ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์บางอย่างของนักเรียน เช่น การพูดคุยกันเสียงดัง การกลั่นแกล้งหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน มักเป็นสิ่งที่น่าปวดหัวสำหรับครูผู้สอน เพราะเป็นพฤติกรรมที่รบกวนชั้นเรียนระหว่างการเรียนรู้ ทำให้ตัวนักเรียน รวมถึงนักเรียนคนอื่น ๆ ต่างก็ไม่มีสมาธิในการเรียน ซึ่งส่งผลให้การสอนล้มเหลว และตามมาซึ่งผลลัพธ์ทางการเรียนที่ตกต่ำของนักเรียน ด้วยเหตุนี้เอง ครูผู้สอนจึงจำเป็นที่จะต้องจับตาดูพฤติกรรมที่รบกวนดังกล่าว และหาวิธีหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนคนอื่นในห้องเรียน ซึ่งหนึ่งในวิธีที่น่าสนใจและน่านำไปประยุกต์คือ เทคนิคที่เรียกว่า Turn-A-Card
Turn-A-Card เป็นเทคนิคจัดการพฤติกรรมนักเรียนอย่างหนึ่งที่ครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาในต่างประเทศมักนิยมใช้ เพื่อติดตามพฤติกรรมของนักเรียน และกระตุ้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ดี โดยเป็นวิธีที่สร้างสรรค์และไม่ละเมิดสิทธิเด็ก เพราะไม่สร้างให้เกิดความเจ็บปวดหรือสร้างบาดแผลทางใจให้กับนักเรียน
ให้ลองนึกภาพการแข่งขันฟุตบอล นอกจากผู้เล่นของทั้งสองฝ่ายที่กำลังแข่งขันฟุตบอลกัน จะมีอยู่หนึ่งคนที่จะคอยวิ่งอยู่ในสนามไปพร้อม ๆ กับผู้แข่งขัน นั่นคือกรรมการ ซึ่งจะคอยทำหน้าที่ดูแลการแข่งขันให้เป็นไปตามกติกาที่กำหนดไว้ โดยในการทำหน้าที่ของกรรมการนั้น จะมีการ์ดสีเหลืองและสีแดง เอาไว้แสดงเมื่อนักกีฬาแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อกรรมการโชว์การ์ดสีเหลืองให้นักกีฬา นั่นหมายความว่าเป็นการเตือนนักกีฬาคนนั้นว่ากำลังแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมรุนแรงและไม่ควรที่จะแสดงพฤติกรรมในลักษณะนั้นอีก และเมื่อกรรมการโชว์การ์ดสีเหลืองให้กับนักกีฬาคนนั้นซ้ำอีกครั้ง นั่นหมายความว่า เขาต้องได้การ์ดสีแดง ซึ่งมีความหมายว่า นักกีฬาคนนั้นต้องออกจากการแข่งขันนั่นเอง ซึ่งรูปแบบนี้เองที่นำมาสู่เทคนิค Turn-A-Card
1. การ์ดสีเขียว เป็นการ์ดปกติ คือแสดงให้นักเรียนเห็นถึงความยอดเยี่ยม ในการแสดงพฤติกรรมที่เป็นไปตามกฎได้ตลอดทั้งวัน
2. การ์ดสีเหลือง เป็นการ์ดเตือน ที่แสดงให้นักเรียนรู้ว่าตอนนี้เขากำลังละเมิดกฎ ขัดคำสั่ง หรือรบกวนชั้นเรียนอยู่
3. การ์ดสีส้ม เป็นการ์ดเตือนครั้งที่สอง ที่แสดงให้นักเรียนรู้ว่าเขายังคงแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและยังไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ
4. การ์ดสีแดง เป็นการ์ดลงโทษ ที่แสดงให้นักเรียนรู้ว่าเขาต้องรับผลจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น ซึ่งอาจจะเป็นการให้ออกไปนอกชั้นเรียน หรือติดต่อผู้ปกครองให้มารับทราบพฤติกรรม โดยเป็นไปตามที่ตกลงกันระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน
การใช้ Turn-A-Card เพื่อปรับพฤติกรรมนักเรียน เราจะเริ่มจากการแจกการ์ดสีเขียวให้นักเรียนทุกคน ถ้านักเรียนแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมตลอดทั้งวัน เขาจะยังคงถือการ์ดสีเขียว หากนักเรียนแสดงพฤติกรรมรบกวนชั้นเรียน เขาจะต้องแลกการ์ดสีเขียวกับการ์ดสีเหลือง ซึ่งแสดงว่าเขากำลังถูกเตือน และถ้านักเรียนยังคงแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีกเป็นครั้งที่สอง เขาจะต้องแลกการ์ดสีเหลืองกับการ์ดส้มที่แสดงถึงการเตือนครั้งที่สอง และถ้านักเรียนยังคงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีกเป็นครั้งที่สาม เขาก็ต้องแลกการ์ดสีส้ม เป็นการ์ดสีแดง ซึ่งหมายถึงการลงโทษตามกติกาที่ได้กำหนดร่วมกันระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน
Turn-A-Card จะดำเนินไปแบบวันต่อวัน หมายถึง แต่ละวันนักเรียนทุกคนจะเริ่มต้นด้วยการ์ดสีเขียวเสมอ แม้ว่าวันก่อนเขาอาจจะถูกเตือนด้วยการ์ดสีเหลือง หรือ สีส้ม หรือแม้แต่อาจโดนลงโทษจากการ์ดสีแดง แต่เมื่อเริ่มต้นวันใหม่ ทุกอย่างจะเริ่มต้นใหม่เสมอ
กิจกรรมนี้ช่วยให้ครูผู้สอนทราบถึงความถี่ในการแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนแต่ละคน และจะมีประโยชน์อย่างมาก ถ้าครูผู้สอนใช้ช่วงเวลาที่แลกการ์ดเป็นโอกาสในการสั่งสอนนักเรียนให้แสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง สำหรับนักเรียนที่ได้การ์ดเตือนหรือการ์ดลงโทษจำนวนมาก ครูผู้สอนอาจจำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมและวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขพฤติกรรมของนักเรียนคนนั้นอย่างเหมาะสม และในขณะเดียวกันสำหรับนักเรียนที่ยังคงถือการ์ดสีเขียวได้ตลอดทั้งสัปดาห์ ก็ควรจะได้รับรางวัลเช่น การได้เลือกเล่นเกมโปรดสำหรับกลุ่มที่ได้รับการ์ดสีเขียว เป็นต้น
การจัดการพฤติกรรมแบบ Turn-A-Card นั้นนับเป็นเทคนิคที่ดีและเอื้อประโยชน์ต่อการสื่อสารระหว่างครูผู้สอนกับผู้ปกครองอย่างมาก โดยในแต่ละวันนักเรียนควรบันทึกความก้าวหน้าในสมุดบันทึกและนำกลับบ้านเพื่อให้ผู้ปกครองดู ซึ่งผู้ปกครองอาจให้นักเรียนวาดดาวหรือกากากบาทบนปฏิทินด้วยสีเดียวกับการ์ดสีที่นักเรียนได้รับ ซึ่งในตอนท้ายของสัปดาห์ให้ผู้ปกครองเซ็นปฏิทินเพื่อให้คุณรู้ว่าพวกเขามีโอกาสตรวจสอบความก้าวหน้าของนักเรียนในความดูแลของเขาได้อีกด้วย
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร