ต้องชี้แจงเอาไว้ก่อนว่า ผู้เขียนยังคงเชื่อมั่นในรูปแบบของการจัดการศึกษาสมัยใหม่ และยังคงสนับสนุนให้นักเรียนมีการสื่อสารระหว่างกันทั้งกับเพื่อนนักเรียนด้วยกับครูผู้สอนอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าห้องเรียนที่จอแจทุกห้องจะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้ เพราะสำหรับห้องเรียนที่อึกทึกครึกโครมจนเกินไป นอกจากจะรบกวนบรรยากาศการเรียนรู้รอบข้างแล้ว ยังส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียน ทำให้นักเรียนเสียสมาธิ ฟังข้อความหรือคำสั่งต่าง ๆ ไม่รู้เรื่อง และขาดความใส่ใจในบทเรียนได้ นอกจากนี้ห้องเรียนที่เสียงดังจนเกินไปยังกระตุ้นให้เกิดครูผู้สอนมีความเครียดเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
โดยปกติแล้ว เวลาที่นักเรียนในชั้นเรียนเริ่มที่จะส่งเสียงดังมากกว่าปกติ ครูผู้สอนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะทำให้เกิดเสียงที่ดังกว่า เพื่อทำให้นักเรียนในชั้นเรียนหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ และหันกลับมาสนใจที่ตัวครู ซึ่งบางครั้งก็ไม่พ้นการตะโกนส่งเสียงดัง และบางทีก็อาจหลุดคำที่ไม่เหมาะสมออกมาด้วย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อตัวครูผู้สอนได้ในภายหลัง ถ้าบังเอิญการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมนั้นถูกบันทึกและเผยแพร่
ดังนั้น เพียงเป็นแนวทางให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการทำให้ห้องเรียนเงียบลงได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องวิธีการแบบเดิม ๆ ครั้งนี้ผู้เขียนจึงนำเสนอวิธีที่สามารถแก้ปัญหาห้องเรียนที่เสียงดังได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งมีดังนี้
การเขย่ามาลาคัส (ลูกแซ็ก) กระดิ่ง ระฆัง หรือแม้แต่การเป่านกหวีด ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถเรียกความสนใจให้กลับมาที่ตัวครูผู้สอนได้ ขณะที่นักเรียนกำลังพูดคุยกันอย่างเมามัน แต่จงจำไว้ให้ดีการสร้างเสียงโดยใช้อุปกรณ์เกิดเสียงนั้น ควรต้องเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับวัย และ ไม่ส่งผลเสียต่อการได้ยินของนักเรียน ซึ่งหลังจากใช้แล้ว ครูผู้สอนจะต้องสามารถสื่อสารกับนักเรียนต่อเนื่องในทันที โดยไม่ทิ้งช่วง เพราะนักเรียนจะหันกลับไปยังจุดสนใจเดิมก่อนหน้า และมีแนวโน้มที่จะเคยชินกับเสียงจนการทำเสียงเรียกนั้นไม่ได้ผลในครั้งต่อไป
การสลับที่นั่งในทุกสัปดาห์ นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนได้รู้จักและสามารถร่วมมือกันทำงานกับเพื่อนในชั้นเรียนได้ทุกคน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกิจกรรมนี้ และนอกจากเป้าหมายที่กล่าวมา กิจกรรมนี้ยังมีผลพลอยอีกอย่างหนึ่ง คือ การลดความจอแจของชั้นเรียลงน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว นักเรียนมักจะสื่อสารกับที่เพื่อนสนิทกันมากกว่าเพื่อนทั่วในชั้นเรียน ทำให้การสลับที่นั่ง จะทำให้นักเรียนมีการสื่อสารระหว่างเพื่อนสนิทที่น้อยลงแต่มีการสื่อสารที่ตรงประเด็นในเนื้อหาการเรียนรู้กับเพื่อนที่ต้องนั่งใกล้กันมากขึ้น
ร่วมกันกับนักเรียนในชั้นกำหนดช่วงเวลาแห่งความเงียบในชั่วโมงสอนของคุณ ซึ่งอาจจะใช้เวลา 10-20 นาที หลังจากที่ครูสอนบทเรียนและเริ่มให้ทำแบบฝึกหัด โดยตกลงกันว่าในชั่วโมงแห่งความเงียบนี้ จะไม่มีการพูดคุยกันหรือจะพูดคุยกันได้แค่การกระซิบ ซึ่งถ้านักเรียนทั้งหมดในชั้นเรียนปฏิบัติได้ ครูผู้สอนอาจให้รางวัล เป็นการเลิกชั่วโมงที่เร็วขึ้นหรือให้ขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละครั้ง
บางครั้งระหว่างที่ครูผู้สอนกำลังสื่อสารกับนักเรียน อาจจะมีนักเรียนจำนวหนึ่งไม่สนใจที่จะฟังมากนัก การที่ครูผู้สอน หยุดสิ่งที่กำลังทำอยู่และโชว์มือขึ้นเป็นสัญลักษณ์โดยไม่จำเป็นต้องบอกอะไร อาจสร้างความประหลาดใจให้กับนักเรียน และดึงความสนใจของนักเรียนกลับมาที่ตัวครูได้ ซึ่งหลังจากนี้ครูผู้สอนจะอบรมนักเรียนในเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือจะสอนต่อไปเลย ก็สามารถทำได้หลังจากที่ทุกอย่างสงบแล้ว
“หากพวกเรากำลังสบาย จงปรบมือพลัน” เนื้อหาจากเพลงสันทนาการเพลงหนึ่งที่รู้จักกันดี สามารถนำมาใช้กันนักเรียนในระหว่างการสอนได้ ซึ่งสามารถนำมาคั่นเวลาในช่วงที่นักเรียนเริ่มพูดคุยกันเสียงดัง เพื่อดึงความสนใจของนักเรียนให้กลับมาที่บทเรียน และยังเป็นการให้นักเรียนได้ขยับร่างกาย ซึ่งส่งผลดีทำให้ขจัดความง่วงในระหว่างเรียนออกไปได้ด้วย
กิจกรรมเกม เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มาแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน ช่วยกระตุ้นความสนใจและสามารถส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมได้อย่างแยบยล เกมที่สนุก เข้าใจง่าย และเหมาะสมกับวัยของนักเรียนจะทำให้นักเรียนหันมาสนใจกิจกรรมมากขึ้น แม้ว่ากิจกรรมเกมนี้อาจไม่ได้ทำให้ห้องเรียนเงียบลงมากนัก เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ แต่มั่นใจได้ว่าความสนุกที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกมนั้นจะทำให้ห้องเรียนสนุกสนานและง่ายต่อการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน
เมื่อเห็นว่าห้องเรียนเริ่มที่จะมีเสียงดังจนเกินไป ครูผู้สอนอาจเริ่มสอนด้วยเสียงที่เบาลง จนเหลือแต่การแสดงท่าทางการสอนโดยไม่ออกเสียงใด ๆ ถ้าการกระทำนี้ไม่ใช่สิ่งที่เคยทำอย่างสม่ำเสมอ นักเรียนในชั้นเรียนจะรู้สึกแปลกใจ และเริ่มที่จะสงบลงเพื่อเฝ้าดูสิ่งที่ครูผู้สอนแสดง ซึ่งครูผู้สอนอาจจะแจ้งกับนักเรียนว่า ครูจะปฏิบัติเช่นนี้อีก ถ้าห้องเรียนมีเสียงที่ดังเกินไป ก่อนที่จะเริ่มสอนตามปกติอีกครั้ง อย่างไรก็ดี วิธีนี้ ครูผู้สอนต้องแน่ใจว่า ตัวเองยังคงอยู่ในความสนใจของนักเรียน แม้ว่านักเรียนจะหันไปสนใจสิ่งอื่นอยู่ เพราะถ้าครูผู้สอนไม่ได้อยู่ในความสนใจของนักเรียนอีกต่อไปแล้วในครั้งนี้ ครูผู้สอนจะแสดงละครใบ้อย่างไร ก็คงเรียกว่าสนใจจากนักเรียนกลับมาไม่ได้
มีงานวิจัยหลายแห่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการเปิดเพลงขณะทำงาน ซึ่งช่วยให้คนเราสามารถทำงานให้เสร็จได้เร็วขึ้น รวมถึงส่งผลดีต่อความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย ดังนั้นการเปิดเพลงส่งเสริมสมาธิในระหว่างที่นักเรียนกำลังทำงานก็นับเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขามีสมาธิกับงานและเลือกที่จะจดจ่อกับสิ่งนั้นได้มากขึ้น
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร