นอกจากนี้ ด้วยกระแสเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโลกเทคโนโลยี ทำให้ระยะหลังเริ่มมีการนำสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสาร เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือ จัดการและอำนวยความสะดวกในการศึกษามากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้กำลังกลายเป็นเทรนส์ทางการศึกษาที่กลายเป็นบรรทัดฐานทางการศึกษาใหม่ในอนาคต ซึ่งต่อไปนี้คือ แนวโน้มของเทคโนโลยีทางการศึกษาสำคัญ ที่เชื่อกันว่าจะมีอิทธิพลอย่างมากนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
บทบาทของครูผู้สอนในโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยต้องให้ข้อมูลแก่นักเรียนด้วยการบรรยายหน้าชั้นเรียน ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน ด้วยการให้คำแนะนำเพื่อให้นักเรียนเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งบทบาทของครูผู้สอนที่เปลี่ยนไปนี้ เทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือและเติมเต็มการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั้นคือ เทคโนโลยีที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) (Artificial Intelligence) คือสมองอิเล็กทรอนิกส์ เป็นความฉลาดเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อนำไปฝังไว้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพของอุปกรณ์เหล่านั้น ให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์พิจารณาเพื่อหาแนวทางตอบสนองอย่างเหมาะสมให้กับตัวผู้ใช้ โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องป้อนข้อมูลให้ตลอดเวลา
เทคโนโลยีนี้คาดการณ์กันว่าจะช่วยให้ครูผู้สอนมีเวลามากขึ้นในการมุ่งเน้นทักษะการสอนเฉพาะบุคคลเช่นการส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ หรือการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน โดย AI นั้นจะทำหน้าที่แทนครูผู้สอนในงานที่ต้องใช้เวลาและมีความจำเจซ้ำซาก เช่น การตรวจการบ้านหรือการประมวณผลคะแนนสอบของนักเรียน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ครูผู้สอนมีเวลาในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
การศึกษาแบบโฮมสกูลในปัจจุบันนี้ มีสื่อที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนอย่างมากมาย โดยเป็นผลมาจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ซึ่งช่วยให้การศึกษาแบบโฮมสกูลนี้มีสื่อและแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ผู้ปกครองสามารถใช้ประโยชน์จากสื่อเทคโนโลยีในการหาข้อมูลความรู้ต่างๆเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ประโยชน์จากห้องเรียนออนไลน์ในการสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงเหมือนกับการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติ ซึ่งแม้ว่าการเรียนแบบโฮมสกูลนั้นจะเน้นการเรียนรู้แบบตัวต่อตัว แต่การให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านห้องเรียนออนไลน์จะช่วยให้ผู้เรียนมีความเคยชินกับรูปแบบการเรียนปกติ อันจะเป็นผลดีกับผู้เรียนเมื่อจำเป็นต้องขยับไปเรียนในชั้นเรียนที่สูงขึ้น
สิ่งนี้เป็นการผสมผสานการเรียนรู้แบบโฮมสกูลให้เข้ากับการศึกษาแบบปกติ ทำให้การเรียนรู้แบบโฮมสกูลนั้นมีประสิทธิภาพเฉกเช่นเดียวกับการเรียนตามรูปแบบปกติ และยังส่งผลดีต่อทักษะทางสังคมของผู้เรียนอีกด้วย ทำให้การจัดการศึกษาแบบโฮมสกูลนั้นมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่ปัญหาของการศึกษาแบบโฮมสกูลนั้นคือการที่ผู้ปกครองไม่สามารถจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ได้เต็มเวลา จึงทำให้การศึกษารูปแบบนี้ขาดประสิทธิภาพ และเรื่องของทักษะทางสังคมของผู้เรียนก็เป็นจุดอ่อนสำคัญของการศึกษารูปแบบนี้ เหตุนี้เองการผสมผสานการเรียนรู้แบบโฮมสกูลให้เข้ากับการศึกษาแบบปกติผ่านการเรียนรู้แบบห้องเรียนออนไลน์นั้น จึงนับได้ว่าเป็น ไฮบริดโฮมสกูล ที่มีประสิทธิภาพ และคาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต
Augmented Reality (AR) คือ การนำเทคโนโลยีมาผสมผสานระหว่างมุมมองโลกแห่งความจริง เข้ากับวัตถุเสมือนจริง ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่าง ซึ่งทำให้เกิดประสบการณ์การรับรู้ที่แปลกใหม่ โดยเป็นการเรียนรู้แบบอินเทอร์แอคทีฟ คือสามารถตอบโต้กับวัตถุเสมือนจริงได้ ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มองค์ประกอบทางดิจิตอลต่างๆ บนเครื่องมือสื่อสาร
ปัจจุบัน เทคโนโลยี AR กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาได้อย่างมากมาย โดยห้องเรียนที่มีการใช้สื่อภาพเคลื่อนไหวแบบ AR นั้นจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนรู้สึกอยากเรียนรู้ และช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าใจหัวข้อต่างๆได้ดียิ่งขึ้น หากมีข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ภาพโมเดล 3 มิติ ข้อความตัวอย่างเสียงหรือวิดีโอจากครู ซึ่งจะปรากฏขึ้นหลังจากที่นักเรียนใช้เครื่องมือสื่อสารของตัวเองสแกนบางอย่างบนหน้าหนังสือของพวกเขา เป็นต้น
Virtual reality (VR) คือ การจำลองโลกเสมือนจริงแบบ 360 องศา ถ้า AR คือ การสร้างให้เราเห็นหรือตอบสนองกับวัตถุเสมือนในโลกของความจริง เทคโนโลยี VR คือ การพาเราไปอยู่ในโลกของความจริงเสมือน ผ่านการใช้แว่น VR ซึ่งทำให้เรารู้สึกถึงความสมจริงมากกว่า โดยผู้ใช้จะถูกทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งกับความจริงเสมือนนั้น และสามารถจะตอบสนองอย่างไรก็ได้กับโลกเสมือนตามขอบเขตที่กำหนดไว้ โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี VR นี้ กำลังขยายตัวและเติบโตอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนและสนับสนุนจากทั่วโลก สิ่งนี้ทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ เครื่องมือที่ตอบสนองกับเทคโนโลยี VR นั้นจะมีราคาที่ถูกลง และเข้าถึงกับผู้คนในทุกระดับมากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยี VR นี้จะสามารถช่วยพานักเรียนเข้าไปสู่โลกเสมือนจริงแห่งการเรียนรู้ได้ โดยที่ตัวนักเรียนไม่จำเป็นต้องออกจากห้องเรียน พวกเขาสามารถสัมผัสกับสิ่งที่พวกเขาอ่าน หรือสิ่งที่พวกเขาเห็นจากภาพประกอบของหนังสือ สามารถหลอกร่างกายให้คิดว่าเป็นสถานที่ใหม่ และช่วยให้นักเรียนสามารถเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่างๆทั่วโลก รวมถึงไปยังดินแดนที่ไม่เคยพบเห็น อย่างมหานครอียิปต์ หรือ ดินแดนไดโนเสาร์
ทั้งหมดนี้คือเทรนแห่งเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและกำลังจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ตัวช่วยทางการศึกษาเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนควรต้องศึกษาและเรียนรู้ วิธีใช้ รวมถึงรูปแบบและแนวทางที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวคิดในการจัดการศึกษายุคใหม่ ที่ต้องสามารถผสานเทคโนโลยีให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวันให้ได้นั่นเอง
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร