“ผู้ใดพบเห็นเด็กตกอยู่ในสภาพจำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพตามหมวด 3 และหมวด 4 จะต้องให้การช่วยเหลือเบื้องต้นและแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามมาตรา 24 โดยมิชักช้า
แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่รับตัวเด็กไว้รักษาพยาบาล ครู อาจารย์ หรือนายจ้าง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กที่เป็นศิษย์หรือลูกจ้าง จะต้องรายงานให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามมาตรา 24 ทราบโดยมิชักช้า หากเป็นที่ปรากฏชัดหรือน่าสงสัยว่าเด็กถูกทารุณกรรมหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการเลี้ยงดูโดยมิชอบ การแจ้งหรือการรายงานตามมาตรานี้ เมื่อได้กระทำโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางปกครอง”
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ครูผู้สอน นอกจากจะทำหน้าที่อบรมสั่งสอนนักเรียนแล้ว ยังต้องคอยดูแลสอดส่องสุขภาวะทั้งทางกายและทางใจของนักเรียนอีกด้วย และทันทีเมื่อพบเจอว่านักเรียนในความดูแลต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับการโดนทารุณกรรม รวมถึงการได้รับการเลี้ยงดูโดยมิชอบ ต่อไปนี้คือสิ่งที่ครูผู้สอนทุกท่านควรดำเนินการต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว
แม้ว่ากฎหมายจะให้สิทธิครูผู้สอนในการรายงานเรื่องนี้ แต่การศึกษาระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก จะช่วยให้เราเห็นแนวทาง ขั้นตอน และขอบเขตของการดำเนินงานคุ้มครองนักเรียนได้อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ตัวครูผู้สอนเองต้องประสบปัญหาทางกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ในกรณีที่ปัญหาไม่ได้ใหญ่โตหรือซับซ้อนมากนัก เช่น การถูกทุบตี หรือ เนื้อตัวนักเรียนไม่สะอาด การให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ปกครองในการดูแลนักเรียน น่าจะเป็นรูปแบบการช่วยเหลือที่ดีกว่ามุ่งแต่การดำเนินคดีทางกฎหมาย เพราะหลายครั้งนักเรียนที่ถูกทารุณกรรมหรือได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมนั้นเกิดจากการที่ผู้ปกครองขาดความรู้ความเข้าใจในแนวทางเลี้ยงดูบุตรหลานที่เหมาะสม ดังนั้นการให้คำแนะนำในเชิงที่แสดงให้ผู้ปกครองเห็นว่า ครูผู้สอนเป็นกัลยาณมิตรและคอยเฝ้าดูพฤติกรรมของนักเรียนอยู่ตลอด จะช่วยให้พวกเขามีแนวโน้มในการเลี้ยงดูนักเรียนอย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
บางครั้งปัญหานักเรียนถูกทารุณกรรมนั้นอาจใหญ่เกินกว่าที่ครูประจำชั้นหรือครูประจำวิชาจะสามารถแก้ไขปัญหาเองได้เพียงลำพัง การนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมและปรึกษากับผู้บังคับบัญชาน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า ไม่จำเป็นว่าครูผู้สอนจะต้องเห็นว่านักเรียนโดนทารุณกรรมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแค่พบเห็นพฤติกรรมนักเรียนที่เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง เช่น เหม่อลอย หวาดกลัว หรือ เศร้า รวมถึงพบเจอร่องรอยของการถูกทารุณกรรมบนตัวนักเรียน ก็นับเป็นหลักฐานที่อาจจะทำให้ครูผู้สอนตั้งข้อสงสัยหรือคาดเดาได้ว่านักเรียนในความดูแลกำลังเผชิญปัญหาบางอย่างอยู่ได้แล้ว ดังนั้นอย่ากลัวที่จะนำสิ่งที่คาดเดานี้รายงานต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือ โดยการจัดตั้งเป็นคณะทำงานแบบสหวิชาชีพ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม
การจัดการปัญหาทารุณกรรมของนักเรียน อาจจะสามารถจัดการได้รวดเร็วในไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ แต่บางกรณีก็อาจยาวนานเป็นหลายภาคเรียน ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและความซับซ้อนของปัญหาซึ่งมีมากน้อยแค่ไหน บางปัญหาอาจมีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ยาเสพติด รายได้ครัวเรือน รวมไปถึง การถูกล่วงละเมิด สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถจัดการได้ในเร็ววัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเฝ้าดูและติดตามนักเรียนที่ประสบปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยมีการบันทึกความกล่าวหน้า และรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือคณะกรรมการที่ได้จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจเป็นระยะ
รายงานในลักษณะของกรณีศึกษาถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการศึกษาปัญหาและค้นหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูผู้สอนต้องเริ่มทำเป็นอันดับแรก เมื่อพบเจอกับนักเรียนที่ต้องสงสัยว่าถูกทารุณกรรมหรือได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม โดยวิจัยในลักษณะของกรณีศึกษานี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการบันทึกสิ่งที่เราดำเนินการต่อปัญหาเป็นรายวัน ตั้งแต่เริ่มต้นพบเจอกับปัญหาไปจนถึงการดำเนินการแก้ไขจนเสร็จสิ้น ซึ่งวิจัยในลักษณะนี้นอกจากจะเป็นหลักฐานสำคัญในการพิจารณาช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กแล้ว ยังเป็นต้นแบบในการสร้างระบบการดูแลนักเรียนอย่างเหมาะสมให้เกิดขึ้นในโรงเรียนได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหานั้น อาจไม่ใช่หนทางที่มีแต่ความสะดวกเสมอไป เพราะอย่าลืมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ภาระงานประจำที่ต้องทำทุกวัน แต่เป็นภารกิจเฉพาะที่เกิดขึ้น และจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือ จึงอาจมีบางคนที่ไม่สะดวกในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว รวมถึงรูปแบบของการบริหารภาครัฐบางประการ อาจจะทำให้ตัวเรารู้สึกว่าล่าช้าและไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร สิ่งนี้อาจส่งผลให้เรารู้สึกท้อแท้ใจ และมองในแง่ลบได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้เป็นภาระและไม่อยากที่จะดำเนินการต่อ จงละทิ้งความคิดนั้นเสีย และมองที่ตัวนักเรียนที่กำลังประสบปัญหา เพราะอย่าลืมว่า คุณคือผู้ที่พบปัญหาและรู้ว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ และคุณคือหนทางเดียวที่จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากปัญหาเหล่านั้นได้ จงตั้งมั่นและทำมันให้ถึงที่สุด เพื่อนักเรียนของคุณ
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร