Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หลักสูตรฐานสมรรถนะสู่การพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

Posted By Plook Teacher | 16 มี.ค. 63
164,591 Views

  Favorite

ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา การศึกษาของประเทศไทยนั้น ต้องเผชิญกับวิกฤตทางการศึกษาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการศึกษาที่ไม่ทั่วถึงและไม่สอดคล้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีจำนวนนักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาค่อนข้างมาก ใช้วิธีการจัดการศึกษาที่ล้าสมัย รวมถึงมีการตื่นตัวของกระแสการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาของประเทศไทย ทำให้เกิดปัญหาความด้อยคุณภาพของผู้เรียนเมื่อเทียบกับการจัดการศึกษาของประเทศชั้นนำอื่น ๆ

 

ปัญหาของนักเรียนไทยที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ปัญหาในเรื่องของการประยุกต์ใช้ เพราะระบบการศึกษาของโรงเรียนยังคงยึดติดกับวิธีการสอนแบบเดิม ๆ ทำให้ผู้เรียนถูกปลูกฝังด้วยการเรียนรู้แบบท่องจำเพื่อนำไปสอบ มากกว่าที่จะเรียนรู้เพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ และมุ่งสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถนำความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ตนเรียนรู้มาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและสังคมได้ กล่าวคือ เด็กไทยนั้นมีสมรรถนะที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อันเป็นเรื่องที่เสียเปรียบอย่างมากในการแข่งขันกับนานาประเทศ

 

และจากสาเหตุดังกล่าว ทำให้ทางภาครัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนรู้เสียใหม่ โดยเปลี่ยนจุดเน้นจากที่เคยเป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา (content - based) คือเน้นเนื้อหาวิชา และมีมาตรฐานและตัวชี้วัดจำนวนมาก ไปเป็นหลักสูตรที่เป็นฐานสมรรถนะ (competency-based) คือมุ่งไปยังพฤติกรรมที่ผู้เรียนโดยตรง ยึดความสามารถที่ผู้เรียนพึงปฏิบัติได้เป็นหลัก เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้เรียนจะมีทักษะและความสามารถในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เมื่อผ่านการเรียนรู้

 

แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้กำหนดให้ หลักสูตรฐานสมรรถนะนั้นเป็นแนวทางในการปฏิรูปหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน เพื่อมุ่งให้เกิดการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะหลักที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การแก้ปัญหา และการดำรงชีวิต

 

หลักสูตรฐานสมรรถนะ จะกำหนดมาตรฐานสมรรถนะ (Competency Standards) ขึ้นเป็นสมรรถนะเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยทั่วไปมี 2 ลักษณะ คือ

1. สมรรถนะหลัก (Core Competency) มีลักษณะเป็นสมรรถนะข้ามวิชาหรือคร่อมวิชา คือเป็นสมรรถนะที่สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้ในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้สาระต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

2. สมรรถนะเฉพาะ (Specific Competency) เป็นสมรรถนะเฉพาะวิชา / สาขาวิชาที่จำเป็นสำหรับวิชานั้น ๆ

ซึ่งสมรรถนะทั้ง 2 ประเภทนั้น ไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะหลัก หรือสมรรถนะเฉพาะ ต่างก็มีระดับตั้งแต่ง่ายไปยาก ซึ่งหลักสูตรจะกำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบไต่ระดับ ไปตามระดับความสามารถของตน

 

สำหรับจุดเด่นของหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น มีด้วยกันอยู่หลายประการ อันได้แก่

1. ช่วยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาสมรรถนะหลักที่สำคัญต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และการเรียนรู้

2. ช่วยให้เกิดการจัดการเรียนรู้ ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ

3. ช่วยลดสาระการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็น อันส่งผลให้สถานศึกษามีพื้นที่และเวลาในการจัดการเรียนรู้อื่นที่เหมาะสมกับผู้เรียน วิถีชีวิตและชุมชนได้มากขึ้น

4. ช่วยลดภาระและเวลาในการสอบตามตัวชี้วัดจำนวนมาก เพราะสามารถวัดและประเมินผลผู้เรียนด้วยการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนที่แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะหลัก

 

กรอบสมรรถนะหลักของหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะเป็นสมรรถนะขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนทุกคน ซึ่งจะเป็นสมรรถนะกลางที่เอื้อให้สถานศึกษาที่มีศักยภาพ

โดยในหลักสูตรฐานสมรรถนะ ได้กำหนดสมรรถนะหลักเบื้องต้นไว้ 10 สมรรถนะ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม 4 กลุ่ม คือ

 

1. คนไทยฉลาดรู้ (Literate Thais ) มี 4 สมรรถนะหลัก คือ

   1.1 ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร (Thai Language for Communication)

   1.2 คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน (Mathematics in Everyday Life)

   1.3 การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry and Scientific Mind)

   1.4 ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (English for Communication)

2. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (English for Communication)

   2.1 ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน (Life Skills and Personal Growth)

   2.2 ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ (Career Skills and Entrepreneurship)

3. คนไทยสามารถสูง (Smart Thais) มี 2 สมรรถนะหลัก คือ

   3.1 ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม (Higher Order Thinking Skills and Innovation)
   3.2 การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media, Information and Digital Literacy : MIDL)

4. พลเมืองไทย ใส่ใจสังคม (Active Thai Citizens) มี 2 สมรรถนะหลัก คือ

   4.1 การทำงานแบบรวมพลัง เป็นทีม และมีภาวะผู้นำ (Collaboration Teamwork and Leadership)

   4.2 การเป็นพลเมืองตื่นรู้ที่มีสำนึกสากล (Active Citizens with Global Mindedness)

การนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้นั้นจะต้องดำเนินการผ่านการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ(Competency-Based Instruction: CBI) ที่มีลักษณะสำคัญคือ เป็นการเรียนการสอนตามจุดประสงค์การเรียนรู้ เชิงสมรรถนะ (Learning competencies) ที่สามารถสังเกตเห็นและวัดได้ ซึ่งการวัดและประเมินฐานสมรรถนะ นั้น จะเน้นการวัดผลการเรียนรู้จากการพฤติกรรมและการปฏิบัติ ที่สามารถแสดงออกให้เห็นถึงสมรรถนะนั้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

โดยแนวทางในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ นั้น สามารถดำเนินการได้ 6 แนวทางอันได้แก่

แนวทางที่ 1 : ใช้งานเดิม เสริมสมรรถนะ

เป็นการสอนตามปกติที่สอดแทรกสมรรถนะที่สอดคล้องกับการบทเรียนนั้นเข้าไป และอาจปรับหรือสร้างสรรค์กิจกรรม ต่อยอด เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะนั้น

แนวทางที่ 2 ใช้งานเดิม ต่อเติมสมรรถนะ

เป็นการสอนตามปกติที่สอดแทรกสมรรถนะ ที่สอดคล้องกับการบทเรียนนั้นเข้าไป และมีการเน้นสมรรถนะที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนใช้ความรู้ ทักษะได้จริงในสถานการณ์ที่หลากหลาย

แนวทางที่ 3 ใช้รูปแบบการเรียนรู้ สู่การพัฒนาสมรรถนะ

เป็นการสอนตามปกติที่มีการนำรูปแบบการเรียนรู้ที่ใช้เดิมมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับสมรรถนะที่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้และบทเรียน ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์พร้อมๆกับการเกิดสมรรถนะ

แนวทางที่ 4 สมรรถนะเป็นฐาน ผสานตัวชี้วัด

เป็นการสอนโดยนำสมรรถนะและตัวชี้วัดที่สอดคล้องกันมาออกแบบการสอนร่วมกัน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทั้งเนื้อหาสาระและทักษะตามตัวชี้วัดที่กำหนด พร้อม ๆ กับการพัฒนาสมรรถนะหลักที่จำเป็นต่อชีวิต

แนวทางที่ 5 บูรณาการผสานหลายสมรรถนะ

เป็นการสอนโดยนำสมรรถนะหลักทั้งสิบด้านเป็นตัวตั้ง แล้วออกแบบการสอนที่มีลักษณะเป็นหน่วยบูรณาการที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชา/กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ

แนวทางที่ 6 สมรรถนะชีวิตในกิจวัตรประจำวัน

สมรรถนะชีวิตในกิจวัตรประจำวันเป็นการสร้างสรรค์การเรียนรู้อย่างสอดคล้องสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตประจำวันปกติของนักเรียน สอดคล้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่มักเกิดในโรงเรียน นับเป็นการฝึกพัฒนาสมรรถนะนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง


หลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ นับเป็นหลักสูตรที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเรียนรู้ของผู้เรียน และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่เหมาะสมกับโลกในยุคสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วละมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ซึ่งถ้าหลักสูตรได้ถูกประยุกต์และนำมาใช้ในระบบการศึกษาได้อย่างเหมาะสม จะทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตัวเองให้มีสมรรถนะที่เหมาะสมต่อการพัฒนาตัวเองและประเทศชาติได้

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow