Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีรับมือกับนักเรียนที่มีทัศนคติเชิงลบ

Posted By Plook Teacher | 27 ธ.ค. 62
16,731 Views

  Favorite

ทัศนคติ หมายถึง ความรู้สึก ความคิดหรือความเชื่อ ที่มีผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมทั้งทางบวกและทางลบของแต่ละบุคคล ซึ่งมาจากประสบการณ์การรับรู้และมีความเข้าใจต่อสิ่งเร้าที่ทั้งดีและไม่ดีแตกต่างกัน ซึ่งทัศนคตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง มีความคงทน และ เป็นการประเมินค่าว่าดีหรือไม่ดีต่อความสัมพันธ์ทั้งกับบุคคล สิ่งของ หรือความคิดต่างๆ

 

        ทัศนคติเป็นโครงสร้างที่แสดงให้เห็นถึงบุคลิกภาพที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ

          1. องค์ประกอบด้านปัญญา (Cognitive Component) คือ ความเชื่อ ความรู้ และความคิดเห็นต่างๆ

          2. องค์ประกอบด้านอารมณ์ ความรู้สึก (Affective Component) คือ ความรู้สึกชอบ - ไม่ชอบ หรือท่าทางที่ดี – ไม่ดี

          3. องค์ประกอบด้านพฤติกรรม (Behavioral Component) หมายถึง แนวโน้มหรือความพร้อมที่บุคคลจะปฏิบัติ

 

        คนเราสามารถแบ่งประเภทของทัศนคติได้จากการตีความพฤติกรรมที่แสดงออกมาของแต่ละบุคคล โดยสามารถแบ่งทัศนคติออกเป็น 3 ประเภท คือ

          1. ทัศนคติในทางบวก (Positive Attitude) คือ การที่บุคคลแสดงออกทางพฤติกรรมต่อสิ่งเร้าสิ่งแวดล้อมในทางที่ดี เห็นด้วย ยอมรับ และพึงพอใจ

          2. ทัศนคติในทางลบ (Negative Attitude) คือ การที่บุคคลแสดงออกทางพฤติกรรมต่อสิ่งเร้าสิ่งแวดล้อมในทางที่ไม่ดี ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับ และไม่พึงพอใจ

          3. การไม่แสดงออกทางทัศนคติ (No Attitude) คือ การที่บุคคลไม่มีความรู้สึกและไม่มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น เนื่องจากไม่สนใจและไม่มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งเร้านั้น

 

        ทัศนคติทางลบ หรือ เชิงลบ นั้น เกิดจากการที่บุคคลมีประสบการณ์ในการรับรู้และเข้าใจต่อสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์นั้นๆอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความความรู้สึกที่ไม่ดี ไม่เห็นด้วย และไม่พึงพอใจ กับสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์เหล่านั้น และเป็นผลทำให้เกิดรู้สึกเช่นนั้นกับสิ่งเร้าและเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันตามไปด้วย ซึ่งการมีทัศนคติเชิงลบนี้ จะเป็นสิ่งที่บ่มเพาะให้เกิดการกระทำเชิงลบต่อเหตุการณ์และสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อตัวเองตามมา

 

        นักเรียนที่มีทัศนคติเชิงลบ โดยเฉพาะกับการเรียนนั้น นับเป็นปัญหาใหญ่มากในระบบการศึกษา เพราะทัศนคติที่ไม่ดี จะส่งผลให้นักเรียนไม่อยากเรียน รู้สึกไม่ดีต่อการเรียน ทำให้เกิดพฤติกรรมก่อกวนในชั้นเรียน หนีเรียน จนไปถึงการปฏิเสธการมาโรงเรียนได้ ครูผู้สอนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับพฤติกรรมนักเรียน เพื่อให้มีทัศนคติที่ดีขึ้น และทำให้ทัศนคติทางลบนั้นแพร่กระจายไปสู่นักเรียนคนอื่นๆ

ซึ่งวิธีรับมือนักเรียนที่มีทัศนคตินั้น มีดังนี้

 

          1. เป็นผู้ฟังที่ดี

          การที่ครูผู้สอนรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของนักเรียน อย่างเข้าใจและเป็นกลาง โดยให้ความสำคัญกับการฟังมากกว่าที่จะสั่งสอนอบรม จะทำให้ครูผู้สอนรรับรู้ถึงปัญหาของนักเรียน และต้นตอของทัศนคติทางลบ ซึ่งการที่ครูผู้สอนเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี จะช่วยให้นักเรียนปลดปล่อยความรู้สึกอัดอั้นกดดัน และมีแนวโน้มจะฟังคำแนะนำของเรามากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติอย่างเหมาะสม

          2. ไม่ยัดเยียดความคิด

          ต้องเข้าใจก่อนว่าทัศนคติของแต่ละบุคคลนั้น เกิดจากประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับมาไม่เหมือนกัน ทัศนคติแม้จะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ ก็ไม่ได้หมายความว่า ทัศนคติเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด ดังนั้นครูผู้สอนจึงไม่ควรยัดเยียดความคิดของตัวเองให้นักเรียน และไม่ควรดูแคลนความคิดของเขา

          3. สอนให้นักเรียนแยกส่วนสถานการณ์

          บางทีการมองแค่ภาพรวมของเรื่องราวหรือสถานการณ์ต่างๆ อาจส่งผลให้เราเกิดทัศนคติทางลบต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไม่ถูกต้องได้ เพราะในการมองภาพรวมอาจทำให้เราหลงลืมบางส่วนที่เป็นบวกได้ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักมองปัญหาหรือสถานการณ์ ทั้งภาพรวมและแยกส่วน เพื่อให้มีความเข้าใจต่อปัญหาและสถานการณ์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

          4. รู้จักรุกรู้จักรับ

          การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มีทัศนคติทางลบนั้น นับว่าเป็นเรื่องชวนปวดหัวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่มีทัศนคติที่ตรงกันข้ามกับตัวเอง เพราะนอกจากจะไม่รับฟังสิ่งที่เราเสนอแนะหรืออธิบายแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความขุ่นเคืองทางอารมณ์จนนำมาสู่การทะเลาะเบาะแว้งได้อีกด้วย ดังนั้นในการรับมือผู้ที่มีทัศนคติทางลบนั้นจึงควรที่จะรู้ว่าเวลาไหนพูดคุยสนทนาได้และเวลาไหนควรหลีกเลี่ยง

          5. อย่าปล่อยให้แพร่ระบาด

        ทัศนคติเชิงลบต่อการเรียนการสอนนั้น ถ้าครูผู้สอนไม่เข้าไปพูดคุยหรือจัดการอย่างเหมาะสม แล้วปล่อยให้ความคิดแพร่ระบาดไปสู่นักเรียนคนอื่นในชั้นเรียน ก็จะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อระบบการศึกษาในโรงเรียน ดังนั้นจึงควรดำเนินการบางอย่างก่อนที่จะสายเกินไป

 

        ทัศนคติเชิงลบต่อการเรียน นับเป็นศัตรูตัวฉกาจต่อระบบการศึกษา เพราะนำไปสู่ การไม่เชื่อมั่น ไม่ปฏิบัติตาม และเกลียดชังการเรียน ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรใส่ใจและให้ความสำคัญกับนักเรียนที่มีทัศนคติเชิงลบ เพื่อเปลี่ยนแปลงให้เขามองในมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น และไม่ให้ทัศนคติเชิงลบนั้นส่งผลเสียต่อตัวนักเรียนและแพร่หลายไปสู่นักเรียนคนอื่นในภายหลัง

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow