาย จุดหมาย และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร คือสิ่งที่บอกว่าออกแบบหลักสูตรนี้เพื่ออะไร และต้องการให้นักเรียนได้อะไรจากการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้
     2. เนื้อหาสาระ เป็นเนื้อหาที่ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้ ในหลักสูตรนี้
     3. กิจกรรมการเรียนการสอน คือการกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้เนื้อหาสาระ
     4. การประเมินผล คือการกำหนดวิธีการที่ใช้ในการประเมินผลผู้เรียน เมื่อเรียนจบหลักสูตร

 

ซึ่งในการออกแบบหลักสูตรที่ดีนั้น จะต้องมีหลักในการพิจารณา 6 ประการ อันได้แก่

     1. หลักการกำหนดขอบข่ายหลักสูตร หมายถึง การกำหนดเนื้อหา สาระการเรียนรู้ หัวข้อ ประเด็นสำคัญต่าง ๆ ตลอดจน แนวคิด ค่านิยม หรือคุณธรรมที่สำคัญต่าง ๆ สำหรับผู้เรียน ที่จะต้องมี หลังจากเรียนรู้ในรายวิชาต่าง ๆ ของแต่ละระดับ
     2. หลักการจัดลำดับการเรียนรู้ หมายถึง การจัดเรียงลำดับเนื้อหา สาระการเรียนรู้ รวมถึงหัวข้อ ประเด็นที่สำคัญต่าง ๆ สำหรับวัยของผู้เรียนในแต่ละระดับ
     3. หลักความต่อเนื่อง หมายถึง การจัดทำเนื้อหาการเรียนรู้นั้นจะต้องมีความต่อเนื่องไปตลอดหลักสูตร สามารถถ่ายโอนและส่งต่อผู้เรียนจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่งได้อย่างเหมาะสม
     4. หลักความสอดคล้องเชื่อมโยง หมายถึง การจัดทำหลักสูตรควรต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงเนื้อหาจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งได้ ทำให้สามารถเรียนรู้ในเรื่องใหม่ได้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่
     5. หลักการบูรณาการ หมายถึง การจัดทำหลักสูตร โดยให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง จากหัวข้อจากรายวิชาหนึ่ง ไปยังอีกหัวข้อหนึ่งของรายวิชาอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกันได้ 
     6. หลักความสมดุล หมายถึง หลักสูตรที่ดีต้องมีการพิจารณาเรื่องของความสมดุลในเนื้อหา ประสบการณ์การเรียนรู้ และทักษะของรายวิชาต่าง ๆ 

 

สำหรับประเภทของการออกแบบหลักสูตรนั้น เราสามารถแบ่งหลักสูตรออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

     1. การออกแบบหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชา (Subject-centered Designs)

     หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง โดยจะมุ่งเน้นที่เนื้อหาสาระมากกว่าตัวบุคคล ซึ่งการออกแบบหลักสูตรที่เน้นวิชานี้ จะต้องคำนึงถึงสิ่งที่ผู้เรียนจำเป็นต้องศึกษาและบอกถึงวิธีการศึกษาอย่างชัดเจน 

     หลักสูตรแกนกลางนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของการออกแบบหลักสูตรที่เนื้อหาวิชา เพราะเป็นหลักสูตรหลักที่ใช้กับทุกโรงเรียน จึงต้องกำหนดมาตรฐานและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่เหมาะสมของผู้เรียนไว้เป็นมาตรฐานของชาติ ซึ่งทุกโรงเรียนจะต้องใช้หลักสูตรนี้เป็นหลักในการออกแบบหลักสูตรเฉพาะของแต่ละโรงเรียนต่อไป

     สำหรับข้อเสียเปรียบหลักของการออกแบบหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชาเป็นสำคัญนั้น คือการที่หลักสูตรนี้ไม่คำนึงถึงตัวผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมีบทบาทน้อยในการกำหนดหลักสูตร ซึ่งทำให้หลักสูตรนี้ไม่กระตุ้นความสนใจของนักเรียนเท่าที่ควร

 

     2. การออกแบบหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered Designs)

     ในทางตรงกันข้ามกับการออกแบบหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชาเป็นหลัก การออกแบบหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้นจะพิจารณาความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นหลักในการออกแบบหลักสูตร ซึ่งการออกแบบหลักสูตรในลักษณะนี้จะยอมรับว่าผู้เรียนแต่ละคนนั้นมีความเข้าใจและมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งหลักสูตรควรมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เข้ากับความต้องการของผู้เรียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้เรียนและช่วยให้พวกเขาสามารถกำหนดรูปแบบการศึกษาผ่านทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเองได้

     แผนการสอนในหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ทำให้เป็นหลักสูตรที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้อย่างดี 

     อย่างไรก็ดี ข้อเสียของการออกแบบหลักสูตรรูปแบบนี้คือ การที่จะต้องใช้แรงงานและทรัพยากรจำนวนมากในการจัดการเรียนรู้ เพราะการที่จะต้องจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างกันตามบริบทและความสนใจของผู้เรียนนั้น ทำให้ครูผู้สอนเกิดแรงกดดันในการจัดการเรียนการสอน และเป็นภาระของครูผู้สอนในการจำเป็นต้องจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งทำให้ครูผู้สอนไม่มีเวลาเพียงพอ และถ้าครูผู้สอนขาดประสบการณ์หรือทักษะในการสร้างแผนการสอนตามหลักสูตรดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้การเรียนรู้ของผู้เรียนนั้นไม่ได้ผล

 

     3. การออกแบบหลักสูตรที่เน้นปัญหาสังคมเป็นสำคัญ (Problem-centered Designs)

     อีกรูปแบบหนึ่งของการออกแบบหลักสูตร คือ การออกแบบหลักสูตรที่เน้นปัญหาสังคมเป็นสำคัญ โดยหลักสูตรนี้จะใช้ประเด็นหรือปัญหาสังคมมาเป็นฐานในการออกแบบหลักสูตร ซึ่งจะเน้นให้ผู้เรียน เรียนรู้ตามสภาพแวดล้อมในชีวิตจริง รู้จักทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาทักษะที่สามารถถ่ายโอนความรู้ไปสู่โลกแห่งความจริงได้ 

     การออกแบบหลักสูตรที่เน้นปัญหาสังคมเป็นสำคัญนั้นมีความสอดคล้องกับหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะในการออกแบบแผนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรนี้ ครูผู้สอนต้องให้นักเรียนระบุปัญหาหรือประเด็นสังคมที่จะศึกษาตามความสนใจของผู้เรียน ก่อนที่ครูผู้สอนจะกำหนดเรื่องให้ผู้เรียนเรียนรู้ตามความเหมาะสม

     การออกแบบหลักสูตรที่มีปัญหาเป็นศูนย์กลางจะเพิ่มความเกี่ยวข้องของหลักสูตรและช่วยให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ในขณะที่กำลังเรียนรู้ ข้อเสียของการออกแบบหลักสูตรนี้คือเรื่องของเวลา เพราะในการเรียนแต่ละหัวข้ออาจต้องใช้เวลาเรียนยาวนาน ซึ่งบางทีอาจไม่เพียงพอทำให้ผู้เรียนอาจเรียนรู้ได้ไม่ครอบคลุมกับสิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย

 

     ทั้งหมดนี้คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบหลักสูตร ที่น่าจะเป็นประโยชน์และช่วยให้ครูผู้สอนสามารถออกแบบหลักสูตรและแผนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและธรรมชาติของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม 

     การออกแบบหลักสูตรที่ดีนั้น จะใช้ช่วยให้ครูผู้สอนสามารถออกแบบแผนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน แล้วทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามจุดมุ่งหมายได้วางไว้ พร้อมทั้งนำอุปสรรคและปัญหาไปพัฒนาหลักสูตรให้มีความเหมาะสมต่อไป ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการได้เช่นนี้ คุณภาพของการศึกษาไทยคงพัฒนาขึ้นอีกมากเลยทีเดียว

 

เรียบเรียงโดย : นายนรรัชต์  ฝันเชียร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow