การวัดระดับความสามารถนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1905 โดยนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ต้องการแยกบุคคลปัญญาอ่อนออกจากคนปกติ เพื่อจะได้จัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีที่พวกเขาใช้คือการเปรียบเทียบระหว่างความสามารถที่ควรจะมีกับอายุสมองของแต่ละบุคคล แล้วคำนวณออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ในปี 1930 จึงมีการออกแบบข้อสอบเพื่อวัดระดับความสามารถของบุคคล 11 ลักษณะ อันประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปที่เป็นคำถามเพื่อตรวจวัดความสนใจความรู้รอบตัว ความคิดความเข้าใจ การคิดคำนวณ ความคิดที่เป็นนามธรรม ความจำระยะสั้น ภาษาในส่วนของการใช้คำ การต่อภาพในส่วนที่ขาดหายไป การจับคู่โครงสร้าง การเรียงลำดับภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ การต่อภาพเป็นรูป และ การหาความสัมพันธ์ของตัวเลขและสัญลักษณ์
โดยข้อสอบในการวัดความสามารถทั้งหมดนี้ถูกเรียกว่า IQ Test (Intelligence Quotient Test) ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดอย่างแรกที่มีการวัดออกมาเป็นตัวเลขและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
IQ (Intelligence Quotient) เป็นการวัดระดับของความฉลาดทางสติปัญญาของบุคคลที่ยังคงได้รับความน่าเชื่อถือสำหรับการยืนยันและอธิบายถึงผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญาของมนุษย์ โดยในการแบ่งระดับความฉลาดทางสติปัญญาของมนุษย์นั้น สามารถแบ่งได้จากการประมวลผลคะแนน IQ Test ซึ่งมีช่วงของคะแนน ได้ดังนี้
ได้คะแนนจากแบบทดสอบ ต่ำกว่า 70 ปัญญาอ่อน (mental retardation)
ได้คะแนนจากแบบทดสอบ 70 -79 คาบเส้นปัญญาอ่อน (borderline mentalretardation)
ได้คะแนนจากแบบทดสอบ 80 -89 ต่ำกว่าปกติ (low average)
ได้คะแนนจากแบบทดสอบ 90 – 109 ฉลาดปานกลาง หรือระดับปกติ (average)
ได้คะแนนจากแบบทดสอบ 110 – 119 ฉลาดกว่าระดับปกติ (higher average)
ได้คะแนนจากแบบทดสอบ 120 – 139 ฉลาดมาก (superior)
ได้คะแนนจากแบบทดสอบ 140 ขึ้นไป อัจฉริยะ ฉลาดมากที่สุด (very superior)
ค่าคะแนนจากการวัด IQ นั้นมีความน่าเชื่อถืออย่างมาก และได้ถูกนำมาใช้อ้างอิงอย่างมากมายในเรื่องของการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญาของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการศึกษาเพิ่มเติม ก็พบว่า IQ นั้น กลับไม่ใช่ตัวแปรเพียงอย่างเดียวที่แสดงถึงความฉลาดของมนุษย์อย่างที่เข้าใจ เพราะความฉลาดหลายอย่างของมนุษย์นั้นไม่อาจวัดได้ด้วยการวัด IQ ซึ่งจากข้อเท็จจริงนี้เอง ทำให้เกิดแนวคิดการวัดความฉลาดในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆ แนวคิดนั้น เรื่องของ EQ นับเป็นความฉลาดอีกด้านที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด
EQ (Emotional Quotient) หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากงานวิจัยที่มองว่า IQ เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่อาจทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีและมีความสุขได้ ซึ่งทักษะในความเข้าใจและการควบคุมอารมณ์ตัวเองนั้น นับเป็นตัวแปรอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญด้วยเช่นเดียวกัน โดย EQ นั้น มี 5 องค์ประกอบใหญ่ที่ต้องพิจารณาดังนี้
1. การตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) เป็นความสามารถในการที่จะรับรู้ความรู้สึกตัวเอง สามารถประเมินตนเองได้ รู้จุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง
2. การบริหารจัดการกับอารมณ์ตนเอง (managing emotion) เป็นความสามารถที่จะจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์
3. การจูงใจตนเอง (motivationone-self) มีความสามารถในการสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง
4. การรู้จักสังเกตความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) หมายถึง ความสามารถที่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เห็นอกเห็นผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา
5. การดำเนินการด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น (handing relationships) มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
ทั้ง IQ และ EQ นับเป็นการวัดความฉลาดของมนุษย์ที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย และเป็นผลที่เกิดจากการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน ทำให้ในการวัดสองส่วนนี้ เป็นสิ่งที่สามารถอ้างอิงได้ แต่อย่างไรก็ดี ได้มีการพิจารณาการวัดความฉลาดของมนุษย์ในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นหลาย ๆ แนวทางในการวัดความฉลาด การวัดความฉลาดทางด้านจริยธรรม MQ (Moral Quotient) คือการวัดที่ได้รับการกล่าวถึงค่อนข้างมาก
MQ (Moral Quotient) คือ ความฉลาดทางจริยธรรม หรือ ระดับสติปัญญาทางด้านศีลธรรม เกิดจากแนวคิดของ ดร.โรเบิร์ต โคลส์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด ที่แยกเรื่องของศีลธรรม ออกจาก EQ และ IQ เพราะมองว่า เรื่องของศีลธรรมนั้นเป็นผลมาจากการสั่งสมและขัดเกลา ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิดและไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงเป็นความสามารถที่ต้องเกิดจาการฝึกฝน การอบรมสั่งสอน และสภาพแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมา ซึ่งการพัฒนา MQ นั้นต้องอาศัยปัจจัย 3 ประการ อันได้แก่
1. การสอนศีลธรรมโดยตรงให้กับเด็ก
2. การถ่ายทอดทางศีลธรรมจากผู้ใหญ่ให้กับเด็ก
3. การให้ความรักและการสร้างวินัยให้กับเด็ก
จะเห็นได้ทั้ง IQ EQ และ MQ นั้น ต่างแสดงให้เห็นความฉลาดมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านของทักษะการใช้สติปัญญา ด้านของการควบคุมอารมณ์ และด้านของการมีจริยธรรมและคุณธรรม ซึ่งเมื่อเอาการวัดความฉลาดทั้งสามด้านนี้ มาพิจารณาร่วมกันแล้ว จะเห็นได้ว่าทั้งสามส่วนนี้จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกันถึงจะทำให้บุคคลนั้นใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ การขาดด้านใดด้านหนึ่งไป อาจส่งผลให้บุคคล ไม่ประสบความสำเร็จหรืออาจต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการดำเนินชีวิตได้ เช่น บางคนที่มี IQ สูง EQ สูง แต่ MQ ต่ำ เขาเหล่านั้นจะเป็นคนที่ฉลาดแกมโกง คิดดีแต่คิดถึงแต่ประโยชน์ของตัวเองโดยไม่สนความเดือดร้อนของคนอื่น หรือบางคนที่มี IQ ต่ำ EQ ต่ำ MQ สูง ก็การจะเป็นคนที่โดนชักจูงได้ง่าย เพราะขาดความรู้ จิตใจอ่อนไหว เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร