การส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะด้านการอ่านนั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและเป็นเป้าหมายหลักทางด้านการศึกษาที่ต้องการเน้นให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์ด้านการอ่านของประเทศไทยจะมีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การอ่านที่เรียกได้ว่าเป็นทักษะการอ่านที่เหมาะสมนั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่องในระบบการศึกษาไทย
ผู้ที่มีทักษะด้านการอ่าน หรือมีความสามารถในด้านการอ่านนั้น จะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการจดจำเรื่องราวจากการอ่าน มีความเข้าใจเนื้อหา และสามารถเก็บรายละเอียดที่สำคัญของเนื้อเรื่องที่อ่านได้ นอกจากนี้ผู้อ่านที่ดีก็ต้องมีความสามารถในเรื่อง ต่อไปนี้
1. เข้าใจในสาระของเรื่อง
2. มีความเข้าใจเนื้อเรื่องตามลำดับการเรียบเรียงเรื่อง
3. สามารถอ่านเพื่อหาความรู้ได้
4. รู้จักเลือกหนังสือหรือสื่อที่จะอ่านอย่างเหมาะสม
5. สามารถอ่านอย่างเร็วเพื่อจับใจความคร่าว ๆ ก่อนที่จะอ่านอย่างละเอียด
6. สามารถอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์และรวดเร็วในการหาข้อเท็จจริงได้
7. สามารถอ่านอย่างใช้ความคิดเพื่อประเมินการเขียนอย่างมีความเชื่อมั่นได้
ดังนั้น การที่นักเรียนอ่านเป็นนั้น อาจจะยังไม่ได้หมายความว่านักเรียนคนนั้นมีทักษะด้านการอ่าน เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการอ่านที่นักเรียนจะต้องพัฒนา เพื่อไปสู่การมีทักษะในด้านการอ่านที่ดีในอนาคต ซึ่งต่อไปนี้คือกิจกรรมที่ผู้เขียนมองว่าน่าจะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาทักษะด้านการอ่านของตัวเองได้
ครูผู้สอนเลือกบทกลอนหรือประโยคใดประโยคหนึ่ง จากวรรณกรรมที่น่าสนใจ และถ่ายทอดให้นักเรียนรับรู้ โดยไม่ต้องบอกว่าบทกลอนหรือประโยคที่กล่าวถึงนี้ มาจากวรรณกรรมเรื่องใดหรือเล่มไหน แล้วให้พวกเขาวิเคราะห์หาหนังสือที่เป็นที่มาของวรรณกรรมนั้น โดยต้องระบุด้วยว่ามาจากเล่มไหนและอยู่ในบทที่เท่าไหร่และหน้าใด
กิจกรรมนี้ ครูผู้สอนต้องแน่ใจว่าบทกลอนหรือประโยคที่นำมานั้น สามารถคาดเดาถึงที่มาได้ ไม่ง่ายและไม่ยากจนเกินไป รวมถึงอาจเสริมด้วยคำบอกใบ้ที่ช่วยให้นักเรียนเข้าถึงสิ่งที่ครูผู้สอนต้องการสื่อได้ง่ายขึ้น
ให้นักเรียนในชั้นเรียนผลัดกันออกมาเล่าข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือบทความที่หาได้จากอินเตอร์เน็ตหน้าชั้นเรียน ซึ่งนอกจากจะเป็นการฝึกทักษะการอ่านแล้ว ยังช่วยให้นักเรียนได้ความรู้จากข่าวสารที่เพื่อนนักเรียนนำมาเสนออีกด้วย โดยในช่วงแรก ครูผู้สอนอาจเป็นผู้จัดเตรียมข่าวสารหรือบทความให้นักเรียน โดยดูจากทักษะการอ่านของนักเรียนแต่ละคน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นให้นักเรียนในการทำกิจกรรมการอ่านนี้ และเมื่อนักเรียนเริ่มชินเคยกับกิจกรรมแล้ว อาจปล่อยให้พวกเขาค้นหาข่าวหรือบทความที่จะนำมาอ่านตามที่เขาสนใจด้วยตัวเองได้
กิจกรรมนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านของนักเรียน ยังเป็นการสร้างให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการแสดงออกหน้าชั้นอีกด้วย จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีประโยชน์และพัฒนาทักษะการอ่านให้กับนักเรียนได้อย่างหลากหลาย
การส่งเสริมทักษะด้านการอ่านสำหรับนักเรียน เราไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ในหนังสือเรียนหรือในวรรณกรรมที่นักเรียนต้องเรียนรู้ ลองให้นักเรียนลงคะแนนเลือกนิยายที่ชอบ และนำนิยายที่มีคะแนนสูงที่สุดมาออกข้อคำถามที่เกี่ยวกับเนื้อหา ครูผู้สอนอาจให้เวลาสำหรับนักเรียนในการอ่านนิยายที่เลือกสักหนึ่งถึงสองสัปดาห์ ก่อนให้พวกเขาตอบคำถามจากนิยายที่เขาชื่นชอบนั้น
กิจกรรมนี้ จะกระตุ้นให้นักเรียนรู้สึกอยากร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ยิ่งถ้ามีการเสริมแรงด้วยของรางวัลสำหรับผู้ที่ตอบคำถามได้ถูกต้องมากที่สุด ก็ยิ่งทำให้กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากนักเรียนในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี โปรดระมัดระวังว่านิยายที่นักเรียนได้เลือกมานั้น ต้องมีความเหมาะสมกับวัยของนักเรียน และเป็นสื่อบันเทิงที่จรรโลงใจและไม่สร้างให้เกิดความคิดที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนควรรู้จักหนังสือหรือนิยายเล่มนั้นก่อนจะนำมาใช้
ก่อนจะเข้าห้องเรียน ครูผู้สอนจะให้นักเรียนจับฉลากขึ้นมาอ่านทีละคน และให้ตีความข้อความ เพื่อหาแนวทางปฏิบัติตามข้อความที่เขียนอยู่บนใบฉลากนั้น เช่น “เช้าวันใหม่อากาศแจ่มใสผู้โชคดีคือใครเดินมาเดินไปทักทายเพื่อนฝูงในสามคราอย่าแชเชือน” (ให้เดินไปทักทายเพื่อน 3 คน) เป็นต้น
การระบุข้อความในฉลากจะต้องมีขนาดที่เหมาะสมไม่ใหญ่และเล็กจนเกินไป สามารถอ่านและตีความได้โดยคำนึงถึงทักษะด้านการอ่านของนักเรียนเป็นเกณฑ์หลักในการระบุข้อความบนฉลาก ซึ่งในชั้นเริ่มต้น เราอาจจะระบุข้อความโดยตรงให้นักเรียนปฏิบัติได้เลยโดยไม่ต้องตีความ และเริ่มให้นักเรียนค่อย ๆ ตีความ เมื่อใช้ในระดับชั้นที่สูงขึ้น
กิจกรรมนี้ จะช่วยสร้างสถานการณ์ให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการอ่านทุกวัน โดยครูผู้สอนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมฉลากไว้ให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนในชั้นและควรที่จะมีไม่ต่ำกว่า 3-4 ชุด สำหรับสลับสับเปลี่ยนกัน เพื่อไม่ให้นักเรียนจดจำข้อความได้
ครูผู้สอนหาบทความหรือบทสนทนาต่างๆ มาเขียนลงบนกระดาษแผ่นใหญ่และตัดมันออกเป็นส่วน ๆ ทีละประโยค จากนั้นให้นักเรียนลองเรียงประโยคทั้งหมดให้กลายเป็นบทความหรือบทสนทนาที่สมบูรณ์
ครูผู้สอนอาจใช้เป็นกระดาษอย่างที่กล่าวขึ้นต้น หรืออาจจัดทำเป็นแบบฝึกหัดให้นักเรียนแต่ละทำก็ได้ นอกจากนี้สำหรับใครมีทักษะในด้านเทคโนโลยี อาจใช้ประโยชน์จากโปรแกรม Power Point Office ทำเป็นกล่องข้อความที่ลากไปมาได้ และให้นักเรียนเรียงประโยคโดยใช้เมาส์ลากกล่องข้อความไปเรียงต่อกัน พร้อมทั้งฉายให้นักเรียนทุกคนสังเกตการเรียงประโยคของเพื่อน ซึ่งช่วยให้นักเรียนคนอื่นได้เรียนรู้การเรียงประโยคไปพร้อมกันด้วย
กิจกรรมนี้ จะช่วยให้นักเรียนรู้จักเรียบเรียงและเรียงลำดับเนื้อหา ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญของการเป็นนักอ่านที่ดี และยังเป็นกิจกรรมที่ท้าทายและสร้างความสนุกให้นักเรียนได้ไม่น้อย
ทั้งหมดนี้คือกิจกรรมส่งเสริมทักษะการอ่านของนักเรียนที่ผู้เขียนเชื่อว่า ครูผู้สอนทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทักษะการอ่านของนักเรียนได้อย่างดี นอกจากนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมเหล่านี้จะช่วยจุดประกายให้ผู้อ่านการพัฒนากิจกรรมในการส่งเสริมทักษะการอ่านให้กับนักเรียนในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไปอีกด้วย ซึ่งถ้าสามารถไปถึงขั้นนั้นได้ คงเป็นประโยชน์ต่อเด็กไทยไม่น้อยเลยทีเดียว
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร